บสย. ประกาศความพร้อม 2024 พิชิตเป้าหมาย “SMEs Digital Gateway” ตามแผน Transform ขับเคลื่อนองค์กรด้วย Digital Technology สำเร็จตามเป้า ส่วนผลดำเนินงานปี 2566 ยอดอนุมัติวงเงินค้ำรวม 114,025 ล้านบาท เติบโต 120% ดัน SMEs Penetration Rate เกินจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ จาก 24.58% เป็น 25.64%
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ผลดำเนินงาน บสย.ปี 2566 ที่ผ่านมาได้สร้างสถิติใหม่ด้านการช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อของ บสย. หรือ SMEs Penetration Rate เกินจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ จาก 24.58% เป็น 25.64% (เทียบกับจำนวน SMEs ทั้งประเทศ กว่า 3.3 ล้านราย) ช่วย SMEs ได้สินเชื่อใหม่ 99,298 ราย และมียอด SMEs สะสมรวม 817,144 ราย อนุมัติวงเงินค้ำรวม 114,025 ล้านบาท เติบโต 120% ผ่านโครงการรัฐมีสัดส่วน 45% ตามด้วยโครงการ พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู สัดส่วน 38% และโครงการที่ บสย. ดำเนินการเอง 17% โดยผลิตภัณฑ์ค้ำประกันที่ได้รับความนิยมสูงสุดของโครงการ PGS 10 คือค้ำประกันกลุ่ม Smart Biz คิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% หรือราว 30,000 ล้านบาท
"ผลสำเร็จดังกล่าวมาจากความร่วมมือร่วมใจจากทุกส่วนงาน ทีมงาน คือพลังส่งต่อความสำเร็จ ทำให้เป้าหมายองค์กรสู่การเป็น “SMEs Digital Gateway” ประสบผลสำเร็จ ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี นับตั้งแต่การประกาศยุทธศาสตร์องค์กรในปี 2565 รวมถึงการดำเนินภารกิจตามนโยบายรัฐบาลเรื่องการแก้หนี้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและช่วยผู้ประกอบการ SMEs หลุดพ้นจากการเป็นหนี้นอกระบบ โดยภายใต้มาตรการหนี้ลด หมดเร็ว ปลดหนี้ ช่วยลูกหนี้เข้ามาตรการประนอมหนี้ คิดเป็นมูลหนี้ในการปรับโครงสร้างหนี้กว่า 4,700 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังได้ช่วยลูกหนี้ บสย. ให้สามารถกลับมาเป็นลูกหนี้ปกติ"
นายสิทธิกร เชื่อมั่นว่าพลังคนรุ่นใหม่จะเข้ามาช่วยต่อยอดความสำเร็จ ตามยุทธศาสตร์องค์กร 2567 ภายใต้แผนและกลยุทธ์ บสย. กองหน้า กองกลาง กองหลัง ได้แก่ 1.เสริมแกร่งบทบาทและการพัฒนา บสย. F.A. Center สู่การเป็น Credit Mediator ภายในปี 2568-2569 2.การช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อผ่านกลไกค้ำประกัน ลดต้นทุนธุรกิจ 3.การช่วยลูกหนี้แก้หนี้อย่างยั่งยืน 4.การขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัลเทคโนโลยีต่อเนื่องอย่างเข้มแข็ง ภายใต้ SMEs Digital Gateway เชื่อม Platform ค้ำประกันสินเชื่อกับ Eco System ด้วยบริการใหม่จาก Line OA และนำ Data มาใช้ในการพัฒนา New Business Model
สำหรับปี 2567 ยังมีโจทย์ใหม่ที่ท้าทาย โดยผลดำเนินงาน บสย. 2 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-ก.พ.) มียอดอนุมัติค้ำประกัน 10,000 ล้านบาท จาก พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู ระยะ 2 ช่วย SMEs กว่า 22,822 ราย ส่วนความท้าทายใหม่ในปีนี้มีทั้งด้านแนวทางการพัฒนายกระดับองค์กรด้วยดิจิทัล เทคโนโลยี ในเฟส 2 และ 3 และการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการร่วมทุนจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อดำเนินการบริหารหนี้ ตามนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะมีความชัดเจนขึ้นในช่วงปลายปี