ก่อนหน้านี้ สมญา "อิงฟ้า มหาชน" ของ "อิงฟ้า วราหะ" มิส แกรนด์ ไทยแลนด์ปี 2022 มาจากการอวยยศของหมู่มวลแฟนคลับ ที่ให้เกียรติในฐานะที่เป็นขวัญใจของมหาชน ที่ครอบคลุมตั้งแต่กลุ่มรากหญ้า จนถึงบรรดาไฮโซ
แต่วันนี้ของ อิงฟ้า สามารถมีคำต่อท้ายชื่อเป็น "มหาชน" อย่างถูกต้อง และเป็นทางการ
เพราะมีรายนามใปรากฎเป็นผู้ถือครองหุ้นอยู่ใน บริษัท มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MGI ถึง 2 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนถึง 0.95%
ขณะที่ ชาล็อต ออสติน รองอันดับ 5 ในปีเดียวกัน ก็มีหุ้นอยู่ในสัดส่วน 0.95 % หรือ 2,000,000 หุ้น เท่ากัน
และแน่นอนว่า ผู้ถือครองหุ้นในสัดส่วนสูงสุด ก็หนีไม่พ้นบิ๊กบอส อย่าง "ณวัฒน์ อิสรไกรศีล" ตัวพ่อของมิส แกรนด์ โดยถือหุ้นจำนวนสูงถึง 90,000,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 42.86% หรือเกือบกึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นทั้งหมดนั่นเอง
หุ้นของ MGI เปิดขายวันแรก (14 ธ.ค.)ในตลาดหลักทรัพย์ ด้วยราคา 6.25 บาท เพิ่มขึ้น 1.30 บาท หรือ 26.26% จากราคา ไอพีโอ 4.95 บาท มูลค่าการซื้อขาย 73 ล้านบาท
ต้องเรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ของหุ้นนางงามตัวแรกในประเทศไทย และตัวแรกในตลาดโลกที่พาตัวเองเข้ามาอยู่ในระดับมหาชนได้สำเร็จ
ทั้งนี้ธุรกิจการประกวดนางงาม ถือเป็น 1 ใน 4 ของธุรกิจ ที่สร้างรายได้ให้ MGI ได้อย่างมหาศาล ในอีกมุมหนึ่ง ถือว่าเป็นเวทีประกวดสาวงามเวทีแรก ที่มีเครือข่าย 77 เวที 77 จังหวัดในประเทศไทย และสามารถขายลิขสิทธิ์ไปได้อีก 90 ประเทศทั่วโลก
งานนี้ต้องถือเป็นความสำเร็จและก้าวย่างอันยิ่งใหญ่ของ บอสณวัฒน์ ที่สามารถยกระดับเวทีประกวดสู่มาตรฐานระดับสากล
เรียกว่าสามารถไต่จากที่เคยรั้งอยู่ในลำดับท้ายสุดของ TOP3 เวทีประกวดสาวงามระดับโลก จนตอนนี้สามารถมายืนผงาดจับมือลุ้นมง เป็น 2 เวทีที่คนทั่วโลกให้การยอมรับ
แม้ว่าการประกวดในแต่ละปี จะต้องแลกมาด้วยกระแสดราม่าตลอด จนกลายเป็นที่จับตามองว่า ตั้งใจปั้นข่าวเพื่อเรียกแสงหรือไม่ ? อย่างไร ? แต่ ณวัฒน์ ก็ยังคงยืนหนึ่งท่ามกลางมรสุมกระหน่ำอย่างไม่สะท้านสะทก
ถ้าพิจารณาสัดส่วนรายได้ของ MGI ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ก็จะพบว่า มีรายได้จากมาธุรกิจพาณิชย์ 40.86% , ธุรกิจประกวดนางงามมิสแกรนด์ 12.63% , ธุรกิจสื่อและบันเทิง 19.06% , ธุรกิจบริหารจัดการศิลปิน 23.12% รวมไปถึงยังมีรายได้ค่าเช่าช่วง MGI Hall 3.51% และรายได้อื่น 0.82%
ขณะที่รายได้ของ MGI ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา ปรากฎตัวเลขดังนี้
– ปี 2563 รายได้ 338 ล้านบาท กำไรสุทธิ 44.8 ล้านบาท
– ปี 2564 รายได้ 342 ล้านบาท กำไรสุทธิ 29.0 ล้านบาท
– ปี 2565 รายได้ 319 ล้านบาท กำไรสุทธิ 47.8 ล้านบาท
– ปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) รายได้ 432 ล้านบาท กำไรสุทธิ 77.1 ล้านบาท
หรือพูดง่ายๆ ก็คือตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี 2563 MGI สามารถสร้างผลกำไรได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจทั่วโลก กำลังประสบกับวิกฤตโควิด -19 ก็ตาม
ผู้จัดการ 360 องศาสุดสัปดาห์ ฉบับ 16-22 ธันวาคม 2566