โรงงานเภสัชอุตสาหกรรมฯ มองปีหน้าราคายาพุ่งขั้นต่ำ 20% จาก 4 ปัจจัย ทั้งเหตุความไม่สงบระหว่างประเทศ ต้นทุนขนส่งพุ่ง สังคมผู้สูงวัย และต้นทุนการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น ชี้ต้นทุนรักษาพยาบาลกว่า 65% เป็นราคายา หากราคายาปรับสูงขึ้น จะส่งผลผู้คนเข้าถึงการรักษาน้อยลง แต่หนุนเทรนด์ดูแลสุขภาพเชิงป้องกันเติบโตโดดเด่น เผยปีหน้า JSP มีโอกาสรับลูกค้า OEM สมุนไพรมากขึ้น
นายสิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ JSP และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ทิศทางตลาดอุตสาหกรรมยาทั่วโลกในปี 2567 มีแนวโน้มจะปรับราคายาขึ้นไปอย่างต่ำ 20% เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่นำมาเป็นส่วนผสมยาปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับจากมีการระบาดของโควิด -19 โดยเฉพาะต้นทุนส่วนของผสมพาราเซตามอล เพนนิซิลิน ไอบรูโพรเฟน และส่วนผสมของยาปฏิชีวนะส่วนใหญ่ล้วนปรับตัวสูงขึ้น โดยธุรกิจวัตถุดิบและสารปรุงแต่งยาทั่วโลกส่วนใหญ่มีศูนย์กลางอยู่ที่เอเชีย ซึ่งมีอินเดียและจีนเป็นผู้เล่นหลัก จีนและอินเดียครองส่วนแบ่งการตลาดสำหรับวัตถุดิบทางเภสัชกรรม 60% โดยมีลูกค้า 80% อยู่ในประเทศในสหภาพยุโรป
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้ราคายาในปี 2567 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนั้นมาจาก ปัจจัยหลัก 4 ด้าน ดังนี้
1.ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ทั้งรัสเซีย-ยูเครน อิสราเอล-ฮามาส รวมถึงความขัดแย้งภายในประเทศในพื้นที่อื่นๆ เช่น พม่า ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ความต้องการยามีสูงขึ้น
2.ต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ปัจจัยนี้เป็นผลต่อเนื่องมาจากปัจจัยความไม่สงบในพื้นที่ต่างๆ ที่กระทบมาถึงราคาพลังงานที่สูงขึ้น ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตยามีต้นทุนในการขนส่งมากขึ้นในปี 2565
3.สังคมผู้สูงอายุที่กำลังเกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลก เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ความต้องการยามีมากขึ้น จากความต้องการที่มากขึ้นนี้ส่งผลให้ยาบางประเภทขาดตลาด และทำให้มีราคาสูงขึ้น
4.ต้นทุนการผลิตโดยรวมที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าแรง และเครื่องจักร
หากราคายาเปลี่ยนแปลง การเข้าถึงการรักษาพยาบาลเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลประมาณ 65% ขึ้นอยู่กับยา ดังนั้นเทรนด์ในการดูและสุขภาพของคนรุ่นใหม่ในปี 2567 จึงจะได้รับความนิยมมากขึ้น เช่น เทรนด์การดูและสุขภาพเชิงป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วย และการกินอาหารเป็นยา เป็นต้น ซึ่งเทรนด์เหล่านี้จะส่งผลดีต่อธุรกิจสมุนไพรและอาหารเสริม ทั้งหมดนี้ถือเป็นโอกาสของประเทศไทยในการผลักดันสมุนไพรและอาหารเสริมให้มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานระดับสากล ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถเข้าถึงห้องแล็บมาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันไทยส่งออกสมุนไพร 20% ใช้ในประเทศ 80% หากสามารถยกระดับการผลิตให้ได้มาตรฐานโลกจะส่งผลให้ตลาดสมุนไพรไทยเติบโตได้อีกหลายเท่า
“ปีหน้า JSP มีแนวโน้มยอดขายโตขึ้นจากลูกค้าสมุนไพรที่เข้ามา OEM มากขึ้น เนื่องจากเป็นการจับมือกันระหว่างโรงงานมาตรฐาน คือ JSP กับผู้ประกอบการรายเล็กที่มีสายป่านไม่ยาวมาก แต่ต้องการผลิตยาและอาหารเสริมที่ได้มาตรฐานระดับโลก เทรนด์การดูแลสุขภาพเชิงป้องกันจึงส่งผลดีต่อ JSP ทั้งทางตรงและทางอ้อม” นายสิทธิชัย กล่าว