xs
xsm
sm
md
lg

(รับชมคลิป) ประเมินดีล MGI ซื้อหุ้น SABUY ธุรกิจสดใส-สวนทางราคาหุ้นไม่แจ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส่องดีล “มิสแกรนด์ฯ” ซื้อหุ้น “สบาย เทคโนโลยี” เพื่อหวังขยายช่องทางจำหน่าย win-win ทางธุรกิจแต่ไม่ win-win ทางราคาหุ้น หลัง SABUY ร่วงฟลอร์ต่อเนื่อง งมหาเหตุผลพบบางส่วนโบ้ย “ณวัฒน์” ทิ้งเก้าอี้กรรมการที่ได้มาจากการซื้อหุ้น ขณะที่อีกมุมเชื่อมาจากภาระชำระคืนหุ้นกู้ที่อาจเกิดปัญหา แต่ที่แน่ๆ “ชูเกียรติ” ได้กำไร

ราคาหุ้น SABUY หรือบริษัท สบาย เทคโนโลยี ร่วงฟลอร์ไม่เลิก ล่าสุด ปิดตลาดวันศุกร์ที่ 5 เม.ย.67 อยู่ที่ 2.16 บาท/หุ้น ลดลงจากวันก่อนหน้า 0.10 บาท/หุ้น หรือ 4.42% ภาพรวมราคาหุ้น ณ ปัจจุบันน่าจะเรียกได้ว่า “กู่ไม่กลับจากขาลง” จากหุ้นที่เคยพุ่งทะยานขึ้นไปสร้างสถิติสูงถึงระดับ 36.75 บาท เมื่อช่วง ม.ค.65 มาตอนนี้ราคาหุ้นต่ำกว่า IPO ที่ระดับ 2.50 บาท/หุ้น ลงมา 0.34 บาท/หุ้น หรือ 13.60%

ต้อมยอมรับว่ากระแสที่จุดพลุให้ SABUY กลับมาอยู่ในสปอตไลต์ในช่วงเวลานี้หนีไม่พ้นการขยายธุรกิจของบริษัท มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (MGI) ด้วยการร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ SABUY โดยซื้อหุ้นจาก “ชูเกียรติ รุจนพรพจี” จำนวน 10 ล้านหุ้น หรือสัดส่วน 1.7% ของทุนจดทะเบียน ในราคาหุ้นละ 4.50 บาท เพื่อหวังให้การ Synergy ระหว่างบริษัทจะช่วยเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจให้กันและกันได้

Synergy ยังไม่ช่วยให้หุ้นปัง!

และเมื่อมีการ Synergy เกิดขึ้นน่าจะทำให้ทิศทางธุรกิจทั้ง 2 บริษัทดีขึ้นจนสะท้อนออกมาในรูปแบบของราคาหุ้น แต่ทุกอย่างเหมือนดูไม่เป็นเช่นนั้น หรือไม่เป็นไปตามแผนที่คาดหวังเอาไว้ นั่นเพราะราคาหุ้น SABUY ณ เวลานี้ไม่แตกต่างไปจากผู้ถือหุ้นใหม่ที่เข้ามาร่วมลงทุนอย่าง MGI ซึ่งราคาหุ้นพุ่งขึ้นต่อเนื่องอย่างกับจุดพุลในช่วงที่ผ่านมา แต่ในเวลานี้ราคาอยู่ในทิศทางขาลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ล่าสุด มีรายงานว่า ผู้บริหาร MGI เดินหน้าการตลาดของผลิตภัณฑ์อย่างเต็มที่ ด้วยการส่งตัวแม่ในด้านการโฆษณาของบริษัทอย่าง "อิงฟ้า วราหะ" เข้ามาเป็นพรีเซนต์เตอร์ในการจำหน่าย "น้ำพริกปลาสลิดนางงาม" ผ่านตู้ Sabuy Vending Plus 13,000 ตู้ทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายและโอกาสใหม่ในด้าน Digital & Technology Synergy

