นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (23 ม.ค.) ที่ระดับ 35.64 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.67 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.45-35.75 บาท/ดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้าค่าเงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย (แกว่งตัวในช่วง 35.58-35.68 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้างตามการย่อตัวของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ในฝั่งตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่หนุนให้บรรดาดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้างตามอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ผันผวนอ่อนค่าลงทะลุระดับ 148 เยนต่อดอลลาร์อีกครั้ง ในช่วงก่อนที่ตลาดจะทยอยรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันนี้ ซึ่งบรรดาผู้เล่นในตลาด (รวมถึงเรา) ต่างคาดว่า BOJ จะยังไม่มีการส่งสัญญาณพร้อมทยอยปรับใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในการประชุมครั้งนี้ และจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.10% พร้อมคงมาตรการ Yield Curve Control ไว้ตามเดิม ทำให้เงินเยนญี่ปุ่นมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงและหนุนให้เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นได้ไม่ยาก
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง หากเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงต่อเนื่องสู่ระดับ 149-149.50 เยนต่อดอลลาร์ ตามที่เราประเมินไว้ ในกรณีที่ BOJ ไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งภาพดังกล่าวจะยิ่งหนุนให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ขณะเดียวกัน อาจเห็นโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) จากผู้เล่นในตลาดเพิ่มเติมได้ หลังล่าสุด เงินเยนญี่ปุ่นเทียบเงินบาท (JPYTHB) เริ่มมีแนวโน้มย่อตัวลงเข้าใกล้แนวรับ 23.80 บาทต่อ 100 เยน นอกจากนี้ เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติมจากแรงขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ หลังล่าสุด ผลประกอบการของบรรดาสถาบันการเงินส่วนใหญ่ต่างออกมาน่าผิดหวัง ทำให้เรากังวลว่า นักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบกลับเข้าซื้อหุ้นไทยจนกว่าจะเห็นแนวโน้มผลประกอบการโดยรวมที่ดีขึ้นชัดเจน ทั้งนี้ แม้ว่าเงินบาทอาจผันผวนอ่อนค่าลงได้ แต่เราประเมินว่าการอ่อนค่าของเงินบาท อาจจำกัดในโซนแนวต้าน 35.70-35.80 บาทต่อดอลลาร์ สอดคล้องกับมุมมองเราในต้นสัปดาห์ที่ประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทอาจชะลอลงบ้าง อย่างไรก็ตาม เงินบาทอาจอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวได้ หากตลาดต่างเลิกเชื่อว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยได้เร็วและลึก และเริ่มกลับไปเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ตาม Dot Plot ล่าสุด หรือ ไม่ต่างจาก Dot Plot มากนัก
ส่วนโซนแนวรับเงินบาทในช่วงที่ยังขาดปัจจัยสนับสนุนฝั่งแข็งค่าขึ้น จะยังคงเป็นโซน 35.40-35.50 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม หรือนักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยต่อเนื่องได้
สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยเราคาดว่า BOJ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.10% พร้อมคงมาตรการ Yield Curve Control ไว้ตามเดิม อย่างไรก็ดี เราจะจับตาว่ามุมมองของ BOJ ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง หรือ BOJ มีการส่งสัญญาณต่อโอกาสในการปรับใช้นโยบายการเงินให้เข้มงวดมากขึ้นหรือไม่ เพราะหาก BOJ ยังไม่มีการส่งสัญญาณดังกล่าว หรือ แสดงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ BOJ ก็อาจกดดันให้ค่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่องจากระดับ 148 เยนต่อดอลลาร์ ทดสอบโซน 149-149.50 เยนต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก
และนอกเหนือจากผลการประชุม BOJ เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดจะติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะจากบรรดาบริษัทขนาดใหญ่ เช่น Netflix ซึ่งอาจส่งผลต่อบรรยากาศในตลาดการเงินในช่วงนี้ได้พอสมควร