นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ (APM) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บมจ.เจนก้องไกล (JPARK) เปิดเผยว่า JPARK มีความพร้อมทุกด้านสำหรับการเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ เป็นวันแรกพรุ่งนี้ โดยมั่นใจว่านักลงทุนจะให้การตอบรับที่ดี เนื่องจากพื้นฐานธุรกิจมีความแข็งแกร่ง เชี่ยวชาญในธุรกิจบริหารจัดการพื้นที่จอดรถมามากกว่า 20 ปี พื้นที่ให้บริการอยู่ในทำเลศักยภาพสูง สร้างรายได้ประจำสม่ำเสมอ (Recurring Income) ความสามารถทำกำไรสูง และฐานะเงินแข็งแกร่ง รวมถึงมีศักยภาพการเติบโตในอนาคต โดยที่ผ่านมา JPARK สามารถนำเสนอบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าในแต่ละประเภทได้อย่างครบวงจร ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ามาอย่างยาวนาน
JPARK มีสัดส่วนรายได้จากการจัดเก็บค่าบริการที่จอดรถจากผู้มาใช้บริการอยู่ที่ 62% เป็นธุรกิจที่สร้างกระแสเงินสดสูง และมีสัดส่วนรายได้จาก Recurring Income อยู่ที่ 18% ช่วยสร้างความมั่นคงของรายได้ และมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจให้คำปรึกษา และรับติดตั้งระบบบริหารที่จอดรถอยู่ที่ 15% ซึ่งโครงการที่อยู่ในระหว่างดำเนินการ และมีแนวโน้มได้รับงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยในการเติบโตของรายได้ในอนาคต
นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บลจ.ฟินันเซีย ไซรัส ในฐานะแกนนำการจัดจำหน่าย และรับประกันการจำหน่ายหุ้น JPARK กล่าวว่า เชื่อว่านักลงทุนจะให้การตอบรับหุ้น JPARK หลังจากเสนอขายหุ้น IPO ที่ 3.80 บาทต่อหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท นักลงทุนได้จองซื้อหุ้นครบทั้งจำนวน 110 ล้านหุ้น เนื่องจากราคาเสนอขายเหมาะสม สะท้อนพื้นฐานธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง และโอกาสในการเติบโตในอนาคต ด้วยการให้บริหารที่จอดรถด้านการบริหารที่จอดรถอย่างครบวงจร
ในปี 65 JPARK มีรายได้เพิ่มขึ้นในทุกธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจให้บริการที่จอดรถ (PS) ฟื้นตัวภายหลังรัฐบาลยกเลิกนโยบายปิดเมือง (Lockdown) ส่งผลให้มีผู้มาใช้บริการที่จอดรถเพิ่มขึ้น รวมถึง JPARK มีอัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้น เป็นผลมาจากธุรกิจรับจ้างบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ (PMS) เป็นหลัก จากการเพิ่มขอบเขตการทำงานของสัญญารับจ้างบริหารจัดการอาคารจอดแล้วจรโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรมในส่วนของการจัดการจราจร และการรับจ้างทำความสะอาด ซึ่งมีอัตราผลตอบแทนสูงกว่าการรับจ้างจัดเก็บค่าบริการที่จอดเพียงอย่างเดียว
นายสันติพล เจนวัฒนไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JPARK เปิดเผยว่า บริษัทเป็นผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารพื้นที่จอดรถ โดยแบ่งเป็น 3 ธุรกิจหลักคือ 1.ธุรกิจให้บริการที่จอดรถ (Parking Service Business: PS) 2.ธุรกิจรับจ้างบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ (Parking Management Service Business: PMS) และ 3.ธุรกิจให้คำปรึกษา และรับติดตั้งระบบบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ (Consultant and Installation Parking System Business: CIPS) โดยในปัจจุบันบริษัทมีช่องจอดภายใต้การดูแลกว่า 28,000 ช่องจอด โดยมีทั้งบริเวณจุดเชื่อมต่อ-จุดเปลี่ยนผ่านกับระบบรถไฟฟ้า ศูนย์การค้าแหล่ง CBD บริเวณโรงพยาบาล บริเวณโรงพยาบาล สถานศึกษา สนามบิน ซึ่งพื้นที่ให้บริการส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
