xs
xsm
sm
md
lg

OTO เล่นกลซื้อแพงขายถูก / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หุ้นบริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ OTO ตกเป็นข่าวฉาวอีกครั้ง หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งให้ชี้แจงข้อมูลการเพิ่มทุนและการซื้อหุ้น 2 บริษัทในราคาที่ถูกและแพงเกินจริง

OTO ประกาศเพิ่มทุน นำหุ้นจำนวน 1,200 ล้านหุ้น เสนอขายให้บุคคลในวงจำกัด ในราคาหุ้นละ 60 สตางค์ รวมวงเงิน 720 ล้านบาท ก่อนนำเงินไปซื้อหุ้นบริษัท แฮปปี้ โปรดักส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ในวงเงิน 565 ล้านบาท

และซื้อหุ้นบริษัท เพียร์ ฟอร์ ออล จำกัด ในวงเงิน 150 ล้านบาท โดยจะจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติการทำรายการในวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้

แต่รายการเพิ่มทุนและซื้อหุ้นครั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินอิสระมีความเห็นว่า ราคาขายหุ้นเพิ่มทุนต่ำกว่ามูลค่ายุติธรรม ไม่เหมาะสมเมื่อเทียบกับมูลค่าหุ้น OTO ซึ่งอยู่ระหว่าง 1.07 บาทถึง 1.53 บาทต่อหุ้น

และการซื้อหุ้นบริษัท แฮปปี้ โปรดักส์ ไม่เหมาะสมและมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากการซื้อหุ้นในวงเงิน 565 ล้านบาท สูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงที่ประเมินได้ 359 ล้านบาท เช่นเดียวกับการซื้อหุ้นบริษัท เพียร์ ฟอร์ ออล ในราคา 150 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่ามูลค่ายุติธรรมที่ประเมินไว้เพียง 21 ล้านบาท

นอกจากนั้น ยังมีความเสี่ยงที่ OTO จะไม่ได้รับเงินมัดจำคืน เนื่องจากหุ้นทั้ง 2 บริษัทที่ OTO รับจำนำไว้อาจไม่ครอบคลุมมูลค่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการสูญเสียเงินมัดจำ ผู้ถือหุ้นจึงไม่ควรอนุมัติการทำธุรกรรมทั้งหมด

แต่ฝ่ายบริหาร OTO กลับยืนกรานที่จะนำหุ้นเพิ่มทุนขายในราคา 60 สตางค์ และนำเงิน 720 ล้านบาท ซื้อหุ้น 2 บริษัท โดยไม่ยอมฟังความเห็นคัดค้านของบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ ซึ่งไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกรรมครั้งนี้

ก.ล.ต.สั่งให้ OTO ชี้แจงข้อมูลธุรกรรมทั้งหมดภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ และเตือนให้นักลงทุนศึกษาข้อมูล OTO อย่างรอบคอบ และร่วมประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ เพื่อรักษาประโยชน์ของตัวเอง

OTO เป็นหุ้นเก็งกำไรตัวเล็ก โดยราคาเคลื่อนไหวอย่างร้อนแรง จนถูกตลาดหลักทรัพย์ใช้มาตรการกำกับการซื้อขายอยู่หลายครั้ง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงกรรมการ และฝ่ายบริหารการเงินบริษัท

ในรอบ 12 เดือน ราคาหุ้นเคยขึ้นสร้างจุดสูงสุดที่ 24.40 บาท และเคยหล่นตุบทำจุดต่ำสุดที่ 56 สตางค์ โดยล่าสุดวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาปิดที่ 83 สตางค์

ถ้าพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐาน การที่ราคาหุ้นยังสามารถยืนในระดับ 83 สตางค์ได้ถือว่าแข็ง เพราะผลประกอบการ OTO ขาดทุนหลายปีติดต่อ ไม่มีค่าพี/อี เรโช คำนวณราคาที่เหมาะสม ไม่มีเงินปันผล และไม่อาจคาดหวังแนวโน้มผลประกอบการที่เติบโต

นอกจากนั้น การบริหารงานภายใน OTO ยังมีปมที่ถูกตั้งข้อสงสัย โดยก่อนหน้าเคยให้เงินกู้กับบริษัท วาว แฟคเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ W ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจากหุ้น บริษัท อุตสาหกรรม อีเล็คโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ EIC ซึ่งเป็นหุ้นที่มีประวัติโชกโชน

เงินกู้ที่ปล่อย จำนวน 100 ล้านบาท ดอกเบี้ย 6% ครบกำหนดชำระคืนปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่ W ขอผลัดผ่อนชำระอีก 6 เดือน

ผู้บริหาร OTO ต้องมีความสนิทสนมกับผู้บริหาร W จึงปล่อยเงินกู้ 100 ล้านบาทให้ ซึ่งการขอยืดเวลาชำระหนี้สะท้อนให้เห็นว่า W มีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน

ส่วน OTO มีคำถามด้ายความโปรงใสในการบริหาร เพราะรายการขายหุ้นเพิ่มทุน 1,200 ล้านบาท ให้กลุ่มบุคคลในวงจำกัด ราคา 60% ซึ่งต่ำกว่าราคาหุ้นในกระดานประมาณ 30% เป็นการขายถูก

แต่การซื้อหุ้นบริษัท แฮปปี้ โปรดักส์ฯ กับหุ้นบริษัท เพอร์ ฟอร์ ออล เป็นการซื้อหุ้นราคาแพง

การขายถูกซื้อแพง คำถามคือ ใครได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งไม่น่าจะเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยแน่

รายการซื้อและขายทรัพย์สินเป็นช่องทางในการผ่องถ่ายทรัพย์สิน ซึ่งในอดีตบริษัทจดทะเบียนมักจะทำรายการซื้อขายทรัพย์สินในราคาที่ไม่เหมาะสม จนสุดท้ายบริษัทจดทะเบียนต้องล่มสลาย เพราะเสียหายจากรายการซื้อขายทรัพย์สิน

อย่างไรก็ตาม ผู้ถือหุ้นรายย่อย OTO ตัวเลขจากการปิดสมุดทะเบียนล่าสุดวันวันที่ 29 มีนาคม 2566 เหลือเพียง 1,507 รายเท่านั้น จากที่เคยมีจำนวน 3,914 ราย ช่วงปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นวันที่ 22 มีนาคม 2565

นักลงทุนส่วนใหญ่หนีตายออกจากหุ้น OTO ไปก่อนหน้าแล้ว เพราะคงเห็นภัยจากหุ้นร้อนตัวนี้

เพียงแต่นักลงทุนที่เหลืออยู่จะทำอย่างไร กับเกมการขายหุ้นถูกๆ และซื้อแพงๆ ของฝ่ายบริหาร OTO เท่านั้น

จะสู้ต่อ ถือหุ้นไว้ หรือเผ่นหนีตายเหมือนเพื่อนนักลงทุนที่ขายทิ้งหุ้น OTO ไปแล้ว








กำลังโหลดความคิดเห็น