ชำแหละคำตัดสินศาลอังกฤษ“ณพ ณรงค์เดช”พร้อมพวกผิด ต้องจ่ายค่าเสียหายซื้อหุ้นวินด์ เอนเนอร์ยี่ให้"นพพร"อีก 900 ล้านเหรียญ แถมโดนอาญาข้อหายักยอกทรัพย์ ศาลไม่เชื่อคำให้การ“คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา”บทพิสูจน์พิรุธปลอมลายเซ็นเกษม การไล่ล่าค่าเสียหายจากการขายหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH)ถือเป็นอีกหนึ่งในมหากาพย์ของตลาดหุ้นไทย เพราะจนแล้วจนรอดถึงปัจจุบัน ด้วยคดีดังกล่าวทำให้ WEH ไม่สามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เสียที นั่นเป็นผลจากปัญหาการซื้อขายหุ้นล็อตแรกยังเคลียร์ไม่จบจึงปล่อยให้WEH ไปโลดแล่นในกระดานไม่ได้เพราะอาจมีความเสี่ยงต่อผู้ถือหุ้นแบบย้อนหลัง
“นพพร”ชนะคดี“ณพ”ที่ศาลอังกฤษ
ความคืบหน้าล่าสุดตอนนี้คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสิ้นเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ศาลอังกฤษ ตัดสินให้ นายณพ ณรงค์เดช และพวกร่วมกันจ่ายค่าเสียหายรวมราว 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.12 หมื่นล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 34.717 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ) แก่นายนพพร ศุภพิพัฒน์ ผู้ก่อตั้งและอดีต CEO ของ WEH จากข้อหาสมคบกันชักจูงใจด้วยข้อมูลลวงให้ขายหุ้น WEH
การที่ศาลอังกฤษสามารถพิจารณาคดีที่โจทก์เป็นคนไทย และมีจำเลยเป็นชาวไทยและอังกฤษได้ เนื่องจาก จำเลยที่ 2 คือ Emma Louise Collins อดีตซีอีโอของ WEH มีสัญชาติอังกฤษ ซึ่งกฎหมายของอังกฤษอนุญาตให้ศาลอังกฤษมีอำนาจพิจารณาคดีที่เกิดนอกประเทศได้ และจำเลยอื่น ๆ ในคดีนี้ที่ไม่มีสัญชาติอังกฤษก็ไม่ปฏิเสธขอบเขตอำนาจของศาลอังกฤษ
เปิดรายชื่อจำเลยหลักที่อยู่ในคำตัดสินศาลอังกฤษ
มหากาพย์หุ้นWEH มีเกี่ยวข้องหลายคนและจำเลยที"นพพร"ยื่นฟ้องร่วมแล้วมี 17 ราย โดยรายชื่อเฉพาะที่เป็นบุคคลสำคัญนั้นไล่เรียงได้ดังนี้
1.นายณพ ณรงค์เดช ลูกชายคนกลางของ นายเกษม ณรงค์เดช เป็นจำเลยที่ 1
2.นายอาทิตย์ นันทวิทยา อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคาร จำเลยที่ 11
3.นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ กรรมการของบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (SCB) บริษัทแม่ของธนาคาร ไทยพาณิชย์ และเจ้าของสำนักงานกฎหมายชั้นนำของประเทศ Weerawong, Chinnavat & Partners (WCP) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของนายณพ เป็นจำเลยที่ 13
4.นายเกษม ณรงค์เดช ผู้เป็นบิดา ตกเป็นจำเลยที่ 14
5.คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา แม่ภรรยาของนายณพ และภรรยาของ พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ตกเป็นจำเลยที่ 15
6.นายประเดช กิตติอิสรานนท์ ประธานคณะกรรมการบริหาร และกรรมการของ WEH เป็นจำเลยที่ 16 ถือว่ากระทำความผิดร่วมกัน
ฟัน14รายผิดฐานละเมิดต้องรับผิดชอบร่วมกัน
การพิจารณาคดีนี้ ศาลอังกฤษนำกฎหมายไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง เบลิทซ์ และ หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน (BVI) และกฎหมายล้มละลายของอังกฤษ (Insolvency Act 1986) มาประกอบการพิจารณาคดีด้วย
คดีนี้มีจำเลยรวม 17 รายและไม่เพียงแต่"ณพ"เท่านั้นที่ต้องรับผิดชอบ แต่ในคำตัดสินของศาลถือเป็นการร่วมกันละเมิดโดยมิชอบต้องรับผิดชอบร่วมกัน 14 ราย
