ผู้สื่อข่าวรายงานจากกรมที่ดินถึงผลการให้บริการประชาชนและปริมาณการจัดเก็บรายได้ของปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565-กันยายน2566) โดยในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565-31 กรกฎาคม 2566 หรือ 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ข้อมูล ณ วันที่ 7 ส.ค.2566) มีประชาชนมาติดต่อใช้บริการต่างๆ ณ สำนักงานที่ดินทั่วประเทศ จำนวน 8,118,984 ราย เทียบกับช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2565 มีผู้ใช้บริการลดลง -2,279,539 ราย หรือร้อยละ -21.92
ส่วนการจัดเก็บรายได้ ค่าธรรมเนียมประเภทต่างๆ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ จัดเก็บรายได้ 87,065,633,640 บาท เพิ่มขึ้น 8,929,294,790 บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.43 แบ่งประเภทเป็นค่าธรรมเนียมประเภทต่างๆ 28,797.29 ล้านบาท ค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 23,206.32 ล้านบาท ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ 30,079.48 ล้านบาท และค่าอากรแสตมป์ 4,982.55 ล้านบาท
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าจำนวนรายที่มาใช้บริการตั้งแต่ ต.ค.65 เป็นต้นมา จนถึง ก.ค.ปี 66 ลดลงทุกๆ เดือน โดยตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 เปอร์เซ็นต์ลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากสภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัว และน่าจะเกิดจากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 มาตรการอสังหาฯ จะสิ้นสุด ทำให้เกิดการใช้บริการจำนวนมาก และจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว
ต่างกับผลจัดเก็บรายได้ พบว่า ตั้งแต่ ต.ค.65 เป็นต้นมาจนถึง ก.ค.66 ตัวเลขเพิ่มขึ้นตลอด โดยเฉพาะในเดือนธันวาคมของปีงบประมาณ 2566 เป็นเดือนที่จัดเก็บรายได้สูงสุดถึง 13,323.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,162.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.37
และเป็นที่น่าสังเกตว่า ในแต่ละเดือนที่จะสิ้นสุดไตรมาส พบว่า ตัวเลขจัดเก็บรายได้สูงขึ้น เช่น ในเดือนมีนาคม 66 และมิถุนายน 66 จัดเก็บได้ของเดือนนั้นๆ สูงเกินกว่า 10,000 ล้านบาท และจัดเก็บเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวเกินกว่า 1,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในข้อมูลของปีงบประมาณ 2565 กรมที่ดินสามารถจัดเก็บรายได้รวม 96,434 ล้านบาท ทำให้คาดว่าในปีงบประมาณนี้มีโอกาสที่กรมที่ดินจะจัดเก็บรายได้มาสู่ระดับ 100,000 ล้านบาท (ถ้าในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ คือ ส.ค.และ ก.ย.ทำตัวเลขได้ต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 7,000 ล้านบาท รวมกับ 10 เดือนแรกที่จัดเก็บไปได้แล้วกว่า 87,065 ล้านบาท) ซึ่งก่อนหน้าในปีงบประมาณ 2562 กรมที่ดินสามารถจัดเก็บรายได้ถึง 108,658.4 ล้านบาท