ปัญหาสภาพคล่อง “อิตาเลียนไทย” เปิดทางหาผู้ซื้อหุ้นเหมืองโปแตช ลือหนึ่งในนั้นเป็นกลุ่มธุรกิจจีน บริษัทยอมรับอยู่ระหว่างพิจารณา ขณะเกณฑ์ D/E ไม่เกิน 3 เท่ายังเป็นอุปสรรคชิ้นใหญ่ หลายฝ่ายเชื่อท้ายที่สุดได้พันธมิตรร่วมลงทุน
ราคาหุ้นบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ขยับขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่มีรายงานว่า บริษัทกำลังพิจารณาขายหุ้น 90% ในบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งมีสิทธิทำเหมืองแร่ในประเทศไทย และกำลังหามองหาเงินทุนประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ โดย ITD กำลังทำงานร่วมกับที่ปรึกษา และเจรจากับผู้ซื้อที่มีศักยภาพ ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงผู้ซื้อจากประเทศจีน
ทั้งนี้เพียงแค่ 2 วันทำการหลังจากที่ข่าวดังกล่าวเกิดขึ้น พบว่าราคาหุ้น ITD ปรับตัวเพิ่มขึ้น 36.23% จาก 0.69 บาท/หุ้น (20ก.พ.67) มาอยู่ที่ 0.94 บาท/หุ้น (23ก.พ.67)
สำหรับ ITD เป็นหนึ่งในบริษัทก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และบริษัทได้เข้าซื้อกิจการแร่โปแตชในเอเชียแปซิฟิกในปี 2549 โดยบริษัทมีสิทธิในการสำรวจและพัฒนาแหล่งแร่โปแตชคุณภาพสูงในจังหวัดอุดรธานี ซึ่งบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ITD ถือหุ้น 90% กระทรวงการคลัง 10%) ยื่นขอสิทธิ์ในพื้นที่ 10,500 เอเคอร์ ต่อรัฐบาลในปี 2546 แต่ต้องใช้เวลาจนถึงปี 2565 กว่าจะได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการในการดำเนินโครงการเป็นเวลา 21 ปี โดยตามการระบุในเว็บไซต์บริษัทมีกำลังการผลิตโปแตช 2 ล้านตันต่อปี
โดยมีการประเมินว่า จะมีปริมาณการผลิตตลอดอายุโครงการอยู่ที่ 33.67 ล้านตัน และมีมูลค่าการลงทุนโครงการ 36,000 ล้านบาท ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ตรวจสอบเหมืองหลักเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 67 ที่ผ่านมา ตามคำแถลงของรัฐบาล โดยถามถึงแหล่งที่มาของเงินทุนสำหรับโครงการนี้ และยังได้พบกับประชาชนที่ต่อต้านเหมืองโปแตชด้วย
ข้อมูลจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่า มูลค่าตลาดของ ITD ลดลงนับจากประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์ในช่วงทศวรรษ 1990 ปัจจุบันลดลงเหลือ 100 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ปี 2565 บริษัทรายงานผลขาดทุน 4.76 พันล้านบาท ขณะที่ไตรมาส3/66 บริษัทรายงานผลขาดทุนสุทธิ 44.7 ล้านบาท
ITD ยอมรับหาผู้ร่วมลงทุน
ล่าสุด ITD ออกมาชี้แจงกรณีมีการเสนอข่าวดังกล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาคัดเลือก และเจรจา ผู้ร่วมทุนที่จะเข้ามาลงทุนในบางส่วน และเมื่อการดำเนินการเสร็จสิ้น บริษัทฯ จะแจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทราบต่อไป
มีรายงานว่า ITD ซื้อ บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ จำกัด มาเมื่อปี 2549 โดยบริษัทได้สิทธิสำรวจและพัฒนาแหล่งโปแตซชั้นดีใน จ.อุดรธานี หลังยื่นขอสิทธิในแหล่งโปแตซดังกล่าวขนาด 26,565 ไร่ในปี 2546 แต่ต้องรอจนถึงปี 2565 เพิ่งได้รับอนุมัติอย่างเป็นทางการให้ดำเนินโครงการเป็นเวลา 21 ปี
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับ ITD มีที่มาที่ไปอย่างน่าสนใจ เริ่มจากช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา บริษัทได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ว่า หุ้นกู้ 5 รุ่นของบริษัท จะขยายเวลาออกไปอีก 2 ปี ได้แก่ รุ่น ITD24DA มูลหนี้ 2,455 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 5.8% รุ่น ITD24DB มูลหนี้ 1,215 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 5% รุ่น ITD242A มูลหนี้ 2,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 5.25% รุ่น ITD254A มูลหนี้ 6,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 5.5% และรุ่น ITD266A มูลหนี้ 2,785 ล้านบาท ดอกเบี้ย 6.20% โดยทั้ง 5 รุ่นนั้นมีมูลค่ารวมกัน 14,455 ล้านบาท
โดย ITD มีแผนที่จะขยายเวลาชำระหนี้ออกไปอีก 2 ปี แลกกับเงื่อนไขในปีแรก บริษัทจะเพิ่มดอกเบี้ยของหุ้นกู้อีก 0.25% ต่อปี และเพิ่มดอกเบี้ยของหุ้นกู้อีก 0.50% ในปีที่ 2 โดยจะชำระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดเพียงครั้งเดียวในวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ใหม่ ทำให้ ITD ต้องมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 108.4125 ล้านบาท จากเดิมที่มีภารดอกเบี้ยจ่ายทั้งสิ้น 810.81 ล้านบาท ซึ่งแผนดังกล่าวจะดำเนินการได้ ต้องได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้น ในวันที่ 17 ม.ค. 2567
สภาพคล่องมูลเหตุสำคัญ
