xs
xsm
sm
md
lg

TMILL ปันผลหลังงวด 9 เดือนผลงานโต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





ที เอส ฟลาวมิลล์ เผย 9 เดือนปี 66 มีรายได้จากยอดขาย 1,430.75 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 56.84 ล้านบาท แม้เผชิญความผันผวนต้นทุน และราคาจำหน่ายแป้งสาลีปรับสูงขึ้นมาก พร้อมยึดมั่นสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้น บอร์ดไฟเขียวปันผลระหว่างกาล อัตราหุ้นละ 0.08 บาท กำหนดจ่าย 23 พ.ย.นี้


นางแววตา กุลโชตธาดา ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน (CFO) บริษัท ที เอส ฟลาวมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TMILL เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทในไตรมาส 3/2566 (สิ้นสุด 30 กันยายน 2566) บริษัทมีกำไรสุทธิ 1.29 ล้านบาท และมีรายได้จากการจำหน่ายลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 505.23 ล้านบาท โดยลดลง 2.7% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 519.41 ล้านบาท โดยรายได้จากการจำหน่ายแป้งสาลีลดลง 4.2% ส่วนรายได้จากการจำหน่ายรำข้าวสาลีเพิ่มขึ้น 1.4%

โดยที่ปริมาณจำหน่ายแป้งสาลีและรำข้าวสาลีเพิ่มขึ้น 7.3% และ 12.4% แต่ราคาจำหน่ายแป้งสาลีและรำข้าวสาลีเฉลี่ยลดลง 11.2% และ 1.1% ตามลำดับ ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาส 3/2566 ลดลง 9.1% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากจากราคาจำหน่ายแป้งสาลีที่ปรับลดลงถึง 11.2% แต่ต้นทุนปรับเพิ่มขึ้น 0.3% อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 3/66 นี้ บริษัทมีกำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 75.44% เพิ่มขึ้น 5.38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 70.06%

สำหรับงวด 9 เดือนของปี 2566 บริษัทมีรายได้จากการจำหน่ายอยู่ที่ 1,430.75 ล้านบาท ลดลง 1.1% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 1,446.16 ล้านบาท โดยที่รายได้จากการจำหน่ายแป้งสาลีลดลง 1.9% ส่วนรายได้จากการจำหน่ายรำข้าวสาลีเพิ่มขึ้น 0.8% ทั้งนี้ มาจากปริมาณจำหน่ายแป้งสาลีและรำข้าวสาลีลดลง 4.0% และ 5.6% ถึงแม้ว่าราคาจำหน่ายแป้งสาลีและรำข้าวสาลีเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้น 2.0% และ 12.2% ก็ตาม ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นลดลง 2.5% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากราคาจำหน่ายแป้งสาลีเฉลี่ยที่ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 2.0% แต่ต้นทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 6.5% ส่งผลให้งวด 9 เดือนแรกปี 2566 บริษัทมีกำไรสุทธิ 56.84 ล้านบาท ลดลง 34.51 ล้านบาท คิดเป็น 37.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ ภาวะอุตสาหกรรมของตลาดข้าวสาลีและแป้งสาลีในปีที่ผ่านมา ราคาตลาดข้าวสาลีและแป้งสาลีปรับสูงขึ้นมาก แต่ปัจจุบันราคาตลาดข้าวสาลีเริ่มปรับตัวลดลงตั้งแต่ปลายไตรมาส 1 ที่ผ่านมา จึงทำให้บางโรงโม่ทำการเร่งระบายสต๊อกข้าวเก่าที่ราคาสูงโดยยอมขายราคาขาดทุน และทำให้ลูกค้าหลายรายนำราคาที่ได้นั้นมาต่อรองกับทางบริษัท ทั้งนี้ บริษัทจึงจำเป็นต้องลดราคาจำหน่ายแป้งให้ลูกค้าเพื่อรักษาความสัมพันธ์ไว้ ทั้งที่ราคาตลาดที่ลดลงนั้นยังไม่ได้สะท้อนมาถึงต้นทุนในปัจจุบันนี้ จึงทำให้บางสัญญาต้องยอมขายในราคาที่ขาดทุน ส่งผลต่ออัตรากำไรขั้นต้นที่ลดลงตั้งแต่ไตรมาส 2 และลดลงอย่างมากในไตรมาส 3 นี้