โดยมีรายงานข่าวว่า หลัง MGI เข้าถือหุ้น SABUY 1.7% เพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ พร้อมเซ็นสัญญากับ SABUY พบว่า "วิรัช มรกตกาล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม SABUY ได้ซื้อน้ำพริกนางงามเริ่มต้น 100,000 กระปุก ปูพรมวางจำหน่ายในตู้พร้อมรับรู้รายได้ทันที

SET เตือนซื้อ SABUY ต้องรอบคอบ

อย่างไรก็ตาม ในด้านของราคาหุ้น SABUY เมื่อเร็วๆ นี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ส่งหนังสือให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าว เนื่องจากสภาพการซื้อขายปรับตัวลงมากโดยเฉพาะวันที่ 4 เม.ย.ราคาลดลงไปที่ Floor จนไม่มีคำเสนอซื้อ (Bid) เหลืออยู่เลย 

ขณะเดียวกัน ตั้งแต่เปิดตลาดมีผู้ขายมากกระจุกในบุคคลบางราย โดยพบว่าผู้ขายมากถึง 85% ของปริมาณการซื้อขายรวม เป็นการขายของบุคคลที่ถูก Force Sell จากราคาที่ลดลงมากในวันก่อนหน้า ท่ามกลางที่ SABUY ได้ชี้แจงข้อมูลว่าไม่มีพัฒนาการใดๆ ทางธุรกิจที่มีผลต่อราคาหลักทรัพย์แต่อย่างใด

ยังมีความสามารถชำระหนี้

ส่วนกรณีความกังวลต่อหนี้ของบริษัทในช่วงที่ผ่านมา พบว่าบริษัทมีสถานะหุ้นกู้คงค้างจำนวน 4 รุ่น รวม 3.99 พันล้านบาท โดยที่ผ่านมาดำเนินการชำระแล้ว 500 ล้านบาท ทำให้ยังมียอดเงินที่จะต้องชำระภายในวันที่ 30 ธ.ค.67 อีกจำนวน 1.5 พันล้านบาท 

ไม่เพียงเท่านี้ มีรายงานว่า SABUY ยังเดินปรับปรุงโครงสร้างบัญชีต่อเนื่อง ล่าสุด “วิรัช มรกตกาล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SABUY แสดงความเห็นว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องการลดสัดส่วนการถือหุ้นบริษัทในเครือ หลังมีผู้ประกอบการหลายรายสนใจเข้าร่วมเป็นพาร์ตเนอร์

ประกอบกับบริษัทกำลังมองหาโอกาสในการขายสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้งาน เช่น ที่ดิน อาคาร เพื่อระดมทุนเสริมสภาพคล่องให้ดียิ่งขึ้น รองรับการรีไฟแนนซ์หนี้ในส่วนต่างๆ ตลอดจนเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจต่อไป โดยคาดได้เห็นความชัดเจนภายในปีนี้หรือไม่เกินไตรมาส 4/67

และเมื่อพิจารณาจากงบแสดงฐานะการเงินเฉพาะกิจการของบริษัท ณ วันที่ 31 ธ.ค.2566 พบว่าบริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด จำนวน 284.75 ล้านบาท ขณะเดียวกัน มีเงินให้กู้ยืมระยะสั้น 1.69 พันล้านบาท เงินลงทุนในตราสารทุน 405.70 ล้านบาท รวมถึงเงินลงทุนในบริษัทย่อย จำนวน 6.83 พันล้านบาท และเงินลงทุนในบริษัทร่วม 4.92 พันล้านบาท และเงินลงทุนในกิจการร่วมค้า 1.18 พันล้านบาท รวมถึง SABUY มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเฉลี่ยราว 100 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งหากทุกอย่างสำเร็จตามที่วางไว้ น่าจะเพียงพอรองรับการไถ่ถอนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดช่วงปลายปี 2567 ได้เรียบร้อย 

