xs
xsm
sm
md
lg

กรุงศรีคาดจีดีพีโต 2.7% เก็ง กนง.หั่นดอกเบี้ยกลางปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



น ส.พิมพ์นารา หิรัญกสิ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) กล่าวว่า ธนาคารคาดการณ์จีดีพีไทยปี 2567 เติบโตที่ 2.7% (ไม่รวมดิจิทัล วอลเล็ต) เร่งขึ้นจากปี 66 ที่ 1.9% โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่องโดยคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยว 35.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 28.2 ล้านคน รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงเติบโตต่อเนื่องที่ 3.1% และการใช้จ่ายภาครัฐจะมีบทบาทมากขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ของปี หลังจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีวงเงิน 3.48 ล้านล้านบาทได้รับการอนุมัติ ซึ่งจะส่งผลให้การบริโภค- การลงทุนภาครัฐกลับมาขยายตัวที่ 1.5% และ 2.4% ตามลำดับ และภาคการลงทุนเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.3% ในกลุ่มบริการและกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่ภาคการส่งออกคาดการณ์ขยายตัว 2.5% จากที่หดตัว -1.7% ในปีก่อนหน้า

สำหรับปัจจัยภายในประเทศที่อาจกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงท่ามกลางต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น ผลกระทบจากภัยแล้งที่อาจรุนแรงขึ้น รวมทั้งปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ประชากรสูงวัย การขาดแคลนแรงงาน และความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงในหลายอุตสาหกรรม ส่วนปัจจัยภายนอกที่อาจสร้างความเสี่ยงในปี 2567 ได้แก่ ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยในประเทศแกนหลักของโลกที่สูงสุดในรอบกว่า 2 ทศวรรษอาจกดดันเศรษฐกิจโลกและภาคการเงิน การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนท่ามกลางความเปราะบางในภาคอสังหาริมทรัพย์ การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจขยายวงกว้างในระยะต่อไป

**คาด กนง.ลดดอกเบี้ยกลางปี**
"การเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ พระเอกยังเป็นการท่องเที่ยวและการลงทุนเอกชน ซึ่งจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังโตต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงอยู่ในกรอบ เป็นที่มาของการคาดการณ์ว่า กนง.น่าจะมีการปรับลดในช่วงกลางปี ซึ่งตลาดคาดการณ์กันว่าจะลดลง 2 ครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามการตัดสินใจของ กนง.ต่อไป ขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจจะมีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่นั้น นับจากเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปี 66 ที่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งหากเศรษฐกิจไตรมาส 1 ปี 2567 ชะลอตัวลงต่อเนื่องจะถือว่าเป็นการถดถอยทางเทคนิคนั้น มองว่าไตรมาสแรกของปีนี้ยังมีปัจจัยที่เข้ามาหนุนเศรษฐกิจเพิ่มเติม อย่างมาตรการ Easy E-Receipt และตัวเลขนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวจีนที่เริ่มเข้ามามากขึ้น จะช่วยหนุนให้จีดีพีไตรมาสแรกของปีไม่ชะลอตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันไม่ใช่ภาวะวิกฤต แต่เติบโตในระดับต่ำจากศักยภาพที่ 3.0-3.5% ซึ่งจีดีพีไทยโตต่ำกว่า 3% มาหลายปี โตต่ำกว่าระดับศักยภาพติดต่อกันนาน เพราะเราพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลักมานาน ดังนั้น จึงต้องหาเครื่องยนต์ใหม่ๆ เข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งหวังที่จะเห็นการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเต็มที่ในการหาเครื่องยนต์ใหม่ๆ เข้ามาโดยเร็ว"

ด้านเศรษฐกิจโลกในปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตต่ำใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 3.1% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีในช่วงก่อนโควิด-19 ที่เฉลี่ยราว 3.7% เนื่องจากผลเชิงบวกจากการเปิดประเทศและมาตรการกระตุ้นช่วงโควิด-19 จะทยอยหมดลง ขณะที่ผลเชิงลบจากหลายปัจจัยอาจบั่นทอนการเติบโต ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ความเสี่ยงต่อภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจในยุโรป ภาวะภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) สงครามรัสเซีย-ยูเครนและความตึงเครียดในตะวันออกกลาง การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจซึ่งนำโดยสหรัฐฯ และจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก และอาจทำให้กระแสโลกาภิวัตน์ที่แตกเป็นเสี่ยงเสี้ยว (Fragmented Globalization) สร้างแรงกระเพื่อมต่อการค้าและการลงทุนทั่วโลก นอกจากนี้ การใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยสูงในหลายประเทศในช่วงปี 2566-2567 จะกระทบต้นทุนและภาระหนี้ของภาครัฐและเอกชน ดังนั้น โดยภาพรวมแล้วเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงที่จะซบเซา อย่างไรก็ตาม แรงกดดันเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มบรรเทาลงในปี 2567 จะช่วยเปิดทางให้ประเทศแกนหลักสามารถปรับลดดอกเบี้ยเพื่อประคองมิให้เศรษฐกิจอ่อนแอยาวนาน

"การชะลอตัวของเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศหลักๆ เป็นการชะลอตัวตามวัฏจักร หลังที่ได้มีการผ่อนคลายและมาตรการกระตุ้นออกมาในช่วงวิกฤติโควิด เมื่อสามารถเปิดประเทศไทยได้แล้ว นโยบายจะกลับมาตึงตัวมากขึ้น นโยบายการคลังถอนคันเร่ง ขณะที่นโยบายการเงินเหยียบเบรกและมีท่าทีจะยูเทิร์น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะกระทบให้เศรษฐกิจชะลอลงมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับปัจจัยเชิงโครงสร้างของแต่ละแห่ง จึงนำมาพามาสู่อัตราการเติบโตที่ต่างกัน รวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละประเทศ ซึ่งในส่วนของเฟดและอีซีบีคาดการณ์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ แต่อีซีบีน่าจะลดลงก่อน"

และแนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียนในปี 2567 คาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียน -5 จะอยู่ที่ 4.7% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวประมาณ 4.2% โดยอุปสงค์ภายในประเทศยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ กอปรกับการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวเล็กน้อยตามการคลี่คลายของภาวะชะงักงันด้านอุปทาน กำลังซื้อที่กระเตื้องขึ้นจากเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง และแรงกดดันจากสภาวะทางการเงินตึงตัวที่มีแนวโน้มลดลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ อย่างไรก็ตาม ความท้าทายต่อเศรษฐกิจภูมิภาคที่สำคัญ ได้แก่ ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก เช่น เศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแอ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเพิ่มความไม่แน่นอนต่อแนวโน้มการเติบโตของภูมิภาคผ่านช่องทางทั้งภาคการเงินและการค้า นอกจากนี้ นโยบายการคลังจะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรองรับความท้าทายด้านอุปทานที่มีแนวโน้มเกิดบ่อยขึ้น สำหรับนโยบายการเงิน อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูง และความเสี่ยงเงินเฟ้อจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผันผวน อาจทำให้ธนาคารกลางในภูมิภาคอาเซียนส่วนใหญ่ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้จนถึงกลางปี 2567
กำลังโหลดความคิดเห็น