ชนวนเหตุของ ปัญหาในครั้งนี้ ITD แจงว่า ในปี 2566 มีปัจจัยภายนอกหลายอย่างที่กระทบกับการดำเนินงานของบริษัท อาทิ สถานการณ์สงครามในต่างประเทศ ราคาวัสดุ และน้ำมันที่สูงขึ้น การประกาศขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีผลต่อต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งสถานการณ์การเมืองในประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลล่าช้า ส่งให้โครงการภาครัฐต่างๆ ที่ชะลอตัวลงจากแผนงานเดิม ทำให้บริษัท มีปริมาณงานลดลงไม่เป็นไปตามประมาณการ
และจากปัญหาที่เกิดขึ้น ITD ต้องเจรจากับเจ้าหนี้ต่างๆ ทั้งเจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้สถาบันการเงิน และเจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อขอผ่อนผันการชำระหนี้ และเลื่อนการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท รวมไปถึงการขอกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์ เพื่อนำมาใช้ในโครงการงานต่างๆ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยบริษัทคาดหวังว่าหากประสบความสำเร็จ จะทำให้บริษัทผ่านพ้นปัญหาการขาดเงินทุนหมุนเวียน สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
ไม่เพียงเท่านี้ การขาดสภาพคล่องด้านทุนหมุนเวียนของบริษัท ยังลุกลามไปถึงศักยภาพในการดำเนินงานโครงการต่างๆในมือ เพราะผู้ว่าจ้างบางโครงการเริ่มสงสัยว่า ITD จะดำเนินงานของตนให้แล้วเสร็จได้ตามกำหนดของระยะเวลาในแต่ละโครงการได้หรือไม่
มีรายงานว่า ปัจจุบัน ITD มีโครงการในมือ (Backlog) รวมกันสูงถึง 370,000 ล้านบาท โดยโครงการที่มีผลชี้วัดสำคัญต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศและอนาคตของบริษัท ได้แก่ 1.โครงการทางด่วนพระราม 3 -ดาวคะนอง (สัญญา 3) วงเงิน 4,814 ล้านบาท 2.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) วงเงิน 92,512 ล้านบาท 3.โครงการรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ (สัญญา 1) วงเงิน 22,347 ล้านบาท 4.โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนกรุงเทพฯหนองคาย เฟสแรก (สัญญา 4-5) วงเงิน 9,264 ล้านบาท 5.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม งานโยธาส่วนตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์) งานเดินรถทั้งระบบ (มีนบุรี-บางขุขนนท์) มูลค่า 140,000 ล้านบาท 6.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ มูลค่า 78,000 ล้านบาท และ 7.งานส่วนที่ 2 งานก่อสร้างอาคารท่าเทียบเรือระบบถนนและระบบสาธารณูปโภค ของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 จังหวัดชลบุรี วงเงิน 7,387 ล้านบาท เป็นต้น
นอกจากนี้ เมื่อมีการเลื่อนชำระหนี้ และมีการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพิ่ม ย่อมทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น(D/E)ของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้น สิ่งนี้ทำให้ITD ต้องการขอผ่อนผันการดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น(D/E Ration) ตามที่กำหนดในข้อกำหนดสิทธิโดยให้มีผลตั้งแต่สิ้นปี 2566 จนถึงรอบบัญชีปี 2568 และผ่อนผันให้บริษัทดำเนินการเจรจาหรือเข้าทำสัญญากับเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ โดยไม่ถือเป็นเหตุผิดนัดชำระหนี้
อย่างไรก็ตามข้อกำหนดสิทธิของ ITD ระบุไว้ว่า ต้องมีอัตราส่วน D/E Ratio ไม่เกิน 3 เท่า และหากย้อนดูงบการเงินของ ITD ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าขาดทุนสุทธิต่อเนื่อง ยกเว้นช่วง 9 เดือนปี 2566 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 379 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการขายสินทรัพย์ออกไปจึงทำให้งบมีกำไร ขณะที่งบปีอื่น ๆ ขาดทุนสุทธิทุกปี เริ่มตั้งแต่ ปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) กำไรสุทธิ 379 ล้านบาท ,ปี 2565 ขาดทุนสุทธิ 4,759 ล้านบาท,ปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 155 ล้านบาท ,ปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 1,104 ล้านบาท และปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 37.34 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ปัจจุบันของบริษัท ทำให้หลายฝ่ายมองว่า จุดเปลี่ยนสำคัญของ ITD เริ่มขึ้นจากศาลทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีกล่าวหานายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการ ITD กรณีล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก หรือ “คดีเสือดำ” มีคำพิพากษาจำคุก 2 ปี 14 เดือน โดยไม่รอลงอาญา เมื่อธันวาคม 2564 โดยต้องยอมรับว่าการขาดหัวเรือใหญ่มีผลต่อการดำเนินงานของบริษัท อย่างมีนัยสำคัญ
ผู้ถือหุ้นไฟเขียวขยายเวลา
ล่าสุด เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 67 บริษัทรายงานว่า จากการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2567 สำหรับวาระที่ 2 (ซึ่งเลื่อนมาจากการประชุมเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567) ในวันที่ 30 มกราคม 2567 เวลา 14.00 น. ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Meeting) สำหรับหุ้นกู้ของ ITD ครั้งที่ 1/2565 ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2568 (ITD254A) เนื่องจาก วาระที่ 2 สำหรับหุ้นกู้ ITD254A ไม่ครบเป็นองค์ประชุม จึงไม่สามารถประชุมผู้ถือหุ้นกู้ได้ และต้องเลื่อนออกไป
