นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในช่วงนี้มีความเข้มงวดระมัดระวังมากขึ้นตามสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น ดังจะเห็นได้จากตัวเลขสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และยอดผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การปล่อยกู้ของธนาคารจึงต้องทำอย่างระมัดระวัง ซึ่งตรงนี้การเร่งปรับโครงสร้างหนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะช่วยให้กลุ่มเปราะบางสามารถกลับมาเป็นลูกค้าปกติได้ ซึ่งธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งกำลังทำในเรื่องนี้กันอย่างเต็มที่อยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การอัดฉีดสภาพคล่องจะต้องทำในกลุ่มที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับผู้ให้กู้และเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงให้เป็นไปตามมาตรการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ขณะเดียวกัน จะต้องเร่งส่งเสริมให้กลุ่มที่อยู่นอกระบบเข้ามาสู่ระบบ เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้ ไม่ว่าจะผ่านช่องทางการยื่นชำระภาษี หรือการใช้ข้อมูลทางเลือกในการพิจารณาสินเชื่อ เช่น การจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ซึ่งธนาคารกรุงไทยมีแผนร่วมกับพันธมิตรในการยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank เช่นกัน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทำโมเดล และคาดว่าจะสามารถยืนได้ทันตามกำหนด 19 กันยายน 2567 ตามที่ ธปท.กำหนดไว้
"สถานการณ์ตอนนี้อย่างที่เห็นคือ อัตราการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลสูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ ทำให้แบงก์ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ไปพร้อมๆ กับการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งดูแลในทุกกลุ่มธุรกิจ ส่วนกลุ่มไหนมีความเปราะบางมากน้อยอย่างไร เป็นไปตามข้อมูลของเครดิต บูโรที่ออกมา ส่วนกลุ่มก่อสร้าง-อสังหาริมทรัพย์นั้นถือเป็นหนึ่งเสาหลักทางเศรษฐกิจของไทยเพราะมีความเชื่อมโยงไปถึงการจ้างงานอื่นๆ จึงต้องมองว่า การชะลอหรือชะงักไปนั้นมาจากสาเหตุของอะไร งบประมาณที่ล่าช้าหรือไม่ เพราะฉะนั้นหากไตรมาส 3 เงินงบประมาณออกมาจะช่วยให้ดีขึ้น เป็นต้น"
ด้านความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) เพื่อบริหารหนี้ทั้ง NPL และ NPA นั้น นายผยง กล่าวว่า ในส่วนของธนาคารกรุงไทย พิจารณาแล้วว่าการบริหารจัดการเองจะเหมาะสมกว่าการจัดตั้ง AMC