ภายหลังจากการระดมทุน JPARK มีแผนที่จะลงทุนขยายโครงการอาคารจอดรถโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าจำนวน 6 ชั้น รองรับรถยนต์ได้ 532 คัน และรองรับรถจักรยานยนต์ได้ 72 คัน โดยมีพื้นที่ใช้สอย 18,242 ตารางเมตร พื้นที่พาณิชย์ 2,049 ตารางเมตร ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในปี 67 รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ
แผนอนาคตบริษัทตั้งเป้าในธุรกิจ PS ขยายช่องจอดรถเพิ่ม 30-40% ในปี 67 จะมี 20,000 ช่องจอด และปี 68 จะเพิ่มเป็น 30,000 ช่องจอด เน้นขยายในพื้นที่โรงพยาบาลที่มีความต้องการพื้นที่จอดรถสูง รวมถึงพื้นที่อาคาร สำนักงานและศูนย์การค้า ซึ่งอยู่ในระหว่างการเจรจากับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ คาดว่าจะได้รับสัญญาภายในไตรมาส 2/66
ส่วนธุรกิจ PMS ขยายพื้นที่ช่องจอดภายใต้การดูแลในปี 67 ราว 25-30% โดยจะมี 20,000 ช่องจอด และปี 68 เพิ่มเป็น 23,000 ช่องจอด คาดว่าในอนาคตจะมีการเติบโตของแต่ละธุรกิจไปในทิศทางเดียวกัน โดยที่สัดส่วนรายได้ในธุรกิจต่างๆ ยังคงเดิม
ขณะที่แนวโน้มอุตสาหกรรมรถ EV ที่มีอัตราเติบโตสูง บริษัทคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากอุตสาหกรรมดังกล่าว มีความเป็นไปได้ว่าจะได้รับส่วนแบ่งรายได้ค่าชาร์จ EV ในพื้นที่ลานจอดรถ โดยไม่ต้องลงทุนติดตั้งหัวชาร์จเอง ซึ่งปัจจุบันได้มีการทดลองติดตั้งในพื้นที่ลานจอดรถ 3 แห่ง เช่น พื้นที่ประดิพัทธ์ เสนานิคม และวชิระพยาบาล 9 ช่องจอด อย่างไรก็ตาม รายได้ปัจจุบันจากธุรกิจดังกล่าวยังมีสัดส่วนน้อยอยู่
"เรามีความเชื่อมั่นในพื้นฐานของธุรกิจ และโอกาสที่เปิดกว้างในการเติบโตในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ทำงานร่วมกับทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้จัดการการจัดจำหน่าย และรับประกันการจำหน่าย และผู้ร่วมจัดจำหน่าย เพื่อที่จะนำเสนอข้อมูล และพื้นฐานธุรกิจให้นักลงทุน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาโดยตลอด ซึ่งภายหลังจากการระดมทุนในครั้งนี้ เราจะสามารถเสริมศักยภาพ และพัฒนาเทคโนโลยีในด้านการให้บริการ รวมถึงบริหารพื้นที่จอดรถด้วยการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องทำให้เรามีความเชื่อมั่นว่า JPARK จะเป็น IPO น้องใหม่ที่จะได้รับการต้อนรับ และการตอบรับที่ดีอย่างต่อเนื่อง" นายสันติพล กล่าว
ด้านมุมมองจากโบรกเกอร์ 6 แห่งที่ได้ Company Visit และจัดทำบทวิเคราะห์ออกมา ให้ราคาที่เหมาะสมหุ้น JPARK กับปัจจัยพื้นฐาน 5.00-6.40 บาท จากราคา IPO ที่ 3.80 บาท
มุมมองของ บล.ฟินันเซีย (ผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น JPARK) ให้ราคาเป้าหมายไว้สูงที่สุดในบรรดา 6 โบรกเกอร์ ด้วยราคาเหมาะสม 6.40 บาท อิงการคิดลดกระแสเงินสดที่ 9% และอัตราการเติบโตของธุรกิจที่ 4% โดยมองว่า JPARK มีจุดแข็ง คือ เป็นเบอร์ 1 หรือผู้นำธุรกิจให้บริการที่จอดรถ และรับจ้างบริหารพื้นที่จอดรถที่ทันสมัย มีประสบการณ์มากกว่า 20 ปี ด้วยช่องจอดรถ 28,000 ช่องจอด ในทำเลที่มีศักยภาพสูง และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ทำให้มีความได้เปรียบคู่แข่งขันอื่น ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 67 จะมีกำไรสุทธิที่ 102 ล้านบาท หรือเติบโตมากกว่า 60% เมื่อเทียบกับปีก่อน
โบรกเกอร์ ราคาเป้าหมาย
บล.ฟินันเซีย ไซรัส 6.40 บาท
บล.โกลเบล็ก 5.60 บาท
บล.ฟิลลิป 5.40 บาท
บล.ยูโอบี เคย์เฮียน 5.20 บาท
บล.กรุงศรี พัฒนสิน 5.00 บาท
บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี 4.90 บาท