ก.ล.ต. ส่งหนังสือเวียนกำชับคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนทำหน้าที่และตระหนักถึงความรับผิดชอบในการบริหารจัดการ กำกับดูแล รวมถึงป้องกันและป้องปรามพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของบริษัทจดทะเบียน พร้อมจัดทำ "แนวปฏิบัติสำหรับคณะกรรมการบริษัท" ภายใต้โครงการบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์เข้มแข็ง เพื่อให้บอร์ดนำไปประกอบการทำหน้าที่ให้การกำกับดูแลการดำเนินการของบริษัทจดทะเบียนนั้นเป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส และเป็นไปเพื่อผลประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้นโดยรวมเป็นสำคัญ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.แจ้งว่า ก.ล.ต. ได้ริเริ่ม "โครงการบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์เข้มแข็ง" เมื่อปลายปี 2565 เพื่อยกระดับการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความยั่งยืนให้แก่บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ พร้อมทั้งส่งเสริมการทำหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เช่น คณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการตรวจสอบ เลขานุการบริษัท และผู้สอบบัญชี เพื่อให้มั่นใจว่าบุคลากรในแต่ละกลุ่มสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นโดยรวมได้อย่างแท้จริง
ก.ล.ต.เห็นว่าคณะกรรมการบริษัทในฐานะตัวแทนของผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลที่สำคัญมากในการบริหารจัดการและกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนให้มีการดำเนินการที่ถูกต้องและเหมาะสม เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ก.ล.ต.จึงได้ส่งหนังสือเวียนถึงกรรมการบริษัทจดทะเบียนทุกแห่งเพื่อซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทในการบริหารจัดการ กำกับดูแล รวมถึงป้องกันและป้องปรามพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของบริษัทจดทะเบียน และได้จัดทำแนวปฏิบัติสำหรับคณะกรรมการบริษัท* ภายใต้โครงการบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์เข้มแข็ง เพื่อเน้นย้ำบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทในเรื่องที่สำคัญดังนี้
1.องค์ประกอบและโครงสร้างของคณะกรรมการบริษัทที่ดีต้องมีกรรมการอิสระที่เป็นอิสระจากฝ่ายจัดการ ในจำนวนที่เพียงพอ และมีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งที่เหมาะสม ตลอดจนกรรมการบริษัทต้องเป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลาย และจัดสรรเวลาได้อย่างเหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับหลักปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
2.บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทที่จะช่วยป้องกันและป้องปรามพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรับผิดชอบในเรื่องการจัดให้มี ระบบควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ เพียงพอ และเหมาะสม การติดตามและการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมสำคัญของบริษัทจดทะเบียน การสื่อสารกับผู้ถือหุ้น ตลอดจนการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
3.การสนับสนุนและส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการชุดย่อย ผู้บริหารสูงสุดทางด้านบัญชีและการเงิน เลขานุการและหน่วยงานนักลงทุนสัมพันธ์ เป็นต้น รวมถึงหน่วยงานภายนอก เช่น ผู้สอบบัญชี ที่ปรึกษาทางการเงิน เป็นต้น
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 ก.ล.ต. ได้ส่งหนังสือเวียนพร้อมด้วยแนวปฏิบัติที่ดีของคณะกรรมการตรวจสอบ** เพื่อสื่อสารความคาดหวังเกี่ยวกับบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบในการสอดส่องและป้องกันพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของบริษัทจดทะเบียนแล้ว
ทั้งนี้ ก.ล.ต. เชื่อมั่นว่า หากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเองจะทำให้บริษัทจดทะเบียนมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ส่งผลให้ตลาดทุนไทยเป็นแหล่งระดมทุนที่ได้รับความเชื่อถือจากผู้ลงทุนและส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
* หมายเหตุ :
หนังสือเวียนที่ กลต. นร. (ว) 35/2566 เรื่อง การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของของคณะกรรมการบริษัท ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2566
** หนังสือเวียนที่ กลต. นร. (ว) 23/2566 เรื่อง การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบ ลงวันที่ 12 กันยายน 2566