xs
xsm
sm
md
lg

กรุงไทยชี้ 6 ปัญหารุมเร้า ศก. คนไทยรายได้ต่ำ-เหลื่อมล้ำสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอ็มดีแบงก์กรุงไทยชี้ 6 ปัญหารุมเร้าเศรษฐกิจ คนไทยรายได้ต่ำ ความเหลื่อมล้ำสูง แถมเจอคอร์รัปชัน ขาดบรรษัทภิบาล ซ้ำเติม แนะ 3 แนวทางแก้ไข จัดทำข้อมูลเข้าระบบ แก้หนี้ พร้อมส่งเสริมเอสเอ็มอี อย่างยั่งยืน

วันนี้ (16 ก.พ.) นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวในงาน iBusiness Forum 2024 RESHAPING THAILAND FOR A SUSTAINABLE FUTURE พลิกเศรษฐกิจไทยก้าวไปอย่างยั่งยืน ว่า ปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจโดยหลักๆ อยู่ใน 6 ด้านเป็นหลัก ได้แก่ รายได้ต่อหัวประชากรต่ำ ความยากจน-ความเหลื่อมล้ำมาก บรรษัทภิบาลอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ผลิตภาพอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ความยืดหยุ่นหรือภูมิคุ้มกันต่อการถูกกระทบจากภายนอกต่ำ อย่างช่วงโควิดจะเห็นได้ว่าธุรกิจที่ยึดโยงกับภาคบริการ ภาคที่ใช้แรงงานสูง ถูกกระทบมาก และการฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับก่อนโควิดช้ากว่าประเทศอื่น และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

"ปัญหาทั้ง 6 ด้านเป็นสิ่งที่เกี่ยวโยงกัน หากเรามีรายได้ต่อหัวประชากรต่ำ ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำจะสูงขึ้น บรรษัทภิบาลทั้งในภาครัฐ การคอร์รัปชันต่างๆ จะเพิ่มขึ้น ผลิตภาพหรือผลผลิตต่างๆ ที่ออกจะต่ำ ภูมิคุ้มกันต่างๆ จะต่ำ เมื่อมีปัญหามาผลกระทบจะสูง ฟื้นตัวได้ช้าอย่างที่เราเป็นอยู่ ดังนั้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจนอกระบบของไทยสูงกว่าคู่ถึงเทียบ 50% ประชากรไทย 77 ล้านคน มีเพียง 11 ล้านคนที่เข้าระบบภาษี และมีเพียง 4 ล้านคนที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษี ขณะที่คน 66 ล้านคนต้องการสวัสดิการและคุณภาพชีวิตทื่ดี รวมถึงแรงงานนอกระบบอยู่ในเกณฑ์ที่สูงถึง 50% ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพแรงงานของไทย และหนี้นอกระบบที่ตอนนี้ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนว่าเท่าไหร่ ซึ่งหากรวมข้อมูลอย่างครอบคลุมแล้วอาจจะถึง 100-110% ของจีดีพีก็ได้ ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 74% อยู่นอกระบบเช่นกัน เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้เคเชฟลดความเหลื่อมล้ำได้"

ทั้งนี้ 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้กลไกเศรษฐกิจหมุนเวียนคือ
1.สร้างข้อมูล (DATA) ธุรกิจนอกระบบไม่ทำให้เกิดดาต้า ซึ่งมีความสำคัญมาก เมื่อมีดาต้าจะทำให้เกิดความเข้าใจ นำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้อง ลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้เกิดการกระจายรายได้ที่เหมาะสม ลดต้นทุนแฝง ลดทรัพยากรที่ถูกใช้ไปกับกลุ่มที่ไม่ใช่เป้าหมาย ลดการคอร์รัปชัน และให้ผลิตภาพที่ดีขึ้น

2.ส่งเสริมเอสเอ็มอีเข้าระบบส่งด้วยการสร้างแรงจูงใจซึ่งจะช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองกับรายใหญ่ สร้างการแข่งขันอย่างเป็นธรรม รวมถึงการเข้าถึงบริการทางการเงินได้ครอบคลุมมากขึ้น การบริหารต้นทุน-ความเสี่ยงอย่างสมดุล อัตราดอกเบี้ยที่แฟร์ ซึ่งจะเป็นการแก้หนี้นอกระบบโดยอัตโนมัติ

3.แก้หนี้นอกระบบอย่างครบวงจร ตั้งอยู่บนหลักความเป็นธรรม และแก้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพียงแค่วาระแห่งชาติ

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของสังคมสูงวัยที่จะกระทบถึงแรงงานในอนาคต การเข้ามาของเอไอที่จะต้องรีสกิลบุคลากรในธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเชื่อว่าการเข้ามาของดิจิทัลจะทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในอีก 5-10 ปีข้างหน้า

"ปัจจุบันผลตอบแทนของระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอุตสาหกรรมอื่น ไม่ต้องพูดถึงว่าดอกเบี้ยสูงหรือต่ำ เพราะอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้ คนที่อยู่ส่วนบนของเคเชฟอาจจะมองไม่สูง แต่อาจจะสูงสำหรับคนที่อยู่เคเชฟด้านล่าง ส่วนในระยะใกล้นี้ อยากให้มองถึงเรื่องสปีดที่เราจะต้องเร่งปฏิรูปให้ผ่านจัดเปลี่ยนผ่านให้ทันคนอื่น การเร่งดึงคนนอกระบบเข้าสู่ระบบ ซึ่งตรงนี้รัฐอาจจะต้องกล้าที่จะทำ เพราะท้ายที่สุดจะทำให้ทรัพยากรต่างๆืตกลงไปสู่ส่วนล่างของเคเชฟ และทำให้ระบบต่างๆ มีความเป็นธรรมมากขึ้น"








กำลังโหลดความคิดเห็น