Neil Calver” ผู้พิพากษาแห่งศาลพาณิชย์ (Commercial Court) ของอังกฤษ มีคำตัดสินระบุว่านายณพและพวก (ยกเว้น จำเลยที่ 5, 10, และ 11) ร่วมกันกระทำละเมิดโดยมิชอบ และต้องรับผิดร่วมกันตามมาตรา 432 ของ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย และสั่งให้ชดใช้ความเสียหายรวมกันทั้งเงินค้างชำระและดอกเบี้ยเป็นมูลค่าราว 900 ล้านเหรียญสหรัฐ (3.12หมื่นล้านบาท) จากที่นายนพพรฟ้องเรียกไป 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย มาตรา 432 ระบุว่า “ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทำละเมิด ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่โดยพฤติการณ์ ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น
SCB และ “อาทิตย์” รอด
อย่างไรก็ตามคำตัดสินของศาลอังกฤษยกเว้นจำเลยที่ 5 10 และ 11 ที่ไม่มีความผิดคือ .นายอาทิตย์ นันทวิทยา อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคาร จำเลยที่ 11 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำเลยที่ 10 ละนางคาดีจา บิลาล ซิดดีกี จำเลยที่ 5 ทำให้ทั้ง 3 รายได้ต้องร่วมรับผิดในคดีนี้ โดยศาลระบุว่าเป็นการตัดสินใจที่ไม่รอบคอบของ SCB แต่ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ส่วนของนายอาทิตย์นั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโอน เคลื่อนย้าย หรือปกปิดหุ้น WEH ที่เกี่ยวข้อง โดยอาจเป็นการช่วยเหลือที่ไม่รอบคอบเนื่องจากรู้จักกับนายณพมากเกินไป และโจทก์เองก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย
ฟันผิดอาญา "ณพ" ยักยอกทรัพย์
ขณะเดียวกัน นายณพ, นายณัฐวุฒิ, นายวีระวงค์ และบรรดาผู้บริหารของ WEH ยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ที่ระบุว่า “ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมด หรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ โดย ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
นั่นเพราะในประเด็นการเคลื่อนย้าย ปกปิด หรือโอนทรัพย์ให้ผู้อื่นด้วยความจงใจที่จะสกัดกั้นไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้นั้น ศาลเห็นว่า เรื่องนี้เป็นแผนการยักยอกทรัพย์สินที่ดำเนินการโดยจำเลยที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นการขัดขวางการได้รับการชำระเงินในฐานะเจ้าหนี้
ไม่เพียงเท่านี้ จากข้อเท็จจริงศาลยังพบว่า ในกรณีการโอนหุ้นของนายเกษม ณรงค์เดช นั้นเป็นข้อกล่าวอ้างที่ตื้นเขินเกินไปที่มองว่าการโอนหุ้นนี้ จะเป็นเรื่องแยกส่วนจากการโอนต่อ ๆ มา
นอมินีคุณหญิงทำป่วน
สิ่งที่น่าสนใจเพิ่มเติม คือประเด็นนอมินีหรือตัวแทนในการถือหุ้น เนื่องจากระหว่างการพิจารณาคดีในศาลอังกฤษ โจทก์ได้นำเอกสาร มาแสดงต่อศาลว่า มีคำสั่งระงับการโอนหุ้นของ WEH จำนวน 800,000 หุ้น ซึ่งอยู่ที่ บริษัท คอร์นวอลลิส จำกัด (Cornwallis) จำเลยที่ 12 ซึ่งจดทะเบียนในประเทศเบลิทซ์ โดยบุคคลธรรมดาที่เป็นเจ้าของที่แท้จริง คือ นายอาจ เสรีนิยม นั้นเป็นตัวแทนอำพราง หรือ นอมินี ของนายอาทิตย์ (CEO SCB)
อย่างไรก็ตามต่อมา นายณพทำหนังสือถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลงวันที่ 17 ก.ค. 2561 อธิบายว่านายอาจ เป็นนอมินีแทนของคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา ไม่ใช่นายอาทิตย์
“เนื่องจากคุณหญิงกอแก้ว ไม่ประสงค์จะเปิดเผยต่อผู้อื่นว่าตัวเองเป็นเจ้าของหุ้นหรือผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงของ บริษัท คอร์นวอลลิส จำกัด นายนพจึงแนะนำนายอาจ ซึ่งเป็นคนที่นายณพไว้วางใจ เป็นเจ้าของผลประโยชน์ของ บริษัท คอร์นวอลลิส จำกัด ในนามของคุณหญิงกอแก้ว และทั้งสอง ทำสัญญาตัวแทนลงวันที่ 19 ก.พ. 2561”
คำให้การคุณหญิงกอแก้วมัดกรณีปลอมลายเซ็นต์เกษม??
