เคมีแมนลุยอินเดียเต็มสูบ ประเมินตลาดปูนไลม์จะเติบโตอย่างมากจากนโยบายกระตุ้นธุรกิจหนุนการลงทุนจากต่างชาติของรัฐบาล และการเติบโตของจำนวนประชากร ด้านประธาน “ม.ล.จันทรจุฑา จันทรทัต” เปิดกลยุทธ์ 3 พื้นที่ยุทธศาสตร์ หวังยึดตลาดทั้งภูมิภาคตะวันออก ใต้ เหนือ และตะวันตก พร้อมวางเป้าหมายสู่การเป็นผู้นำตลาดปูนไลม์ของประเทศอินเดีย หนุนผลงานไต่อันดับสู่ผู้ผลิตปูนไลม์ครบวงจร Top 5 ของโลก
หม่อมหลวงจันทรจุฑา จันทรทัต ประธานกรรมการ บริษัท เคมีแมน จำกัด (มหาชน) หรือ CMAN เปิดเผยว่า บริษัทใช้เวลานานกว่า 10 ปี ในการพัฒนาความสัมพันธ์กับคู่ค้าในประเทศอินเดีย จนกระทั่งก้าวสู่การเป็นพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในรูปของการร่วมลงทุนเมื่อหลายปีก่อน และความร่วมมือในการสร้างโรงงานเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทเล็งเห็นโอกาสในอินเดียมานานแล้วเพราะเป็นประเทศขนาดใหญ่ ยังมีการขยายโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาอุตสาหกรรมอีกมาก มีจำนวนประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคน และรัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจ ด้วยนโยบาย "Made in India" ทำให้ปัจจุบันอินเดียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก และมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความต้องการปูนควิกไลม์ และปูนไฮเดรตไลม์มีมากกว่า 16 ล้านตันต่อปี ซึ่งเป็นปริมาณความต้องการที่สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก
ตลาดปูนไลม์ส่วนใหญ่ของอินเดียพึ่งพาการซื้อจากผู้ผลิตในประเทศเป็นหลัก และมีการนำเข้าน้อยกว่า 1 ล้านตันต่อปี เนื่องจากต้นทุนการนำเข้าสูงกว่าการซื้อในประเทศเพราะค่าขนส่งทางเรือและภาษีนำเข้า ดังนั้น การมีโรงงานผลิตปูนไลม์ในประเทศอินเดีย จึงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันที่ตอบโจทย์ในระยะยาว
ทั้งนี้ CMAN มีฐานการผลิตปูนไลม์ของ CMAN ที่ครอบคลุมตลาดเกือบทั้งหมดของอินเดีย ได้แก่
1.Easternbulk Lime Products (ELPPL) ตั้งอยู่ใกล้ท่าเรือ Tuticorin ทางภาคใต้ของอินเดีย เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2562 มีกำลังการผลิตปูนไลม์สูงสุด 100,000 ตันต่อปี ปัจจุบันผลิตเต็มกำลัง และมีผลกำไร
2.Siriman Chemicals (Siriman) ตั้งอยู่ใกล้ท่าเรือ Visakhapatnam ทางภาคตะวันออกของอินเดีย มีกำลังการผลิตปูนไลม์สูงสุด 50,000 ตันต่อปี และปูนไฮเดรตไลม์สูงสุด 35,000 ตันต่อปี เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2564 เริ่มทำกำไรตั้งแต่ 6 เดือนที่ผ่านมา และผลประกอบการมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
3.Khimsar Mine Corporation (KMC) ตั้งอยู่เมืองคิมซ่า รัฐราชสถาน ทางภาคเหนือของอินเดีย โรงงานเฟสแรกคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2568 กำลังการผลิตปูนไลม์ 100,000 ตันต่อปี และจะเพิ่มเป็น 500,000 ตันต่อปีอย่างรวดเร็วตามแผนการในระยะแรก เนื่องจากรัฐราชสถานมีพื้นที่ติดกับรัฐคุชราต และรัฐอุตตรประเทศ ซึ่งเป็นเขตที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดของประเทศอินเดีย ดังนั้น KMC จะสามารถสร้างฐานลูกค้าในอุตสาหกรรมเป้าหมายได้เป็นจำนวนมาก
หม่อมหลวงจันทรจุฑากล่าวเพิ่มว่า “โรงงานของ Easternbulk และ Siriman ตั้งอยู่ใกล้ลูกค้าอุตสาหกรรมจำนวนมาก และยังรองรับความต้องการของลูกค้าที่ตั้งอยู่ในรัศมีกว่า 1,000-2,000 กิโลเมตรจากโรงงานในภาคตะวันออกและภาคใต้ของอินเดีย อย่างไรก็ตาม โรงงานทั้ง 2 แห่งพึ่งพาวัตถุดิบหินปูนเคมีที่นำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ขณะที่ KMC ตั้งอยู่ใกล้เหมืองวัตถุดิบที่เป็นของตัวเอง ซึ่งรัฐราชสถานนั้นเป็นแหล่งวัตถุดิบหินปูนเคมีที่สำคัญของผู้ผลิตปูนไลม์ในประเทศอินเดียมานานแล้ว ทำให้ KMC จะสามารถสร้างและขยายฐานลูกค้าได้กว้างขวางครอบคลุมภาคเหนือและภาคตะวันตกของอินเดีย
บริษัทประเมินว่า ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า มีความเป็นไปได้ที่โรงงานทั้ง 3 แห่งรวมกันจะกลายเป็นฐานการผลิตปูนไลม์ที่ใหญ่กว่าประเทศไทย เราเชื่อมั่นว่าฐานการผลิตเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมตลาดทั่วอินเดียนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนให้ CMAN ก้าวขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจปูนไลม์ระดับ Top 5 ของโลกภายในระยะเวลาอันใกล้