ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) ประกาศผลงานปี 66 กำไรสุทธิทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่เกือบ 3,556.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.2 ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้น 22,858.5 ล้านบาท หนุนเงินให้สินเชื่อ ณ สิ้นปี 66 อยู่ที่ 144,156.5 ล้านบาท จากการเติบโตในทุกกลุ่มสินเชื่อหลักของธนาคาร โดยเฉพาะสินเชื่อไมโครเอสเอ็มอี สินเชื่อนาโน และไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย พร้อมกับควบคุมต้นทุน รักษาอัตราส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ร้อยละ 8.2 และ ROE สูงขึ้นที่ร้อยละ 22.31 มองปี 67 พร้อมในการขยายพอร์ตสินเชื่อต่อเนื่อง ด้วยโครงสร้างเงินทุนที่ต้นทุนต่ำ
นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) (CREDIT) เปิดเผยผลการดำเนินงานของธนาคาร ณ สิ้นปี 2566 (มกราคม-ธันวาคม 2566) ธนาคารมีอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่โดดเด่น มีเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ของธนาคารเท่ากับ 144,156.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22,858.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.8 จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจัยหลักเนื่องมาจากการเติบโตในทุกกลุ่มสินเชื่อหลักของธนาคาร ทั้งสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี สินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย และสินเชื่อบ้านแลกเงิน
สอดคล้องกับรายได้ดอกเบี้ยของธนาคารอยู่ที่ 15,894.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.3 จากงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 12,684.7 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักมาจากรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ที่เพิ่มขึ้นเท่ากับ 2,904.5 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณเงินให้สินเชื่อที่เติบโตเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์สินเชื่อหลักของธนาคาร ประกอบกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารควบคู่การมุ่งเน้นบริหารจัดการ ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดําเนินงานอื่นๆ ต่อรายได้จากการดําเนินงานของธนาคารลดลงจาก ณ สิ้นปี 2565 เทียบกับสิ้นปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 39.5 เป็นร้อยละ 36.7 โดยธนาคารมีรายได้จากการดําเนินงานต่อสาขา ปริมาณสินเชื่อต่อสาขา และปริมาณเงินฝากต่อสาขาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ส่งผลให้ธนาคารมีกำไรสุทธิ ณ สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 3,556.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.2 เมื่อเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 2,352.5 ล้านบาท โดยอัตราส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ในปี 2566 ของธนาคารอยู่ที่ร้อยละ 8.2 ใกล้เคียงปีก่อนที่ร้อยละ 8.4 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางการเงินถัวเฉลี่ยของธนาคาร สอดคล้องกับการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. และมาตรการลดหย่อนค่าเงินนําส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) สิ้นสุดลงในปี 2565 อย่างไรก็ตาม กําไรสุทธิต่อส่วนของเจ้าของในปี 2566 (ROE) สูงขึ้นเป็นร้อยละ 22.31 เมื่อเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ 18.94
สำหรับแนวโน้มปี 2567 ธนาคารจะยังคงรักษาการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยการระดมทุน (IPO) ในช่วงที่ผ่านมา จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการบริหารงาน เสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินกองทุนของธนาคาร เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับการขยายพอร์ตสินเชื่อได้ต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายพอร์ตสินเชื่อเติบโตในระดับร้อยละ 20-30 ต่อปี รวมทั้งมีผลตอบแทนสูงด้วยโครงสร้างเงินทุนที่ต้นทุนต่ำ