สำหรับการนำสืบในเรื่องของ “ข้อตกลงตัวแทนเกษม” หรือ Kasem Agency Agreement ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่าง นายเกษม ณรงค์เดช และคุณหญิงกอแก้ว ที่มีผลเมื่อ 25 เม.ย.59 นั้น ในคำตัดสินของศาลบรรยายว่า ภายใต้ข้อตกลงนี้ คุณหญิงกอแก้ว ทำเสมือนว่าแต่งตั้ง นายเกษมให้เป็นผู้ทำการแทนเธอในการทำข้อตกลงกับ REC เพื่อซื้อหุ้น WEH แล้วโอนหุ้นไปยังบริษัทหนึ่งในต่างประเทศ แล้วถือหุ้นในบริษัทต่างประเทศแห่งนั้นในนามของเธอ
โดยอ้างว่ามีความจำเป็นของการมีข้อตกลงตัวแทนและเพื่อความลับ เนื่องจากคดีอาญามาตรา 112 และเพราะครอบครัวเป็นข้าราชการ และขณะนั้นสามี (พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา) ป่วย อีกทั้งครอบครัวมีความเทิดทูนต่อราชวงศ์ จึงไม่สามารถยุ่งเกี่ยวกับคดีอาชญากรรมทำนองนี้ได้ ส่วนการเลือกนายเกษมเป็นตัวแทนเพราะความเร่งด่วนของสถานการณ์ และเพราะ นายเกษม คือพ่อของนายณพ ซึ่งกระบวนการของธนาคารไทยพาณิชย์ จะให้ความสำคัญในเรื่อง KYC (กระบวนการทำความรู้จักกับลูกค้า)
แต่คำอธิบายของคุณหญิงกอแก้ว ถูกหักล้างทันที ด้วยข้อเท็จจริงที่นายณพยอมรับในศาลว่า เขาไม่ได้แม้แต่แจ้งบรรดาทนายของเขาว่าคุณหญิงกอแก้วเป็นผู้ถือหุ้นตัวจริงในการโอนหุ้นให้นายเกษม แม้มีข้อเท็จจริงปรากฏว่านายณพรู้ว่าทีมทนายของเขาแจ้งต่อ SCB ว่าผู้ซื้อคือ นายเกษม ดังนั้น“ข้อตกลงตัวแทนเกษม” ซึ่งนายวีรวงค์เป็นผู้ร่าง ศาลเห็นว่ามันถูกร่างขึ้นมาจากเหตุผลที่ไม่สุจริต
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า จากคำให้การในศาลอังกฤษของคุณหญิงกอแก้วดังกล่าว จะส่งผลต่อคดีที่เกษมได้แจ้งความเอาไว้หรือไม่ อย่างไร
ทั้งนี้ ผู้พิพากษาแคลเวอร์ระบุว่า ไม่เชื่อในสิ่งที่นายณพ ให้การที่ศาลในกรุงลอนดอนระหว่าง 21-24 พ.ย.65 ว่า “ตนเองมีความหวังและตั้งใจทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับนายนพพร ในการชำระหนี้” โดยอ้างว่า “หวังว่ามรดกที่วาดหวังว่าจะได้รับ และอีกแหล่งรายได้ของตนจะเพียงพอ ซึ่งศาลไม่ถือว่าสิ่งนี้เป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้”
สำนวนสรุปยังพบว่า ศาลเชื่อว่า คุณหญิงกอแก้ว มีส่วนช่วยเหลือและส่งเสริมในการกระทำความผิดตามมาตตรา 350 ของนายณพ โดยคุณหญิงกอแก้วไม่ได้มารับฟังการไต่สวน และเพียงยื่นเอกสารคำสารภาพเปิดผนึกเขียนด้วยลายมือ แต่ไม่ได้ยื่นเอกสารปิดลับใดๆ โดยแสร้งว่าเป็นผู้ซื้อหุ้นมูลค่า 2.4 พันล้านบาทที่โอนให้กับ นายเกษม ภายใต้บริษัท เกษม เอสพีเอ
คุณหญิงกอแก้วยังโกหกศาลเกี่ยวกับการกับการเซ็นต์“ข้อตกลงตัวแทนเกษม” หรือ Kasem Agency Agreement ซึ่งได้เซ็นต์ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ระบุว่า นายเกษม และคุณหญิงจะจ่ายเงินให้กับบริษัท KPN Energy (Thailand) แสดงว่ามีส่วนร่วมในการปลอมเอกสารอ้างอิงเงินกู้ และยอมรับว่าได้ปลอมจดหมายผู้จ่ายเงินของ REC ขึ้นมาจริง
