นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/66 ขยายตัวได้ 1.7% เป็นการขยายตัวต่อเนื่องจาก 1.4% ในไตรมาส 3/66 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการส่งออกสินค้าและบริการเร่งขึ้น การอุปโภคบริโภคของครัวเรือนยังขยายตัว
ขณะที่การใช้จ่ายรัฐบาลลดลง เป็นผลจากรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการในระบบตลาด และการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ลดลง ประกอบกับการลงทุนรวมลดลง
ส่งผลให้ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2566 ขยายตัวได้เพียง 1.9% ซึ่งต่ำกว่าที่สภาพัฒน์เคยประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ (เดือน พ.ย.66) ว่าจะขยายตัวได้ 2.5% นายดนุชา กล่าวว่า ภาคการผลิตในไตรมาส 4/66 ขยายตัวได้ 1.7% ต่อเนื่องจาก 1.4% ในไตรมาส 3/66 เป็นผลจากการผลิตภาคนอกเกษตร ขยายตัวได้ 2.0% การผลิตภาคบริการขยายตัว 3.9% ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรม ลดลง 1.5% ตามการลดลงของการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง สำหรับการลงทุนภาครัฐในไตรมาส 4/66 ลดลงถึง 20.1% โดยลดลงมากเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/66 ที่ลดลง 3.4% ปัจจัยหลักมาจากความล่าช้าในการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว 7% เร่งขึ้นจากในไตรมาส 3/66 ที่ลดลง 3.3% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ 5% ซึ่งเป็นการขยายตัวทั้งด้านการก่อสร้าง และด้านเครื่องมือเครื่องจักร
การใช้จ่ายภาครัฐ ในไตรมาส 4/66 มีการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2566 ไปพลางก่อน จำนวน 910,163 ล้านบาท ลดลง 7.3% เบิกจ่ายงบเหลื่อมปี 53,621 ล้านบาท ลดลง 9% และการเบิกจ่ายจากเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 188 ล้านบาท รวมยอดเบิกจ่ายในไตรมาส 4/66 ทั้งสิ้น 9.63 แสนล้านบาท สำหรับการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 7.4% ชะลอลงจาก 7.9% ในไตรมาส 3/66 ปัจจัยสำคัญมาจากกิจกรรมที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวชะลอตัวตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชะลอลง อย่างไรก็ดี ไตรมาสนี้มีปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อของครัวเรือน คือ อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/66 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการภาครัฐที่ช่วยลดค่าครองชีพให้ภาคครัวเรือน
ด้านการส่งออกสินค้าขยายตัวได้ 3.4% ในไตรมาส 4/66 ปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวตามการส่งออกสินค้ากลุ่มอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์โลหะ ชิ้นส่วนยานยนต์ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวได้จากการส่งออกข้าวที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยในปี 2566 สามารถส่งออกข้าวได้รวมทั้งสิ้น 8.8 ล้านตัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้นำเข้าต้องการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร และมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ได้ใช้มาตรการควบคุมการส่งออกข้าว เพื่อบรรเทาภาวะเงินเฟ้อ และสร้างเสถียรภาพทางอาหารภายในประเทศ