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมีผลการดำเนินงานรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเมื่อเทียบกับธุรกิจในกลุ่มสินค้าเกษตรด้วยกัน และถึงแม้จะต้องเผชิญกับความผันผวนอย่างรุนแรงของราคาต้นทุน และราคาจำหน่ายแป้ง จนทำให้ผลประกอบการกำไรลดลงก็ตาม แต่ TMILL ยังคงยึดมั่นในการสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นด้วยการประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล จากผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ให้แก่ผู้ถือหุ้น ในอัตราหุ้นละ 0.08 บาท (แปดสตางค์) รวมจ่ายเงินปันผลทั้งสิ้น 31,893,124.88 บาท โดยกำหนดการจ่ายเงินปันในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 พร้อมกันนี้ บริษัทยังคงดำเนินงานตามกลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยมีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตไปพร้อมกับการสร้างคุณค่าทางสังคม และสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานของการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยผนวกแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้เป็นหนึ่งเดียวกับธุรกิจ ตามวิสัยทัศน์อย่างต่อเนื่อง โดยมีการดำเนินงานตามกลยุทธ์ในไตรมาส 3 ดังนี้

กลยุทธ์ที่ 1 การกำกับดูแลกิจการที่ดีให้เติบโตอย่างยั่งยืน ในไตรมาสนี้ บริษัทได้รับการประกาศว่าเป็นบริษัทที่ติดอันดับบริษัทจ่ายปันผลดีเด่นต่อเนื่องติดต่อกัน 10 ปีซ้อน ซึ่ง TMILL ติดอันดับที่ 11 จากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมด นอกจากนี้ ยังได้รับการประเมินจากโครงการประเมินคุณภาพการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประจำปี 2566 (AGM Checklist) ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย โดยในปีนี้ TMILL ได้รับคะแนนสูงสุด 100 คะแนนเต็ม หรือ “ระดับดีเยี่ยม” ซึ่งสะท้อนให้เห็นความตั้งใจของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโดยมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความโปร่งใส ปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียอย่างเท่าเทียมกัน และส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นได้มีส่วนร่วมในการบริหารงาน และ TMILL จะรักษาและพัฒนาประสิทธิภาพการจัดประชุมผู้ถือหุ้นให้อยู่ในมาตรฐานที่ดียิ่งขึ้นในทุกปี

ส่วนผลการประเมินบริษัทจดทะเบียนที่มีการกำกับดูแลกิจการ บริษัทได้รับคะแนนระดับ 4 ดาว "ดีมาก" จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ตอกย้ำศักยภาพการดำเนินงานของบริษัทที่มุ่งดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล และเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 บริษัทยังคงเดินหน้ากิจกรรมพบนักลงทุนสัมพันธ์ในงาน Opportunity Day เพื่อชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจและการดำเนินงานของบริษัทแก่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ นักลงทุน และสื่อมวลชน อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสื่อสารข้อมูลฐานะทางการเงินของบริษัทเพิ่มขึ้นอีกช่องทางหนึ่ง

กลยุทธ์ที่ 2 ดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของพนักงาน สังคมและชุมชน โดยบริษัทยังคงมีการฝึกอบรมให้แก่พนักงานอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพให้แก่พนักงาน จำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่

• หลักสูตร Internal Audit IQA (การตรวจติดตามภายใน) GHPs/HACCP/ISO22000/FSSC22000 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมระบบคุณภาพต่างๆ ของอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่ มาตรฐาน GHPs/HACCP/ISO22000/FSSC22000 ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียตลอดในห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่ผู้ผลิตเบื้องต้นจนถึงผู้บริโภคขั้นสุดท้าย ว่าสามารถป้องกันอันตราย หรือสิ่งปนเปื้อนทางชีวภาพ เคมี และกายภาพของอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมด เข้าร่วมจำนวน 34 คน