ทั้งนี้ วาระที่ 2 พิจารณาอนุมัติการขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ไปอีก 2 ปี และ (ก) การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้อีก 0.25% ต่อปี (นับแต่วันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้เดิมจนถึงวันครบ 1 ปี จากวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้เดิม) และ (ข) การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้อีก 0.50% ต่อปี (นับแต่วันครบ 1 ปี จากวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้เดิมจนถึง (แต่ไม่นับรวม) วันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ใหม่) โดยจะชำระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดเพียงครั้งเดียวในวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ใหม่ (ที่ขยายออกไป)
โดยผู้ถือหุ้นกู้เห็นชอบด้วยคะแนน 3,442,100 คะแนน คิดเป็น 97.4354% (ซึ่งเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดสิทธิ ที่จะต้องได้รับการอนุมัติไม่น้อยกว่า 75% ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นกู้ที่เข้าร่วมประชุมและออกเสียง) และผลของการลงคะแนนเสียงและมติที่ประชุมจะมีผลบังคับใช้และผูกพันกับผู้ถือหุ้นกู้ทุกรายที่อยู่ภายใต้ข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ ITD254A
เพิ่มผู้ร่วมทุนช่วยผลักดัน
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ที่ผ่านมาด้วยเม็ดเงินลงทุนจำนวนมากและด้วยสถานะทางการเงินที่กำลังประสบปัญหา ทำให้ ITD พยามหาผู้เข้ามาร่วมลงทุนในเหมืองโปแตชอยู่แล้ว แต่การดำเนินการธุรกิจเหมืองแร่มีการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการการทำเหมืองแร่โดยคนต่างด้าว และการห้ามยื่นคำขอรับใบอนุญาตเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น ทำให้คาดว่าดีลที่จะเกิดขึ้นน่าจะเป็นไปในรูปแบบร่วมทุน เพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าได้ แม้บริษัทจะเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบากในช่วงเวลานี้
D/E 3เท่า อุปสรรคสำคัญ
ก่อนหน้านี้ “ทริสเรทติ้ง” ลดอันดับเครดิตองค์กรของ ITD เป็นระดับ “BB+” จากเดิมที่ระดับ “BBB-” และลดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทเป็นระดับ “BB” จากเดิมที่ระดับ “BBB-” ส่วนแนวโน้มอันดับเครดิตนั้นยังคง “Negative” หรือ “ลบ” ทั้งนี้ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ให้ต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของบริษัท 1 ขั้น เพื่อสะท้อนถึงการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมของบริษัทที่ระดับ 55.8% ซึ่งสูงเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ที่ 50%
โดยกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ ITD ยังเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 6 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน อย่างไรก็ตามภาระดอกเบี้ยของ ITD ก็เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2.2 พันล้านบาท ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 หรือเพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเกิดจากภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนและต้นทุนการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ภาระหนี้ที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 4.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเกินกว่าประมาณการของทริสเรทติ้งที่ระดับ 4.3 หมื่นล้านบาท โดย ณ เดือนกันยายน 2566 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของ ITD อยู่ที่ระดับ 78.9% ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 79.7% ในปี 2565 อัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายของ ITD อยู่ที่ 2.75 เท่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 9.2% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 จากระดับ 5.1% ในปี 2565
ทริสเรทติ้ง ระบุว่า แม้ว่าผลการดำเนินงานจะปรับตัวดีขึ้น แต่ ITD ก็ยังคงมีข้อจำกัดภายใต้ข้อกำหนดทางการเงินเป็นอย่างมาก ซึ่งตามข้อกำหนดทางการเงินที่สำคัญของหุ้นกู้และเงินกู้ยืมจากธนาคารนั้นระบุให้บริษัทต้องรักษาอัตราส่วนภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ระดับไม่เกิน 3 เท่า ซึ่ง ITD มีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 2.89 เท่า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 2.97 เท่า ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565