รวมไปถึงการพยายามหลีกเลี่ยงผลจากคำสั่งของศาลฮ่องกงด้วยการแต่งตั้งผู้อำนวยการคนใหม่ในบริษัท Golden Music และเรียกร้องสิทธิ์ในหุ้นของบริษัท Golden Music ที่จดทะเบียนในชื่อ นายเกษม ทำให้ในวันที่ 25 มิ.ย. ปี 2561 นายสุรัตน์ จิรจรัสพร กรรมการบริษัท Golden Music ได้บันทึกการโอนหุ้น 459,109,350 หุ้นในบริษัท นายเกษม ไปยังคุณหญิงกอแก้ว ซึ่งไม่ปรากฎรายละเอียดการโอน แต่มีลายเซ็นของทั้งคุณหญิงและนายเกษม
เปิดบันทึกผู้พิพากษากล่าวถึงจำเลย
สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษ รายงานว่า ในย่อหน้า 905 ของคำพิพากษานี้ นีล แคลเวอร์ (Neil Calver) ผู้พิพากษาแห่งศาลพาณิชย์ (Commercial Court) ของอังกฤษ ระบุว่า“มีความจำเป็นอย่างยิ่งในคดีนี้ ที่ต้องอาศัยบันทึกเอกสาร (ที่เป็นความจริง)เพราะเป็นที่แน่ชัดว่าพยานหลายคน (สำหรับจำเลย) ซึ่งศาลได้รับฟังการโกหกอย่างกว้างขวางต่อศาล และด้วยเหตุนี้หลักฐานของพวกเขาจึงไม่น่าเชื่อถือโดยสิ้นเชิงลักษณะและขอบเขตของการโกหกของพวกเขาหลายครั้งก็น่าทึ่ง เช่นเดียวกับท่าทีที่ผ่อนคลายของพวกเขาต่อการผลิตเอกสารเท็จเพื่อหลอกลวงและทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิด เป็นที่ชัดเจนว่าการพูดความจริงได้กลายเป็นแนวคิดแปลกประหลาดสำหรับจำเลยบางคน”
ศาลเขียนถึงจำเลยแต่ละคนไว้ว่า
1. นายณพ: “อันนี้ผมว่าจริงครับ โดยเฉพาะคุณณพ (ที่ดูเหมือนไม่สามารถให้การเป็นพยานได้อย่างซื่อตรงในเกือบทุกเรื่อง เขาพร้อมจะพูดอะไรก็ได้เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ของเขา แม้เป็นเรื่องเท็จ)”
2. ส่วนจำเลยที่ 17 ศาลระบุว่า “คุณณัฐวุฒิ (ผู้ที่มีความภักดีต่อคุณณพ ก็พร้อมที่จะโกหกในทุกเรื่องที่เขาเห็นว่ามีความสำคัญต่อคดีของคุณณพ)”
3. จำเลยที่ 16 ศาลระบุว่า “คุณวีระวงค์ (ผู้อยู่ฝั่งเดียวกับคุณณพอย่างแน่นแฟ้น คือผู้ร่างเอกสารปลอมมากมายในฐานะของทนาย)”
4. จำเลยที่ 15 คุณหญิงกอแก้ว ศาลมีคำวินิจฉัยว่า “มาดามบุญยะจินดา (ผู้เล่นบทสมุนของลูกเขยคือคุณณพ และให้การที่สนับสนุนคดีนี้ของเขา โดยไม่สนใจว่าเป็นเรื่องเท็จ)” นี่ เป็นคำพิพากษา และ บันทึกจากผู้พิพากษา ที่สะท้อนนัยยะต่างๆของคดีพิพาทการซื้อขายหุ้น ที่นอกจากเป็นความขัดแย้งกันระหว่าง นพพร ผู้ต้องหาหลบหนีคดี 112 กับ ณพ ณรงค์เดช ยังเกี่ยวพันถึงการสร้างปัญหาภายในตระกูลณรงค์เดฃของณพ และ ผู้ถือหุ้น WEH ซึ่งความหวังที่จะผลักดันเข้าตลาดหุ้นนั้นยากขึ้นไปอีก และ สุดท้ายคำตัดสินจากศาลอังกฤษ จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อไป คดีต่างๆที่ยังคาราคาซังของณพ และคุณหญิงกอแก้ว ในไทยจะเป็นอย่างไร น่าสนใจติดตามเป็นอย่างยิ่ง
อ่านข่าวประกอบเพิ่มเติม >>> ย้อนรอยคดีมหากาพย์วินด์และข้อพิรุธ