• หลักสูตรการจัดการแมลงและสัตว์พาหะในสถานประกอบการ บริษัทให้ความสำคัญกับการรักษาสุขอนามัยและความสะอาดซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมอาหารที่มีการแข่งขันสูง นับตั้งแต่ขั้นตอนการการผลิต กระบวนการต่างๆ ไปจนถึงกระบวนการขายให้แก่ผู้ลูกค้า จำเป็นจะต้องมั่นใจว่ากระบวนการต่างๆ เหล่านี้ปราศจากการรบกวนของสัตว์รบกวนที่จะส่งผลกระทบไปถึงลูกค้า บริษัทจึงได้จัดอบรมเพื่อพัฒนาพนักงานผู้ปฏิบัติงานให้เรียนรู้การวางแผนในการควบคุม กำจัดสัตว์พาหะนำโรค ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในทุกขั้นตอน การจัดการกับความเสี่ยงในการพบเชื้อจุลินทรีย์ที่มาจากสัตว์พาหะ เช่น Salmonella spp รวมไปถึงการให้คำแนะนำแก่พนักงานต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้น โดยมีพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมดเข้าร่วมจำนวน 36 คน

• หลักสูตรการควบคุมรถโฟล์คลิฟต์อย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยการอบรมโฟล์คลิฟต์ เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายในปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากรถโฟล์คลิฟต์มีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายหรือจัดเรียงสินค้าที่มีน้ำหนักมาก รวมทั้งยังเป็นการป้องกันอันตรายและโรคที่อาจเกิดจากการทำงานให้แก่พนักงาน มีพนักงานที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในการขับรถโฟล์คลิฟต์เข้าร่วมจำนวน 15 คน

ในด้านการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย ความมั่นคงอาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (Safety, Security, Health and Environment Management System - SSHE MS) ในไตรมาส 3 ปี 2566 บริษัทยังคงรักษาสถิติการเกิดอุบัติเหตุให้เป็น 0 ได้อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 2,364 วัน นอกจากนี้ บริษัทยังได้ร่วมถวายเทียนพรรษาร่วมกับชุมชนบริเวณโรงงาน ณ วัดปุณหังสนาวาส เพื่อเป็นการสร้างสัมพันธภาพกับชุมชน และทอดผ้าป่าโรงเรียนปุณหังสนาวาส (ร.ร.วัดสำโรงใต้) เพื่อสนับสนุนการจัดหาสื่อการเรียนรู้ และทุนเพื่อจ้างผู้สอนให้แก่โรงเรียนปุณหังสนาวาส จำนวน 10,000 บาท

และกลยุทธ์ที่ 3 ดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในไตรมาสนี้ บริษัทได้ประกาศเข้าร่วมโครงการแยกขยะ “ทิ้ง ทู แทรช” เพื่อให้พนักงานมีความเข้าใจ เล็งเห็นความสำคัญของการแยกขยะและสามารถแยกขยะอย่างถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง ปลายทาง และสร้างความร่วมมือร่วมกันในองค์กรในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยจะเป็นจุดเชื่อมโยงการแยกขยะไปสู่ครัวเรือนของพนักงาน และยังดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกตามแผนงานและหาโอกาสจากการพัฒนาเทคโนโลยี เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนและมองหาพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่เพื่อนำมาใช้ในพื้นที่ปฏิบัติการ

นางแววตา กล่าวทิ้งท้ายว่า ภายใต้สถานการณ์ของภาวะอุตสาหกรรมของตลาดข้าวสาลีและแป้งสาลีที่ปรับสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปัจจัยที่เข้ามากระทบผลประกอบการ แต่ถือเป็นบททดสอบที่ท้าท้ายของฝ่ายบริหารของบริษัทที่จะร่วมกันฝ่าฟันวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน และมั่นใจว่าจะสามารถฝ่าฟันไปได้ในที่สุดเช่นเคย พร้อมไม่หยุดนิ่งที่จะสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ควบคู่กับการกำกับดูแลกิจการที่ดีพร้อมกับการดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มุ่งสร้างผลตอบแทนที่ดีให้ผู้ถือหุ้นดังเช่นที่บริษัทได้กระทำมาอย่างต่อเนื่อง


กำลังโหลดความคิดเห็น