กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนที่ทำเอานักลงทุนไทย ทั้งในตลาดคริปโต ตลาดหุ้น และบุคคลทั่วไป หันขวับมามอง พร้อมกับการตั้งคำถามมากมายว่า “เอาจริงดิ…...จะทำได้จริงเหรอ หรือ แค่เสือกระดาษ ที่เขียนขู่วัวให้กลัว หรือแค่วัวหายล้อมคอก” เพราะมาตรการที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำลังพยายามผลักดันให้ออกมาสู่การบังคับใช้งานจริงนั้น คือการตีกรอบนักลงทุนในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ภายในศูนย์ซื้อขายในประเทศเท่านั้น ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันปัญหาธุรกรรมอำพรางจากที่มาของเงินเทา เงินดำ อย่างที่ทราบกันดี ไม่ใช่แค่เพียงจากการแพร่ระบาดของกลุ่มมิจฉาชีพ ทั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สแกมเมอร์ หรือแม้แต่โรแมนซ์สแกม ที่นับวันจะยิ่งอาละวาดหลอกลวงประชาชน ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันพลาดท่าตกเป็นเหยื่อ หรือแม้กระทั่งนักลงทุนที่ไม่รู้เท่าทันกลโกงของแกงค์มิจฉาชีพเหล่านี้ ซึ่งมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนับรวมๆ แล้วต่อปีหลายหมื่นล้านบาท ยังมีกลุ่มนายทุนที่มีเบื้องหลังเบื้องลึก ที่ทำธุรกิจสีขาวบังหน้า แต่มีเครือข่ายธุรกิจสีเทาสีดำ และอาศัยช่องทางคริปโตฯในการฟอกเงินเทาดำที่ได้มาเหล่านั้นให้เป็นเงินที่บริสุทธิถูกกฏหมาย
การที่ ก.ล.ต.ล้อมกรอบนักลงทุนไม่ให้เทรดคริปโตในกระดานเทรดต่างประเทศนั้น ประเด็นหลักคือเพราะก่อนหน้านี้ ก.ล.ต. ได้เคยมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สำนักงาน ก.ล.ต. และ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ตั้งแต่สมัยนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เป็นเลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต. เนื่องจากช่วงนั้นเป็นช่วงกระแสร้อนแรงของคริปโตเคอร์เรนซีในประเทศไทย และถูกมองว่าเป็นศูนย์กลางแหล่งฟอกเงิน เพราะจากคุณสมบัติที่ทำให้มันมีลักษณะที่เหมาะสมกับการทำธุรกิจที่มีจุดเด่นที่ “การกระจายอำนาจ” เพราะคริปโตเคอร์เรนซีไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลหรือธนาคารกลางใดๆ ซึ่งสามารถที่อาศัยช่องโหว่ของข้อกฏหมาย และมักจะถูกนำมาอ้างด้วยวาทะกรรมว่า “เป็นข้อมูลธุรกรรมส่วนบุคคลที่มีความเป็นส่วนตัวสูง” ทำให้ถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการซุกซ่อนการทำธุรกิจที่ผิดกฎหมายได้ง่าย แต่ไม่ใช่ทุกครั้งที่คริปโตเคอร์เรนซีมีการใช้งานในการฟอกเงิน หรือการทำธุรกิจที่ไม่ถูกกฎหมาย หรือมีวัตถุประสงค์ที่กำหนดให้มีความลับของการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยการใช้งานคริปโตเคอร์เรนซีส่วนใหญ่ที่ยอดนิยมได้แก่ ได้แก่
1.Darknet Marketplaces: แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ใช้สำหรับซื้อขายสินค้าและบริการผิดกฎหมาย เช่น ยาเสพติด อาวุธ และข้อมูลที่ถูกขโมย
2.Exchange: แพลตฟอร์มที่ใช้สำหรับซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี
3.Wallets: โปรแกรมที่ใช้สำหรับเก็บคริปโตเคอร์เรนซี
4.Mixers: บริการที่ใช้สำหรับอำพรางหรือซ่อนที่มาของคริปโตเคอร์เรนซี
5.Automated Teller Machines (ATMs): เครื่องที่ใช้สำหรับถอนคริปโตเคอร์เรนซีเป็นเงินสด
ซึ่งจุดสำคัญอยู่ที่ "Mixers" ที่อนุญาตให้ผู้ใช้ซ่อน หรือ อำพรางตัวตนและการทำธุรกิจของตนเองจากทางเจ้าหน้าที่บนบล็อกเชนของบางสกุลเงินดิจิทัลที่มีการใช้งานปกติ และการตรวจสอบตามกฎหมาย ธนาคารกลาง และหน่วยงานความปลอดภัยราชการ ได้ดำเนินการกับการป้องกันฟอกเงินในฐานะผู้ระดมทุนและผู้เปิดบริการบัญชีให้แก่บริษัทเครือข่าย ทำให้การเฝ้าตรวจจับและการควบคุมด้านเทคโนโลยีกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในการป้องกันฟอกเงินในสกุลเงินดิจิทัลและเครือข่ายคริปโตเคอร์เรนซี
