xs
xsm
sm
md
lg

กำไรแบงก์ Q3 โต 10.52% สำรองเพิ่ม-คุมเข้มปล่อยกู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กำไรสุทธิธนาคารพาณิชย์ประจำไตรมาส 3 และ 9 เดือนแรกของปี 2566 โดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น 10.52% และ 13.65% ตามลำดับ แม้จะยังได้รับแรงหนุนจากดอกเบี้ยขาขึ้น แต่จากภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง และปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ยังคงต้องมีการกันสำรองเพิ่มขึ้นจากระดับปกติ แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงบ้าง ขณะที่แนวโน้มในช่วงไตรมาสสุดท้ายแม้จะเป็นช่วงไฮซีซันของเศรษฐกิจไทย แต่ยังมีความเสี่ยงอีกหลากหลายที่รุมเร้าอยู่เช่นกัน

ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ไทย 10 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงไทย (KTB) บริษัทเอสซีบี เอกซ์ (SCB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) ธนาคารทืสโก้ (TISCO) กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) บริษัทแอล เอชไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHFG) และธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) มีกำไรสุทธิรวม 59,468 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.52% ล้านบาท โดยธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 6 อันดับแรก มีกำไรสุทธิไตรมาส 3 ปี 2566 ที่ 55.405 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.60% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิจำนวน 48,769 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 จำนวน 167,612 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิจำนวน 143,973 ล้านบาท โดย BBL กำไรเติบโตสูงสุด 48% รองลงมาเป็น TTB กำไรเติบโต 27% ขณะที่ SCB มีกำไรงวดไตรมาส 3 ปี 66 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.26% และ CIMBT มีกำไรไตรมาส 3 ปี 66 ลดลง 47.19%

รายได้เพิ่มรับแรงหนุนดอกเบี้ย

น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี 2566 แม้เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่แรงหนุนจากมาตรการของภาครัฐในปีนี้น่าจะมีจำกัด ประกอบกับยังต้องติดตามผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญต่อผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร รวมถึงผลกระทบจากระดับหนี้ครัวเรือนและต้นทุนทางการเงินที่อยู่ในระดับสูงที่อาจกดดันทิศทางการใช้จ่ายภายในประเทศ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความตึงเครียดในอิสราเอลอย่างใกล้ชิด เพราะหากสถานการณ์ยืดเยื้อหรือขยายวงกว้างออกไปอาจทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกผันผวนในกรอบสูงเป็นเวลานาน ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย และทำให้ตลาดการเงินรวมถึงค่าเงินบาทมีความผันผวนตามไปด้วย

ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยยังคงดำเนินการตามหลักความระมัดระวังรอบคอบอย่างสม่ำเสมอในการพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) เพื่อเสริมความแข็งแกร่งควบคู่ไปกับการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์เชิงรุกอย่างต่อเนื่อง คำนึงถึงสัญญาณการชะลอตัว และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่ยังส่งผลให้การขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจในประเทศอยู่ในกรอบจำกัดตามที่กล่าวข้างต้น จึงพิจารณาตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 31.35% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเปรียบเทียบสำรองในไตรมาส 3 กับไตรมาสก่อนๆ สำรองยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ซึ่งสอดคล้องกับที่ธนาคารได้ประมาณการไว้ก่อนหน้า นอกจากนี้ ธนาคารยังมีการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพอย่างสม่ำเสมอตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร

ด้านนายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท เอสซีบี เอกซ์ มีผลประกอบการที่มั่นคงอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 3 ปี 2566 มีการเติบโตของรายได้ที่แข็งแกร่ง การบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ และการบริหารคุณภาพสินเชื่ออย่างรัดกุม โดยธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งเป็นบริษัทหลักในกลุ่ม มีขีดความสามารถในการทำกำไรสูง บริษัทได้ตั้งสำรองพิเศษเพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ เพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น โดยคุณภาพสินเชื่อโดยรวมมีแนวโน้มที่ควบคุมได้ดี
 
นายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่องของธนาคารได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ทั้งจากธุรกิจในประเทศและต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงรักษาความเข้มงวดระมัดระวังในการบริหารจัดการความเสี่ยงอยู่เสมอ

ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในช่วง 9 เดือนแรกของปี แม้ว่าจะเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงกว่าที่คาดการณ์อันเนื่องมาจากอุปสงค์ในต่างประเทศที่อ่อนตัวลง ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ โดยได้รับแรงขับเคลื่อนของการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและผลจากฐานที่ต่ำในไตรมาสที่ 4 ของปีก่อนหน้า กรุงศรียังคงเป้าหมายการเติบโตของเงินให้สินเชื่อปี 2566 ไว้ที่ 3-5%

