กูรู ประเมินผลงานไตรมาส 1/67 ของ TRUE ขาดทุนลดลง ASPS ประเมินขาดทุนเหลือ 697 ลบ. หลังธุรกิจมือถือเติบโต รับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศมากขึ้น ขณะที่คุมค่าใช้จ่ายการขาย-บริหารลดลง และทั้งปีขาดทุนประมาณ 4.1 พันลบ. ส่วน TISCO คาดขาดทุนโค้งแรก ลดลง 1.05 พันลบ. จากรายได้มือถือที่เติบโตเช่นกัน แต่คงแนะนำ “ซื้อ” ให้ราคาเป้าหมาย 8.50 บาท
ASPS คาด Q1/67 ขาดทุน 697 ลบ. แต่ดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน
ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงาน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) งวดไตรมาส 1/67 คาดว่าจะขาดทุนปกติ (ไม่รวมรายการพิเศษ) ที่ 697 ล้านบาท ดีขึ้นกว่าทั้งงวดไตรมาส 1/66 และ ไตรมาส 4/66 ที่ขาดทุนปกติอยู่ 1.7 พันล้านบาท และ 1.6 พันล้านบาท
สำหรับประเด็นสําคัญในไตรมาส 1/67 ที่ดีขึ้น คือ รายได้ค่าบริการ คาดว่าจะอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท ทรงตัว QoQ แต่จะโต 4.2%YoY หนุนโดยการเติบโตของธุรกิจมือถือที่เป็นธุรกิจหลัก (+1.1% QoQ , +5.2% YoY) เพราะได้ประโยชน์จากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทยมากขึ้นเป็นบวกต่อรายได้บริการโทรข้ามแดน และ ซิมนักท่องเที่ยว
ขณะที่คาดธุรกิจบรอดแบนด์ (ธุรกิจเสริม) จะทรงตัว QoQ แต่ยังโตได้ YoY (+0.3% QoQ , +5.6% YoY) ส่วนธุรกิจโทรทัศน์แบบบอกรับเป็นสมาชิกจะชะลอตัวลงทั้ง QoQ และ YoY
อย่างไรก็ดีด้านยอดขายอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือจะลดจากไตรมาสก่อน เหลือ 6 พันล้านบาท (-5.0% QoQ) จากกระแสไอโฟน 15 ที่ชะลอลง หลังวางจําหน่ายมาตั้งแต่กลาง ก.ย. 66 แต่คาดยังโตได้ 3.8% YoY จากมาตรการ “Easy E-receipt”
แต่การควบคุมค่าใช้จ่ายดีขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายขาย และ บริหารที่คาดจะลดลง 1.7% QoQ จากงบการตลาดที่ต่ำลง เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/66 ที่มีการจัดกิจกรรมส่งท้ายปี และ ลดลง 20.3% YoY จากการปรับโครงสร้างองค์กรหลังควบรวมกับดีแทค
สำหรับกำไร(ขาดทุน) สุทธิในงวดไตรมาส 1/67 ประเมินว่า จะขาดทุนสุทธิที่ระดับ 697 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 41% จากงวดเดียวกันปี 66 ที่ขาดทุนสุทธิ 493 ล้านบาท
ไตรมาส 2/67 ยังขาดทุนต่อ ทั้งปีขาดทุน 4.1 พันลบ. แนะนำ Neutral
ส่วนไตรมาส 2/67 ยังคงขาดทุนต่อ และมีแนวโน้มจะแย่กว่าไตรมาส 1/67 โดยปัจจัยลบ คือ รายได้ค่าบริการอาจจะชะลอลงในไตรมาส 2/67 เพราะโดยปกติแล้วช่วงนี้เป็นช่วง Low season ของธุรกิจมือถือ ขณะที่บริษัทได้ประโยชน์จากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยไม่เท่ากับคู่แข่งที่มีการลดราคาซิมนักท่องเที่ยวเพื่อจูงใจกลุ่มเป้าหมาย
ด้านยอดขายอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือจะลดลง QoQ เพราะมาตรการของภาครัฐที่จะกระตุ้นการใช้จ่ายโดยเฉพาะ Easy E-Receipt ที่สามารถนําไปลดหย่อนภาษีได้ 50,000 บาท สิ้นสุดลงไปแล้ว ตั้งแต่กลาง ก.พ. 67 นอกจากนี้ ผู้บริโภคบางส่วนอาจชะลอการตัดสินใจซื้อมือถือเครื่องใหม่ออกไป เพื่อรอดูสินค้าไอโฟน รุ่นใหม่ (ไอโฟน 16) ที่น่าจะเปิดตัวในไทยราวปลายไตรมาส 3/67 หรือ ต้นไตรมาส 4/67