อย่างไรก็ตามแม้ว่าคริปโตเคอร์เรนซีจะมีคุณสมบัติที่ทำให้มันมีความเป็นอิสระและปกปิดมากขึ้นเมื่อเทียบกับการทำธุรกิจในธนาคารโดยทั่วไป แต่การใช้งานไม่ถูกกฎหมายของมันก็ทำให้เกิดปัญหาทางกฎหมายและจำเป็นต้องทำการตรวจสอบและควบคุมอย่างเคร่งครัด จึงไม่ต้องแปลกใจว่ามาตรการดังกล่าวส่วนลึกแล้ว อาจสร้างความไม่พอใจให้กับนักธุรกิจสีเทา หรือกลุ่มธุรกิจสีดำ เจ้าสัว แม้กระทั่งไฮโซเซเลปต่างๆ บริษัทจดทะเบียนต่างๆ ทั้งที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้น หรือนอกตลาดหุ้น หรือแม้กระทั้งกลุ่มคนมีสี ที่เข้าไปพัวพันกับธุรกิจสีเทา ทั้งแบบที่เป็นเจ้าของโดยตรง หุ้นส่วน หรือกินส่วนแบ่งค่าคุ้มครอง ซึ่งเบื้องหลังเบื้องลึกของวงจรการเงินสีเทาดำดังกล่าวนั้น ท้ายที่สุดแล้วจะถูกโยกเข้าไปสู่ตลาดมืดที่เป็นแหล่งซื้อขายคริปโตแบบผิดกฏหมาย ก่อนที่จะถูกฟอกขาวหรือซักล้างเงินสกปรกให้บริสุทธิ แล้วโอนกลับมาเป็นเงินที่ขาวสะอาดอีกครั้ง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่าทาง ก.ล.ต. ได้ผนึกกำลังในการร่วมมือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีความพยายามที่จะปิดกั้นช่องทางการเข้าถึงแพลตฟอร์มผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งเป็นการป้องกันมิให้มิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางในการนำทรัพย์สินจากการกระทำผิดไปฟอกเงิน ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในการประชุมวันที่ 19 เมษายน 2567 ได้มีมติให้ ก.ล.ต. นำส่งข้อมูลผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาตให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการปิดกั้นช่องทางการเข้าถึงแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการดังกล่าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งเป็นการป้องกันมิให้มิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางในการนำทรัพย์สินจากการกระทำผิดไปฟอกเงิน อันเป็นการแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ซึ่งสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทต่อปี และกำลังเป็นอาชญากรรมออนไลน์ที่กัดกินเศรษฐกิจแซงหน้าอาชญากรรมประเภทอื่นๆ
สำหรับขั้นตอนการดำเนินการหลังจากนี้ ก.ล.ต. จะส่งเรื่องให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดำเนินการตามกระบวนการที่เกี่ยวข้องและยื่นคำร้องต่อศาลต่อไป ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว ก.ล.ต. ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้บริการแพลตฟอร์ม เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีเวลาบริหารจัดการบัญชีก่อนที่จะไม่สามารถใช้บริการได้ ซึ่งการปิดกั้นแพลตฟอร์มที่ไม่ได้รับอนุญาตเป็นไปในทางเดียวกับต่างประเทศ เช่น อินเดีย และฟิลิปปินส์
โดยที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ให้บริการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาตและชักชวนให้มีการใช้บริการในประเทศไทย โดยกล่าวโทษต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ตามบทบาทหน้าที่ รวมถึงผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ เช่น กรณี Binance และ กรณีบริษัท Bybit Fintech Limited (Bybit)
นอกจากนี้ ก.ล.ต.ยังเพิ่มความเข้มงวดกับการป้องกันการโฆษณาธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย บังคับไม่ให้มานำเสนอแก่ผู้ลงทุน รวมถึงผู้จัดงานและกิจกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ ไม่ให้นำเสนอแก่ผู้ลงทุนภายในงาน ซึ่งเป็นการช่วยปกป้องผู้ลงทุน ก.ล.ต. จึงขอให้ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดังกล่าวเร่งถอนทรัพย์สินออกจากแพลตฟอร์มโดยเร็ว
กระดานเทรดต่างประเทศรู้…แต่หลับตาข้างเดียว?!
