บล.พาย (Pi) ระบุสัปดาห์นี้ประเมิน SET Index เคลื่อนไหวในกรอบ 1,500-1,550 จุด เชิงกลยุทธ์การลงทุนยังแนะลดพอร์ตการลงทุนจากการที่มองดัชนีรับปัจจัยบวกต่างๆ ไปมากแล้ว ส่วนหุ้นแนะนำระยะสั้นเลือกกลุ่มน้ำมัน (PTTEP) โรงกลั่น (BCP SPRC TOP) โรงไฟฟ้า (BGRIM GPSC GULF) ค้าปลีก (BJC CRC CPALL HMPRO) ท่องเที่ยว (AOT CENTEL ERW MINT SPA) ธนาคารพาณิชย์ (BBL KBANK KTB SCB)
BBL (ซื้อ/ราคาเป้าหมาย 198.00 บาท) เพิ่มมูลค่าพื้นฐานเป็น 198 บาท (จาก 190 บาท) พร้อมกับปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 66-68 ขึ้น หลักๆ เพราะอัตราส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) ที่ดีกว่าคาด ทำให้มีสมมติฐานอัตรากำไรสุทธิที่แข็งแกร่งระดับ 40%/13%/11% ตามลำดับ แม้ในอนาคตจะมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนรออยู่ แต่พื้นฐานของ BBL ยังแข็งแกร่ง ด้วยสำรองหนี้ และฐานเงินทุนขั้นที่ 1 ที่เพียงพอและแข็งแกร่งพร้อมรับมือกับสภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงเร็วขึ้น
PTTEP (ซื้อ/ราคาเป้าหมาย 180.00 บาท) ภาพรวมไตรมาส 3/66 ยังเป็นบวกจากแนวโน้มปริมาณขายที่ปรับดีขึ้น โดยผู้บริหารให้แนวทางไว้ที่ 470kBOED (+6% QoQ) ขณะที่ราคาขายมีโอกาสปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบดูไบที่ขึ้นไปแตะ 84 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในเดือน ก.ค. หรือขึ้นไปกว่า 6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลจากค่าเฉลี่ยในไตรมาส 2/66 ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นช่วงล่าสุดเป็นผลจากการที่ OPEC+ ขยายกรอบการลดปริมาณผลิตไปถึงเดือน ส.ค
บล.พาย ระบุว่า ตลาดหุ้น Dow Jones คืนวันศุกร์ปิดลบ 0.43% การซื้อขายเป็นไปอย่างผันผวนหลังจากช่วงแรกรายงานจ้างงานที่ต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ แต่ท้ายที่สุดถูกดดันจากผลประกอบการ ด้านราคาน้ำมันดิบ BRT ปิดบวก 1.6% รับอุปทานตึงตัว
วันศุกร์ที่ผ่านมาสหรัฐฯ เปิดเผยการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ 1.87 แสนตำแหน่ง ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดประเมินที่ 2.05 แสนตำแหน่ง ด้านอัตราการว่างงานอยู่ที่ 3.5% ดีกว่าตลาดคาดที่ 3.6% และค่าจ้างเฉลี่ยรายชั่วโมงขยายตัว 0.4%MoM สูงกว่าตลาดคาดที่ 0.3%MoM โดยอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว ได้แก่ การให้บริการทางการแพทย์ การให้บริการทางการเงิน อย่างไรก็ตาม ภาคผลิตมีการจ้างงานที่ลดลง หลังจากทราบตัวเลขข้างต้นพบว่า CME FED Watch ยังให้น้ำหนักสูงราว 87% ที่การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เดือนกันยายนจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมและ US Bond Yield ทั้งรุ่นอายุ 2 และ 10 ปีปรับลงแรง สะท้อนมุมมองการผ่อนคลายดอกเบี้ยและเงินเฟ้อจากนักลงทุน
ส่วนสัปดาห์นี้นักลงทุนจะให้น้ำหนักกับเงินเฟ้อทั้งไทยและสหรัฐฯ สำหรับไทยวันจันทร์กระทรวงพาณิชย์มีกำหนดรายงานเงินเฟ้อประจำเดือน ก.ค. Bloomberg Consensus ประเมินไว้ที่ 0.66%YoY และเงินเฟ้อพื้นฐานที่ 0.9%YoY ปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายของไทยปรับขึ้นมาอยู่ที่ 2.25% ส่งผลให้ดอกเบี้ยที่แท้จริง (ดอกเบี้ยนโยบาย-เงินเฟ้อ) กลับขึ้นมาเกินกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลังที่ -0.05% หรือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าระดับปัจจุบันเท่าใด อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการลดดอกเบี้ยยังไม่เกิดขึ้นเพราะเศรษฐกิจไทยยังเห็นการขยายตัวแต่ดอกเบี้ยจะคงระดับนี้ไว้จนกว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของดอกเบี้ยสหรัฐฯ หรือเห็นการอ่อนแรงของเศรษฐกิจไทย โดยมองกลุ่มธนาคารพาณิชย์ได้ประโยชน์ (BBL KTB)
สำหรับสหรัฐฯ มีกำหนดรายงานเงินเฟ้อในวันพฤหัสบดีช่วง 19.30 น. เวลาประเทศไทย Bloomberg Consensus ประเมินไว้ที่ 3.3%YoY สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 3%YoY แม้จะเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าแต่เชื่อว่าไม่มีผลต่อตลาดมากเพราะทิศทางดอกเบี้ยไม่น่าเปลี่ยนแปลงด้วยดอกเบี้ย FED ที่สูงกว่าระดับเงินเฟ้อ