xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ระดับ 36.10 รอข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองกรอบเงินบาทวันนี้ (15 ก.พ.) คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.00-36.20 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ และประเมินกรอบในช่วง 35.90-36.30 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ โดยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 36.10 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.15 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้าค่าเงินบาทได้ชะลอการอ่อนค่าลงบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 36.09-36.21 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นบ้างตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ เริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยลดสถานะถือครองเงินดอลลาร์ลงบ้าง ขณะเดียวกัน การอ่อนค่าของเงินบาททะลุโซนแนวต้านจิตวิทยา 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ส่งผลให้ บรรดาผู้เล่นในตลาดทั้งผู้ส่งออก รวมถึงผู้เล่นที่มีสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่าลง) ทยอยขายเงินดอลลาร์รวมถึงขายทำกำไรสถานะ Short THB ออกมาบ้าง (โดยเฉพาะในช่วง 36.15-36.20 บาทต่อดอลลาร์) ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ แม้ว่าอาจจะมีการแข็งค่าขึ้นมาบ้าง แต่เงินบาทยังขาดปัจจัยหนุนฝั่งแข็งค่าที่ชัดเจน ทำให้เรามองว่าเงินบาทยังเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.20-36.30 บาทต่อดอลลาร์ในระยะสั้นได้ไม่ยาก โดยเฉพาะในกรณีที่เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นต่อ หรือตลาดการเงินกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง กดดันให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายหุ้นไทยเพิ่มเติม

ทั้งนี้ เรามองว่าควรระวังความผันผวนของตลาดค่าเงินในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ช่วง 20.30 น.ตามเวลาในประเทศไทย เพราะหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาดีกว่าคาดจะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมามองว่า สุดท้ายเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ตาม Dot Plot จริง ส่งผลให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวขึ้นต่อได้ กดดันราคาทองคำและเงินบาท ในทางกลับกัน หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ ยอดค้าปลีกออกมาแย่กว่าคาดไปมากอาจทำให้ตลาดเริ่มกลับมามองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤษภาคมได้ หรือเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ทำให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสย่อตัวลงบ้าง ซึ่งจะหนุนการรีบาวนด์ของราคาทองคำ และการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทที่อาจลงมาทดสอบโซน 36.00 บาทต่อดอลลาร์ (หรืออาจหลุดโซนแนวรับดังกล่าวได้ไม่ยาก)

สำหรับวันนี้ เราประเมินว่าผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ เช่น ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) รวมถึงดัชนีภาคการผลิตของบรรดาเฟดสาขาต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาผู้เล่นในตลาดได้ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา ได้สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงสดใสและแข็งแกร่ง ทำให้ผู้เล่นในตลาดมั่นใจมากขึ้นว่าเฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ยตามที่เคยได้ประเมินไว้

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของฝั่งอังกฤษ อย่าง อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 พร้อมจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของทั้ง BOE และ ECB
กำลังโหลดความคิดเห็น