นักลงทุนหลายคนสงสัยว่า ถ้าการกระทำที่เข้าข่ายฟอกเงินเช่นนั้น กระดานเทรดต่างประเทศไม่รู้เหรอ?? แล้วถ้าหากกระดานเทรดนั้นรู้ ไม่คิดจะทำอะไรเลยบ้างเหรอ?! ในประเด็นนี้กระดานเทรดต่างประเทศคงไม่ออกมายอมรับ หรือปฏิเสธว่าไม่รู้ของแหล่งที่มาของแหล่งเงินสีเทาดังกล่าว ที่เอาเข้ามาฟอกขาวในกระดาน ซึ่งถ้าหากมองไปในมุมเชิง “นายทุนทำธุรกิจ” ที่จะหลับตาข้างเดียวโดยไม่ต้องไปสนใจรับรู้ว่าแหล่งที่มาของเงินนั้นมาจากไหน ขอแค่เพียงผู้เข้ามาเปิดบัญชีซื้อขายคริปโต จ่ายค่าธรรมเนียมในการขอใช้พื้นที่แลกเปลี่ยนซื้อขายก็พอแล้ว ส่วนที่มาของเงินที่แปรสภาพเอาเข้ามาฟอกขาวนั้น กระดานเทรดมองว่า “ไม่ใช่หน้าที่” ในการที่กระดานเทรดจะมาตรวจสอบ ซึ่งถ้าหากหน่วยงานรัฐสงสัย ก็ให้ไปหาข้อมูลหลักฐานมายืนยันการเอาผิด…..แต่ในความเป็นจริง กว่าจะถึงตรงจุดนั้น ก้อนเงินดังกล่าวนั้น ก็ถูกโยกย้ายไปไหนต่อไหนแล้ว จนบางทีไม่สามารถหาหลักฐานดำเนินคดีผู้กระทำผิดได้ เพราะข้อจำกัดในเรื่องช่องโหว่ของข้อกฏหมายระหว่างประเทศ เหมือนอย่างกรณีของ ไบแนนซ์ ที่มีการชักชวนให้ประชาชนและผู้ลงทุนไทยเข้าใช้บริการไม่ว่าจะทางเว็บไซต์ของ ไบแนนซ์ และเพจเฟซบุ๊ก Binance Thai Community ซึ่งย้อนไปในอดีตที่ สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศ ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2564 โดย ก.ล.ต. ได้มีหนังสือไปยัง ไบแนนซ์ ให้ชี้แจงข้อมูลต่อ ก.ล.ต. แต่เหมือนว่าทาง ไบแนนซ์เองก็เหมือนจะไม่เห็นสำนักงาน ก.ล.ต. ไทย อยู่ในสายตา และไม่ได้ชี้แจงเหตุข้อซักถามภายในระยะเวลาที่กำหนด
ซึ่งจากการกระทำของไบแนนซ์ ข้างต้น ที่มีความผิดเข้าข่ายเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 26 ซึ่งเป็นความผิดและมีโทษตามมาตรา 66 แห่ง พ.ร.ก. ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปีถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 บาทถึง 500,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน โดย ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษไบแนนซ์ ต่อ บก.ปอศ. และประสานงานเพื่อให้สอบสวนและดำเนินคดีต่อไป และทำให้ สำนักงาน ก.ล.ต. ไทยประกาศแบน ไบแนนซ์จนถึงทุกวันนี้
ส่วนกรณีของผู้ให้บริการเว็บไซต์ Bybit.com ซึ่งได้ให้บริการจัดระบบการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกให้เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเก็บค่าธรรมเนียมร้อยละ 0.1 ของมูลค่าธุรกรรมที่ลูกค้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และมีการชักชวนและประชาสัมพันธ์เป็นภาษาไทย ให้มาใช้บริการของ Bybit ผ่านเว็บไซต์ Bybit เพจเฟซบุ๊กชื่อ “Bybit Thai” Telegram ชื่อ “Bybit ประกาศภาษาไทย” และ Instagram ชื่อ “bybitthailand” รวมทั้งปรากฏว่า Bybit