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงเผชิญกับความผันผวนจากทั้งในและนอกประเทศ ธนาคารยังคงใช้นโยบายการเติบโตสินเชื่อใหม่อย่างระมัดระวัง เนื่องจากมองว่าการเร่งเติบโตสินเชื่อท่ามกลางภาวะที่ไม่เอื้ออำนวยนี้อาจก่อให้เกิดหนี้เสียและภาระการตั้งสำรองตามมาในภายหลัง ขณะเดียวกัน ธนาคารยังคงมีแนวทางการขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้อย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อดูแลลูกค้า ดังนั้น การสร้างรายได้และผลตอบแทนจากดอกเบี้ยจึงเน้นไปที่เรื่องของการใช้เงินทุนและสภาพคล่องที่มีอยู่ให้ได้รับประโยชน์จากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินให้มีประสิทธิภาพในการบริหารพอร์ตเพื่อหนุนรายได้และผลตอบแทนจากดอกเบี้ย

สำหรับการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปี ธนาคารมองว่าสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจจะยังคงมีความท้าทายอยู่ จึงยังยึดแนวทางการเติบโตสินเชื่ออย่างระมัดระวังเช่นเดิม ด้านการแข่งขันด้านเงินฝากคาดว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งย่อมสร้างแรงกดดันต่อต้นทุนเงินฝาก ดังนั้น การขยายฐานเงินฝากในระยะถัดไปจะต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างต้นทุนทางการเงินและผลตอบแทนด้านสินเชื่อ

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า ในระยะข้างหน้า กลุ่มทิสโก้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3% ส่วนหนึ่งจากงบประมาณภาครัฐที่ล่าช้า การลงทุนภาคเอกชนยังเปราะบางจากแรงถ่วงของภาคการส่งออกที่อ่อนแอต่อเนื่อง และผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ในส่วนของต้นทุนทางการเงิน ยังคงอยู่ในทิศทางขาขึ้น จากการปรับดอกเบี้ยเงินฝากที่เพิ่มขึ้นของสถาบันการเงิน ขณะที่การดำเนินธุรกิจของกลุ่มทิสโก้ยังคงยึดมั่นในหลักการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ และมุ่งเน้นการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน รวมถึงให้ความช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ทั้งผ่านมาตรการที่ทิสโก้ดำเนินการขึ้นเอง และมาตรการที่ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐตามความเหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย รวมถึงเดินหน้าเสริมสร้างทักษะทางการเงินแก่ประชาชนในกลุ่มต่างๆ ต่อเนื่อง หวังแก้ปัญหาหนี้เรื้อรังได้อย่างยั่งยืน ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดยังคงเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือนและค่าครองชีพที่ทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในวงกว้าง ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมา ทิสโก้จึงเพิ่มระดับความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้การประคองผลการดำเนินงานท่ามกลางความไม่แน่นอนของทิศทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศยังคงเป็นโจทย์ที่กระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเร่งปรับตัว ดังนั้น ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 จะยังคงเห็นความพยายามของธนาคารพาณิชย์ในการจัดการปัญหา NPLs พร้อมๆ กับการเตรียมสภาพคล่องเพื่อพร้อมรองรับความต้องการใช้สภาพคล่องในระบบที่อาจเพิ่มขึ้นตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมไปถึงการดูแลให้การเติบโตของเงินฝากสอดคล้องกับสัญญาณสินเชื่อ โดยอาจมีการออกแคมเปญเงินฝากประจำพิเศษต่อเนื่องเพื่อระดมสภาพคล่อง และแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ เพื่อเป็นตัวเลือกของผู้ฝากเงินในช่วงปลายปี นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์คงต้องเตรียมปรับตัวเพื่อรับมือกับเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2567 ด้วยเช่นกัน

ธนาคารกรุงเทพระบุในเอกสารประกอบงบการเงิน โดยมองว่าในไตรมาส 3 ปี 2566 เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวจากการภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นหลัก ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกของประเทศไทยชะลอตัวลงตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่อ่อนตัว ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในระบบเศรษฐกิจโลก เนื่องจากผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและคงไว้ เพื่อควบคุมเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจกระทบต่อการส่งออกของไทย ตลอดจนปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางฟื้นตัว แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยง หรือเกิดโอกาสหรือเป็นความท้าทายทางธุรกิจ โดยตั้งแต่ต้นปี 2566 ตลาดการเงินโลกมีความผันผวน แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ความยืดเยื้อของสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงความท้าทายจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งพฤติกรรมและวิถีชีวิตของผู้บริโภค และการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเพื่อรองรับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้หลังโควิด-19 ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลเพิ่มขึ้น ธนาคารกรุงเทพตระหนักถึงความท้าทายในการดำเนินธุรกิจของลูกค้า จึงยังคงมุ่งเน้นการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด ให้คำแนะนำในการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจตามสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ รวมถึงการสนับสนุนการลงทุนใหม่ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างระบบนิเวศด้านความยั่งยืนในระยะยาว


กำลังโหลดความคิดเห็น