เจ.พี.มอร์แกน มีมุมมองต่อตลาดหุ้นไทยยังคง “เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” (Overweight) มาตรการผ่อนคลายทางการคลัง การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง เงินบาทแข็งค่า และการออกมาตรการโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลมูลค่า 5 แสนล้านบาทหลังการเลือกตั้ง ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตถึง 3.7% ในปี 67 สูงกว่าการเติบโตทั่วโลกเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี
นายมาร์โค สุจริตกุล เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสประจำประเทศไทยของ เจ.พี.มอร์แกน กล่าวเปิดงานประจำปีของธนาคารจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เข้าร่วมโดยหน่วยงานภาครัฐ นักลงทุน และบริษัทต่างๆ ได้เผยมุมมองต่อตลาดหุ้นไทยยังคงเป็นการ “เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” (Overweight) จากแนวโน้มมาตรการผ่อนคลายทางการคลัง การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมไปถึงเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น และโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลของภาครัฐ โดยได้เปิดเผยข้อมูลระหว่างการประชุม J.P. Morgan Thailand Conference ที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในสัปดาห์นี้
การประชุมนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน และนายวิรัตน์ ธัชศฤงคารสกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เข้าร่วมและกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ นโยบายด้านพลังงานและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทย รวมไปถึงอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การผลิตรถยนต์และรถยนต์ไฟฟ้า
จากข้อมูลของธนาคาร แนวโน้มหลังการเลือกตั้งอาจทำให้ GDP ของประเทศไทยเติบโตถึง 3.7% ในปี 2567 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่ประเทศไทยมีการเติบโตสูงกว่าอัตราการเติบโตทั่วโลก บวกกับแนวโน้มมาตรการผ่อนคลายทางการคลังที่ชัดเจนของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (U.S.Federal Open Market Committee: FOMC) ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 เจ.พี.มอร์แกน ได้ตั้งเป้าหมายพื้นฐานที่ 550 สำหรับดัชนี MSCI Thailand ซึ่งในอดีตให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 10% ถึง 11% ในช่วงหนึ่งถึงสามเดือนหลังจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก
นอกจากนี้ เจ.พี.มอร์แกนได้คาดการณ์ว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะขึ้นแตะระดับ 1,700 ภายในสิ้นปี จากระดับปัจจุบันที่ 1,418
นายมาร์โค สุจริตกุล เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสประจำประเทศไทยของ เจ.พี.มอร์แกน กล่าวว่า “เรามีความมั่นใจในตลาดไทยแม้ว่าสภาวะการเงินโลกจะยังค่อนข้างตึงตัว เราคาดว่าตลาดไทยจะมีความพร้อมจากหลายปัจจัย เช่น การเติบโตของ GDP ที่เข้มแข็ง และการมีบัญชีเดินสะพัดเกินดุลที่ดี ซึ่งจะช่วยให้สามารถต้านแรงจากทิศทางตลาดโลกได้”
บัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขการค้าที่ดีขึ้น ราคาน้ำมันและค่าขนส่งที่ลดลง ความสมดุลของสินค้าหลักที่มั่นคง บวกกับการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เจ.พี.มอร์แกนคาดการณ์ว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเพิ่มขึ้น จาก 0.8% ของ GDP ในปี 2566 เป็น 4.1% ของ GDP ในปี 2567
นายมาร์โค กล่าวเสริมว่า “การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจะช่วยปรับปรุงการจ้างงานของภาคบริการต่อไป ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตของรายได้ในระดับปานกลาง โดยโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลมูลค่า 5 แสนล้านบาท รวมไปถึงนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายอื่นๆ ของภาครัฐ หากประสบความสำเร็จจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ค้าปลีกในประเทศไทยอย่างครอบคลุม”
ในปีที่ผ่านมา ได้มีเงินทุนไหลออกจากตลาดมากกว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม คาดว่ากระแสเงินทุนต่างชาติที่ไหลออกจะถึงจุดต่ำสุดในปี 2567 เนื่องจากโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในด้านนโยบายการคลัง
นายราจีฟ ภัทร นักยุทธศาสตร์ด้านหุ้นในเอเชียและหัวหน้านักยุทธศาสตร์ด้านหุ้นอาเซียนของ เจ.พี.มอร์แกน กล่าวว่า “แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถหลีกหนีจากภาวะถดถอยในปีนี้ได้ แต่ความเสี่ยงของการชะลอตัวในปี 2567 ยังคงเพิ่มสูงขึ้น”
นายราจีฟ ภัทร นักยุทธศาสตร์ด้านหุ้นในเอเชียและหัวหน้านักยุทธศาสตร์ด้านหุ้นอาเซียนของ เจ.พี.มอร์แกน กล่าวว่า “แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถหลีกหนีจากภาวะถดถอยในปีนี้ได้ แต่ความเสี่ยงของการชะลอตัวในปี 2567 ยังคงเพิ่มสูงขึ้น”
นายราจีฟ กล่าวเสริมว่า “ในมุมมองของเรา ตลาดหุ้นอาเซียนอาจมีการปรับตัวลดลง ในขณะที่การไหลออกของเงินทุนต่างประเทศยังคงมีความเป็นไปได้อย่างสูง อย่างไรก็ตามจุดยืนของนักลงทุนต่างชาติไม่น่าส่งผลกระทบหนักถึงขั้นเงินทุนไหลออกนอกประเทศในระดับสูง นักลงทุนควรมุ่งเน้นไปที่หุ้นและอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพที่มีปัจจัยเฉพาะตัวที่จะสามารถช่วยชดเชยแรงต้านจากภาวะเศรษฐกิจโลกได้”
นายจักรพันธ์ (เข้) พรพรรณรัตน์ หัวหน้าสายงานวิจัยหลักทรัพย์ของ เจ.พี.มอร์แกน กล่าวว่า “ในส่วนของอุตสาหกรรมภายในประเทศ เจ.พี.มอร์แกน มีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับหุ้นในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค หมวดสินค้าฟุ่มเฟือย และหมวดสาธารณูปโภค”
นายจักรพันธ์ กล่าวปิดท้ายว่า “ประเทศไทยกำลังก้าวไปอีกขั้นในการดึงดูดกระแสการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะคิดเป็นประมาณ 16% ของการผลิตยานยนต์ต่อปีทั้งหมดในประเทศไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า”
ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน (กลาง) และนายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก (ขวา) พูดคุยเกี่ยวกับนโยบายและกลยุทธ์บริหารจัดการต้นทุนพลังงานทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การใช้พลังงานสะอาด โดยมีนายสุเมธ สามัญ หัวหน้าการวิจัยด้านพลังงานภูมิภาคอาเซียนของบริษัท เจ.พี.มอร์แกนอำนวยการพูดคุยในครั้งนี้
นายวิรัตน์ ธัชศฤงคารสกุล (ขวา) รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และ น.ส.จรีพร จารุกรสกุล (กลาง) ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแรงจูงใจต่างๆ ที่จะดึงดูดการลงทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมของไทย เช่น การผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยมีนายจักรพันธ์ พรพรรณรัตน์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยตราสารทุนไทย บริษัท เจ.พี.มอร์แกน เป็นผู้อำนวยการสนทนา