ได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุนการประชาสัมพันธ์การให้บริการและกิจกรรมส่งเสริมการขายจากอินฟูลฯผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย เพื่อทำให้ Bybit เป็นที่รู้จักและมีบุคคลสนใจไปใช้บริการ Bybit มากขึ้น ซึ่งการกระทำของ Bybit เข้าข่ายประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ซึ่ง Bybit ดำเนินการโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนมาตรา 26 อันมีความผิดและระวางโทษตามมาตรา 66 แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ
ก.ล.ต. นานาชาติ รวมตัวกันแบนกระดานเทรดข้ามชาติ และออกกฏระเบียบให้สอดคล้องกัน ป้องกันปัญหาฟอกเงิน
ไบแนนซ์ ในฐานะที่เป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแพล็ตฟอร์มออนไลน์อันดับ 1 ของโลก ด้วยยอดจำนวนบัญชีผู้ใช้ และมูลค่าธุรกรรมการเทรดรวม แต่กลับถูกหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงิน ประกาศแบนในหลายประเทศเช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย จีน อินเดีย เยอรมนี โปแลนด์ ญี่ปุ่น ไทย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร เนื่องความกังวลด้านกฎระเบียบ และความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอร์เรนซี โดยเฉพาะการฟอกเงิน การระดมทุนผิดกฎหมาย และการคุ้มครองผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีความกังวลด้านความปลอดภัย โดย สำนักงาน ก.ล.ต. ในหลายประเทศมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซีอื่นๆทั้งการโจมตีทางไซเบอร์ และการสูญเสียเงินทุน เพราะความเสี่ยงที่เกิดขึ้น โดยประเด็นหลักที่ผ่านมาในอดีต ซึ่งสะท้อนธรรมาภิบาลของผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดีคือ ทางผู้ให้บริการแพล็ตฟอร์มส่วนใหญ่ “มักไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น” โดยให้นักลงทุนก้มหน้ารับชะตากรรม ยอมรับสภาพความเสียหายจากความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเอง นอกจากนี้ยังมีความกังวลด้านคุ้มครองผู้บริโภค เนื่องจาก ก.ล.ต. หลายประเทศมองว่า ความเสี่ยงที่นักลงทุนรายย่อยอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยง เช่น ความผันผวนของราคา และการขาดความโปร่งใสของผู้ให้บริการ เพราะพฤติกรรมที่แสดงออกมาในรูปแบบของ “นายทุนคริปโต” เพราะไม่ว่าตลาดจะขึ้นหรือลง ผู้ให้บริการย่อมไม่เสียผลประโยชน์ที่ตนเองจะต้องได้รับอยู่แล้ว แต่นักลงทุนเองอาจต้องรับบทเป็น “แพะ” ที่กลายเป็นผู้ที่ต้องรับสภาพความเสียหายจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเอง
เหตุผลที่ ก.ล.ต. ล้อมคอก ควบคุมและจำกัดการลงทุนในกระดานเทรดคริปโตต่างประเทศ