นักลงทุนมีความกังวล

ทั้งนี้ แผนธุรกิจในปี 2567 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโตประมาณ 20% จากปีก่อน เนื่องจาก บริษัทมีแนวทางในการต่อยอดธุรกิจทั้งในกลุ่มคอนซูเมอร์และเอ็นเตอร์ไพรส์ให้กว้างขึ้น โดยมองแนวโน้มผลงานครึ่งหลังปีนี้จะสามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ เนื่องจากมองธุรกิจในทุกกลุ่มของ SABUY จะกลับมาฟื้นตัว

ขณะที่ “สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยมีการติดตามหุ้นกู้ที่จะมีการครบกำหนดอย่างใกล้ชิด ซึ่งในกรณีของ SABUY ถือว่านักลงทุนเริ่มมีความกังวล โดยมีรายงานว่า ทางบริษัทอาจไม่พิจารณาออกหุ้นกู้ใหม่ (Rollover) ต่อ เนื่องด้วยสถานการณ์การออกหุ้นกู้ในปัจจุบันที่ไม่เอื้ออำนวย

โยน “ณวัฒน์” คือสาเหตุ?

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้ราคาหุ้น SABUY ร่วงฟลอร์น่าจะมาจากการแจ้งลาออกจากตำแหน่งกรรมการ SABUY ของ “ณวัฒน์ อิสรไกรศีล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MGI ที่เพิ่งได้ตำแหน่งมาหลังจากเข้าซื้อหุ้นของบริษัท 1.7%

โดยมีการโยงว่า การสละตำแหน่งใน SABUY ของเจ้าของ MGI มาจากการมองไม่เห็นอนาคตของบริษัท เมื่อกลยุทธ์ในการบริหารเปลี่ยนไป จากเดิมใช้กลยุทธ์เทกโอเวอร์กิจการต่างๆ เพิ่มเสริมศักยภาพธุรกิจให้เติบโต แต่ปัจจุบันแนวทางดังกล่าวมีการเปลี่ยนไป หลังผู้ถือหุ้นใหญ่สละตำแหน่งในการบริหาร ทั้งที่ความจริงน้ำหนักที่ความเชื่อถือในประเด็นนี้มีน้อย เนื่องด้วยเชื่อว่าการตัดสินใจเข้าถือหุ้น SABUY น่าจะมีการศึกษาธุรกิจมาล่วงหน้าก่อนตัดสินใจลงทุน ว่าทิศทางธุรกิจในอนาคตจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่เพิ่งมารู้ทีหลังจากที่ทุ่มเงินเข้าไปซื้อหุ้นแล้ว

และล่าสุด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MGI ออกมาแสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าวว่า ที่ผ่านมามีนักลงทุนไม่สบายใจกับการเข้าไปเป็นพาร์ตเนอร์กับ SABUY เพราะนำไปโยงกันระหว่างหุ้น MGI กับ SABUY ที่ปัจจุบันราคาหุ้นปรับตัวลง แต่ส่วนตัวยืนยันว่าไม่ได้เข้าไปพัวพันกับการดำเนินธุรกิจของ SABUY ขณะเดียวกัน อยากให้นักลงทุนคำนึงถึงพื้นฐานของธุรกิจ MGI เป็นหลัก โดยบริษัทยังคงเป้าหมายเติบโตในด้านรายได้ในปีนี้กว่า 100% 

นอกจากนี้ ส่วนตัวได้ลาออกจากกรรมการ และรองประธานกรรมการบริหารของ SABUY เนื่องจากติดภารกิจการปฏิบัติหน้าที่ของ MGI ทําให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มที่ และเตรียมแต่งตั้งตัวแทนเข้าดำรงตำแหน่งแทน

