xs
xsm
sm
md
lg

กรุงศรีฯ คาดแนวโน้มเงินยังต่ำจากมาตรการตรึงราคาพลังงาน-เฟดย้ำไม่รีบลดดอกเบี้ย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส่วนงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) ระบุอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมกราคมติดลบมากสุดในรอบ 35 เดือน และคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้อาจเฉลี่ยต่ำกว่ากรอบเป้าหมายจากผลของมาตรการรัฐ สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมกราคมยังคงติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ -1.11% YoY จาก -0.83% ในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นผลจากมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพด้านราคาพลังงาน โดยทางการขยายเวลามาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร และคงค่ากระแสไฟฟ้าในอัตราไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย ให้ครัวเรือนบางส่วนตามเงื่อนไขที่กำหนด ประกอบกับราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดยังคงลดลง โดยเฉพาะผักสดและเนื้อสุกร จากปริมาณผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสดและพลังงาน) อยู่ที่ 0.52% ชะลอลงจาก 0.58% ในเดือนธันวาคม

ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีประเมินอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงไตรมาสแรกของปีอาจอยู่ในแดนลบต่อเนื่อง และอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีมีแนวโน้มที่จะอยู่ต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเงินเฟ้อเป้าหมาย ซึ่งเป็นผลจากมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลและการช่วยเหลือค่าใฟฟ้าแก่ประชาชนบางส่วน อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าสูงกว่าคาดได้ เช่น ปัจจัยทางด้านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์เนื่องจากความเสี่ยงของภัยแล้ง และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจขยายวงกว้างขึ้นโดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงหากมีการยกเลิกมาตรการช่วยเหลือด้านราคาพลังงานแล้ว อาจจะทำให้เงินเฟ้อในบางเดือนพุ่งขึ้นได้

ด้านถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดมีหลายท่านย้ำไม่ควรลดดอกเบี้ยเร็ว จนกว่าจะมั่นใจว่าเงินเฟ้อในสหรัฐฯ กลับเข้าสู่เป้าหมายระยะยาวที่ 2% ในเดือนมกราคม ดัชนี PMI ภาคบริการ (ISM) อยู่ที่ 53.4 ขยายตัวมากที่สุดในรอบ 4 เดือน โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากดัชนีย่อยด้านคำสั่งซื้อใหม่ที่พุ่งขึ้นสู่ 55.9 จาก 52.8 ในเดือนก่อนหน้าขณะที่จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 9,000 ตำแหน่ง มาสู่ระดับ 2.18 แสนราย น้อยกว่าคาดการณ์ของตลาดที่ 2.27 แสนราย

จากข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวดีกว่าคาดสะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคบริการขยายตัวมากสุดในรอบ 4 เดือน อัตราการว่างงานยังคงต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยรายชั่วโมงเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 11 เดือน ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อปรับลงช้า และกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต้องชะลอแผนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไปนานกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งภาพดังกล่าวสอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่เฟดหลายท่านในสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งสัญญาว่าจะไม่เร่งรีบในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยก่อนเห็นหลักฐานชัดเจนว่าเงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายระยะยาวที่ระดับ 2% ล่าสุดเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.4% YoY ในเดือนธันวาคม จากระดับสูงสุดที่ 9.1% ในเดือนมิถุนายน 2565 ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีคงมุมมองว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% จนถึงกลางปีนี้ก่อนเริ่มปรับลดในช่วงต้นไตรมาส 3 ของปีนี้

ด้านเศรษกิจจีนความเสี่ยงจากเงินฝืดและเครื่องชี้ในภาคการเงินยังคงสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจจีน โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่วัดจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือนมกราคมปรับตัวลงสู่ -0.8% YoY จาก -0.3% ในเดือนธันวาคม ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำที่สุดในรอบ 15 ปี โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากความผันผวนในราคาอาหาร โดยเฉพาะราคาหมู ซึ่งลดลงไปกว่า 17% รวมถึงราคารถยนต์ที่ปรับตัวลง ตลอดจน base effect ส่วนเงินเฟ้อที่คำนวณจากราคาในภาคบริการชะลอลงสู่ 0.5% จาก 1% ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ยังคงลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 จาก -2.7% เป็น -2.5% สำหรับยอดสินเชื่อในสกุลเงินหยวนรวมในเดือนมกราคมปรับตัวขึ้น 10.1% นับเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำสุดนับตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลในปี 2548

ดัชนีราคาผู้บริโภคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์จากอุปสงค์ในช่วงตรุษจีน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1% ในปี 2567 จากราคาอาหารที่ค่อยๆ ฟื้นตัว และราคารถยนต์ที่ทรงตัวมากขึ้น ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตจะเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ตามการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และคาดว่าเฉลี่ยทั้งปีจะเพิ่มขึ้น 0.2% อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำยาวนานยังสะท้อนความเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืด สำหรับมาตรการทางการเงินโดยเฉพาะการลดอัตราดอกเบี้ยบางประเภทและเงินสดสำรองตามกฎหมาย อาจไม่สามารถช่วยกระตุ้นการขยายตัวของสินเชื่อได้มากนักเนื่องจากปัญหาหลัก คือ ความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจที่ยังอ่อนแอ
กำลังโหลดความคิดเห็น