ทางด้านค่าใช้จ่ายที่จะเกิดหลังการควบรวม (Integration cost) จะทยอยเข้ามามากขึ้น ทั้งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับโครงข่าย และ ที่ไม่เกี่ยวกับโครงข่าย
สำหรับปัจจัยบวกจาก ARPU ของบริการโทรศัพท์มือถือ และ บรอดแบนด์ น่าจะยังเพิ่มขึ้นได้ต่ออีก หลังจากที่บริษัทเน้นคุณภาพของลูกค้ามากกว่าการตัดราคา ส่วนต้นทุนค่าสาธารณูปโภค โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นแต่ไม่มากนัก เพราะราคาค่าไฟต่อหน่วยสําหรับงวด พ.ค. 67 - ส.ค. 67 ยังคงอยู่ที่ 4.18 บาท แต่ยังลดลง 15% YoY
ขณะที่ดอกเบี้ยที่น่าจะสิ้นสุดของขาขึ้นไปแล้วในปี 2566 ทําให้ความเสี่ยงในการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นน่าจะผ่อนคลายลง ทั้งนี้ TRUE มีหุ้นกู้ที่จะครบกําหนดไถ่ถอนในปี 2567 ราว 4.8 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้หากผลการดําเนินงานงวดไตรมาส 1/67 เป็นไปตามคาด จะมีสัดส่วนผลขาดทุนปกติ(ไม่รวมรายการพิเศษ) เพียง 17% ของคาดการณ์ขาดทุนปกติทั้งปีนี้ที่คาดไว้ว่า บริษัทจะขาดทุนราว 4.1 พันล้านบาท แต่ยังคงประมาณการขาดทุนปกติในปี 2567 ไว้ตามเดิม และ คงราคาเป้าหมายสําหรับปี 2567 ที่ 8.50 บาท เพราะมองว่า การดําเนินงานในไตรมาส 2/67 มีแนวโน้มที่จะด้อยลง QoQ จึงคงคําแนะนําเพียง “Neutral”
TISCO คาด Q1/67 ขาดทุน 1 พันลบ. ยังแนะนำซื้อ เป้าหมาย 8.50 บาท
ด้าน บทวิเคราะห์ บริษัท หลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า TRUE จะขาดทุนสุทธิลดลงเหลือ 1,059 ล้านบาท จาก 11,000 ล้านบาท ในไตรมาส 4/66 เนื่องจากการด้อยค่าน่าจะลดลงเหลือ 450 ล้านบาท จาก 10,000 ล้านบาท ในไตรมาส 4/66 ในขณะที่รายได้โดยรวมของ TRUE จะเติบโต 1% QoQ โดยรายได้มือถือจะเพิ่มขึ้น 2% และ รายได้จากธุรกิจ FBB จะเพิ่มขึ้น 1% QoQ
ทางด้าน ARPU แบบผสมสำหรับไตรมาส 1/67 เพิ่มขึ้นเป็น 205 บาท จาก 204 บาท ในขณะที่จำนวนผู้ใช้บริการสุทธิของ TRUE จะลดลง เนื่องจากการสลับลูกค้าลดลง
ต้นทุนโดยรวมจะลดลง QoQ เนื่องจากการลดลงเพียงครั้งเดียวค่าใช้จ่าย สำหรับการปฏิบัติการหลัก OPEX ของเครือข่ายคาดว่า จะเพิ่มขึ้นเนื่องจากสูงขึ้นค่าไฟฟ้า เนื่องจากอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 3.99 บาท/kWh ในไตรมาส 4/66 เป็น 4.18 บาท/kWh ในไตรมาส 1/67 โดยคาดว่า ต้นทุนทางการเงินจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ท้ายที่สุดแล้วควรได้รับการชดเชยด้วยต้นทุนการตลาดและบุคลากรที่ลดลง ในที่สุด EBITDAอัตรากำไรควรเพิ่มขึ้นเป็น 44% จาก 43%
อย่างไรก็ตามหากเทียบกับช่วงเดียวกันปี 66 ประเมินว่า TRUE จะขาดทุนเพิ่มขึ้น 115%
ยังคงแนะนำ “ซื้อ” และ ราคาเป้าหมาย 8.50 บาท ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย สงครามราคาที่เกิดขึ้นใหม่ การยุติการแข่งขันแบบผูกขาด และ ความล่าช้าในการควบรวม