พร้อมยืนยันว่า การเข้าไปลงทุนหุ้น SABUY ไม่ได้ชอบ หรือชื่นชม "ชูเกียรติ รุจนพรพจี" ผู้ถือหุ้นใหญ่ SABUY เป็นการส่วนตัว แต่ทีมงานเห็นช่องทางการเรียนรู้และเพิ่มช่องทางธุรกิจเป็นหลักจาก SABUY โดยสิ่งที่ได้คือการขายของผ่านตู้เวนดิ้ง สบาย และการใช้ ecosystem และ data ของกลุ่ม SABUY ทำให้ MGI ลดต้นทุนและเวลาดำเนินการ และการเข้าลงทุนเป็นการเข้าไปช่วยให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น และต้องขอบคุณ SABUY ที่เชิญให้เป็นกรรมการและรองประธานกรรมการ

"โอกาสจากการเข้าลงทุนใน SABUY มีมาก กับการลงทุนแค่ 1% กว่าใน SABUY เพราะ SABUY มีตู้สินค้าที่มีทั่วประเทศกว่า 1 หมื่นตู้ จะช่วยเพิ่มช่องทางการขายสินค้าของ MGI ซึ่งการได้พาร์ตเนอร์ ได้เครือข่ายธุรกิจของ SABUY ทำให้ MGI เติบโตไปได้เร็วขึ้น เพราะ MGI ยังอยู่ระหว่างพัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเป็น Ecosystem ที่เริ่มจากฐานแฟนคลับของ MGI ก่อนจะขยายสู่วงกว้าง ซึ่งถ้าไม่มีพาร์ตเนอร์เราก็จะก้าวไปได้ยาก" นายณวัฒน์ กล่าว

ย้อนรอยช่วงราคาหุ้นดิ่ง

อย่างไรก็ตาม การจับมือเป็นพันธมิตรร่วมขยายธุรกิจให้เติบใหญ่ของทั้ง 2 บริษัท ในวันแรกนั้น (1 เม.ย.) ราคาหุ้นตอบรับในเชิงบวกแก่ทั้งคู่ แต่หุ้น MGI ปรับตัวขึ้นเพียงช่วงแรกของการเปิดซื้อขาย ก่อนที่ราคาจะร่วงลง จนติดลบเมื่อปิดการซื้อขาย และลงแรงต่อเนื่อง 4 วันซ้อน จนล่าสุดปิดที่ 22.50 บาท/หุ้น (5 เม.ย.) ถือว่าราคาหุ้นลดลงไปแล้ว 13.75 บาท/หุ้น หรือ 61.11%

ขณะที่หุ้น SABUY ในวันแรกที่มีข่าวพบว่าราคาหุ้นพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรง หลังประกาศข่าวจับมือกับ MGI และแม้จะถูกเทขายทำกำไร แต่ปิดการซื้อขายวันที่ 1 เม.ย.67 ราคายังดูดีอยู่ โดยปิดที่ 4.70 บาท เพิ่มขึ้น 0.30 บาท/หุ้น แต่หลังจากนั้น (2 เม.ย.) หุ้น SABUY ออกอาการไม่ดี ไปต่อไม่ไหว ราคาปิดที่ 4.64 บาท ลดลง 6 สตางค์ ก่อนถูกถล่มขายอย่างหนักจนติดฟลอร์ หรือราคาลงต่ำสุด 30% สองวันซ้อน และปิดวันที่ 4 เมษายนที่ 2.26 บาท

โดยตลาดหลักทรัพย์ระบุถึงสาเหตุที่หุ้น SABUY ทรุดหนักว่าเกิดจากการขายที่กระจุกตัวในบุคคลบางราย ถือเป็นเบื้องหลังแรงขายที่กระหน่ำใส่ SABUY จนเกิดจากการบังคับขายหรือ FORCE SELL ซึ่งมีทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่ของ SABUY และนักลงทุนรายย่อยที่ถูกโบรกเกอร์บังคับขาย เนื่องจากราคาหุ้นปรับตัวลงต่ำกว่าเกณฑ์ การวางหลักทรัพย์ค้ำประกันวงเงินขอสินเชื่อเพื่อการซื้อหุ้นหรือมาร์จิ้น และนักลงทุนที่ขอวงเงินมาร์จิ้นไม่สามารถหาหลักทรัพย์มาวางค้ำประกันเพิ่มได้