การเตรียมออกมาตรการควบคุม และจำกัดการลงทุนในกระดานเทรดคริปโตต่างประเทศ ของหน่วยงานกำกับดูแล แม้ว่าจะถูกมองว่าเป็น “มาตรการที่มีเจตนาร้ายต่อความเป็นอิสระของการลงทุนในตลาดทุนเสรี” แต่ก็มีวัตถุประสงค์ในการปกป้องผู้ลงทุนและรักษาความเชื่อถือในฐานะของหน่วยงานกำกับดูแลภาคการลงทุนในระยะยาวจากอำนาจและหน้าที่ตามที่กฏหมายกำหนด แม้ว่าที่ผ่านมา สำนักงาน ก.ล.ต. จะถูกนักลงทุนมองว่า เป็นเพียงเสือกระดาษ และเน้นการทำงานที่เน้นส่งเสริมภาพลักษณ์ ที่มีเพียงแค่ความเข้มข้น (ในการออกมาตรการและหลักเกณฑ์ต่างๆ) แต่ไร้ความขลัง (ในการบังคับใช้กฏหมายอย่างเด็ดขาด) และจากความเงื้อง่าราคาแพงอืดอาดล่าช้าในรูปแบบขนบราชการ ที่จะลงดาบผู้กระทำผิดต้องมีหลักฐานแน่นหนาก่อน ที่อาจไม่สอดรับกับยุคสมัย ที่ทำให้ผู้กระทำผิดรอดตัวหรือยื้อเวลาเพื่อลดทอนบทลงโทษให้เบาบางลง
ในทางกลับกันบทบาทระหว่างหน่วยงานกำกับดูแล กับนักลงทุนผู้เสียหาย ทำให้นักลงทุนที่เสียหายส่วนใหญ่มักไม่ค่อยได้รับการเยียวยาอย่างรวดเร็วตามที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ผู้ที่สร้างความเสียหายต่อนักลงทุน มักจะถูกมองว่าได้รับโทษไม่สมกับความผิดที่ก่อ หรือกระบวนการสืบสวนที่ยาวนานทำให้คดีความเลือนหายไปกับการเวลา เปลี่ยนชื่อนามสกุลและธุรกิจ ถือหุ้นหลายช่วงหลายต่อ จัดหานอมินีมาเป็นหุ่นเชิดให้สามารถชักใยอยู่เบื้องหลังได้ ก็ทำให้คนลืมไปได้แล้ว จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายๆคดี หลายๆครั้ง และหลายปีติดต่อกัน สะท้อนภาพมุมมองความเห็นส่วนใหญ่ของนักลงทุนที่ได้รับความเสียหาย ต่างก็สรุปความเห็นตรงกันว่า ผู้อยู่เบื้องหลังธุรกิจเหล่านั้น “สุดท้ายล้มบนฟูก” โดยแทบไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆ ไม่ต้องรับโทษทัณฑ์ เหมือนกรณี Zipmex ที่เกิดขึ้นกับนักลงทุนคริปโต หรือ หุ้น STARK หรือหุ้น MORE ที่นักลงทุนต้องร้องตะโกนจนเสียงไปถึงนายเศรษฐา ทวีสิน เพี่อกำชับเร่งรัดการทำงาน ซึ่งกลายเป็นการพลิกภาพจำที่เคยเห็นการทำงานของหน่วยงานกำกับดูแล ที่ทำงานล่าช้า (บางกรณียาวนานหลายปี) ให้รวดเร็วเป็นจรวดขึ้นมาภายในเวลาไม่กี่เดือน
นอกจากนี้การที่สำนักงาน ก.ล.ต. ออกมาเทคแอคชั่น ที่แม้โดยทั่วไปอาจมองว่าช้าไปหรือเปล่า แต่ถ้ามองในระยะยาว ถือว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแล ที่นอกจากจะกำกับดูแล ปราบปรามการกระทำผิดในตลาดทุนแล้ว การป้องกันหรือป้องปรามความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ก็เป็นหนึ่งที่จำเป็นและสำคัญมากกว่า เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นบางทีอาจไม่สามารถแก้ไขให้กลับมาปกติเหมือนเดิมได้ แต่การออกมาตรการป้องกันความเสียหายไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะเกิดขึ้น อาจดีกว่าต้องมาแก้ปัญหาในภายหลัง สอดคล้องบริบทรูปแบบการทำงานสไตล์ไทยที่คุ้นเคยกันดีว่า “วัวหายล้อมคอก” ที่เสียหายโดยเปล่าประโยชน์ แต่เปลี่ยนมาเป็น “ล้อมคอกก่อนวัวหาย” เพื่อจำกัดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น จากหนักเป็นเบา จากมากเป็นน้อย ไม่ดีกว่าหรือ.