นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทย ธนาคารโลก กล่าวว่า ธนาคารโลกคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยปี 2566 ที่ 2.5% จากประมาณการเดิมที่ 3.4% และปี 2567 ที่ 3.2% จากเดิมที่ 3.5% โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ได้รับผลกระทบจากการหดตัวและการลดการใช้จ่ายภาครัฐ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะชะลอตัวลงสู่ 1.1% ในปี 2567 ตามราคาพลังงานที่ลดลง ทั้งนี้ หากรวมเงินจากโครงการกระเป๋าเงิน 10,000 บาท ที่มีการวางแผนไว้ ซึ่งมูลค่าโครงการคิดเป็น 2.7% ของจีดีพีแล้วจะปรับเพิ่มจีดีพีอีกประมาณ 1% กระจายไปใน 2 ปีข้างหน้า แต่จะส่งผลให้การขาดดุลทางการคลังอาจเพิ่มขึ้นเป็น 4-5% ของจีดีพี และหนี้สาธารณะอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 65-66% ของจีดีพี
"การเติบโตของจีดีพีไทยหลังโควิดนับว่าอยู่ในอัตราที่ต่ำสุดเมื่อเทียบกับภูมิภาค ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจโลกที่เติบโตชะลอลง แต่มีปัญหาทางโครงสร้างร่วมด้วย จากที่เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวสูง ดังนั้น การแก้ไขในเชิงโครงสร้างเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อหาแรงขับเคลื่อนใหม่ ทำได้ด้วยการลงทุนปรับโครงสร้างต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมต่างๆ หรือทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงการเพิ่มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มที่มีนวัตกรรม ขณะที่พื้นที่ทางการคลังแม้ว่าจะยังมีเหลือ แต่ควรตั้งเป้าหมายให้ถูกจุด รวมถึงการเพิ่มพื้นที่ทางการคลังด้วยช่องทางภาษีเพื่อนำเงินมาลงทุนในกลุ่มที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะการลงทุนใน Green Economy เพื่อสร้างความยั่งยืนต่อไป"