ดีลนี้ใครได้ใครเสีย

ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์ดีล MGI ซื้อหุ้น SABUY ว่า นอกจากการอาศัยช่องทางของ SABUY ช่วยจำหน่ายสินค้าให้ MGI ผู้ที่ได้รับกำไรเต็มๆ น่าจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ SABUY อย่าง “ชูเกียรติ” เพราะเงินจากการขายหุ้นไม่ได้เข้าบริษัท โดยคาดว่าผู้ถือหุ้นใหญ่จะมีกำไรประมาณ 105 ล้านบาท จากดีลนี้ 

ขณะที่ MGI ได้ประโยชน์ประการที่ 2 จากการได้สิทธินั่งเป็นกรรมการบริษัท SABUY ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือเป็นการแหกจารีตประเพณีของบริษัทจดทะเบียน นั่นเพราะโดยปกติการจะส่งคนมานั่งเป็นบอร์ดได้ ต้องถือหุ้นเกิน 10% แต่ MGI เข้ามาถือหุ้น SABUY แค่ 1.70% กลับได้อภิสิทธิ์ส่งคนเข้ามานั่งในบอร์ดได้ 1 คน ถือว่าไม่สมเหตุสมผล 

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าสิ่งนี้มาจาก SABUY เห็นความสามารถของ MGI ที่ขายออนไลน์เก่ง และ “ณวัฒน์” ที่เป็นคนทำงาน จึงมีการเชื้อเชิญให้ถือหุ้น และเข้ามาร่วมบริหาร โดยพร้อมใช้ Ecosystem ในการสนับสนุนการดำเนินงานซึ่งจะเป็น WIN-WIN ของทั้ง 2 บริษัท เนื่องจากในส่วนของ SABUY มีเครื่องมือที่จะทำให้ MGI มีศักยภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านของระบบต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีช่องทางขายและเครือข่ายค่อนข้างมาก ทั้งตู้เวนดิ้ง ตลอดจนหน้าร้าน Dropoff Sabuy Speed ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนการทำงานของ MGI ได้ค่อนข้างดี

ดังนั้น หากในอนาคต MGI ต้องการที่จะขยายไลน์ธุรกิจมาสู่การขายตรงก็จะเป็นประโยชน์ เนื่องจากบริษัทมีระบบการขายตรงอยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังมีจุด Dropoff ที่สามารถเป็นสาขาของการขายตรง MLM ได้ ซึ่งจะเป็นการสร้างงาน สร้างเงินเพิ่มเติม นอกจากนี้ การขายออนไลน์จำนวนมากยังต้องมีระบบการขนส่งที่ตอบสนอง ซึ่ง SABUY SPEED จะเข้ามาตอบโจทย์การขนส่งได้ด้วย

ขณะที่การผลิตแบรนด์ต่างๆ MGI ก็สามารถที่จะใช้บริษัทต่างๆ ในกลุ่มของ SABUY ได้ทั้งหมด ดังนั้น การลงทุนของ MGI ใน SABUY น่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย

อย่างไรก็ตาม ดีลระหว่างทั้งสองบริษัทจะเป็นเพียงการสรางกระแสช่วงสั้น หรือส่งผลดีต่อทั้งสองบริษัทในระยะยาว เวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ เช่นเดียวกับราคาหุ้นที่น่าจะกลับไปเคลื่อนไหวบนความเป็นจริงทางธุรกิจ








กำลังโหลดความคิดเห็น