เอสซีจี แพคเกจจิ้ง แจ้งกำไรงวดนี้ 1,485 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากไตรมาสก่อน ขณะมีรายได้ 32,216 ล้านบาท ลดลง 4% มองแนวโน้มภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ครึ่งปีหลังโตต่อเนื่อง รุกกลยุทธ์ขยายการลงทุนในอาเซียน ทุ่มพัฒนานวัตกรรม ‘Bio-based Plastic จากชิ้นไม้ยูคาลิปตัสสับ’ และ ‘Wooden Foodservice Packaging จากไม้ยูคาลิปตัส’ หนุนการใช้ทรัพยากรทดแทน
นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 สามารถทำกำไรเพิ่มขึ้น แม้ยอดขายชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากยอดขายของสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจรที่ปรับลดลง โดยมีปัจจัยหลักมาจากการชะลอตัวของตลาดอินโดนีเซียซึ่งมีวันหยุดราชการยาวในไตรมาสที่ผ่านมา โดยมีรายได้จากการขาย 32,216 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4 จากไตรมาสก่อนหน้า EBITDA 4,681 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากไตรมาสก่อนหน้า และมีกำไรสำหรับงวด 1,485 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จากไตรมาสก่อนหน้า
ทั้งนี้ กำไรสำหรับงวดในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ที่เติบโตมาจากการวางกลยุทธ์บริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ทั้งการบริหารและเพิ่มประสิทธิภาพฐานการผลิตในประเทศต่างๆ การเสริมแกร่งระหว่างธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ การรวมคำสั่งซื้อวัตถุดิบและจองระวางเรือขนส่งสินค้า และเพิ่มการขายสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวเนื่อง (Cross-Selling) นอกจากนี้ ยังได้รับปัจจัยหนุนจากต้นทุนวัตถุดิบและราคาพลังงานที่ลดลง รวมถึงค่าระวางเรือขนส่งสินค้า ตลอดถึงการปรับสัดส่วนการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาด โดยเพิ่มการผลิตเยื่อเคมีละลายน้ำได้ (Dissolving Pulp) ซึ่งมีราคาขายที่ดี เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่ภาพรวมความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคในภูมิภาคอาเซียนฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม บรรจุภัณฑ์อาหารแช่แข็งและอาหารกระป๋อง และบรรจุภัณฑ์เพื่อส่งออกผลไม้ไปประเทศจีนปริมาณสูงมาก นอกจากนี้ ยังมีปริมาณการขายกระดาษพิมพ์เขียนเพิ่มขึ้นในช่วงเปิดภาคการศึกษาและการเลือกตั้งที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความท้าทายจากเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังผันผวน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย รวมถึงความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง ทำให้การส่งออกสินค้าในกลุ่มสินค้าคงทนและสินค้าฟุ่มเฟือยชะลอตัว
ดังนั้น คณะกรรมการบริษัทจึงมีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลอัตรา 0.25 บาทต่อหุ้น โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 กำหนดวันที่ XD ในวันที่ 8 สิงหาคม 2566 และกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผล (Record date) วันที่ 9 สิงหาคม 2566
สำหรับปีนี้ SCGP ตั้งงบลงทุน (CAPEX) 18,000 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นงบสำหรับการขยายธุรกิจผ่านการควบรวมกิจการ (Merger & Partnership) 9,000 ล้านบาท นอกจากนี้ เพื่อรองรับความเป็นไปได้ในการลงทุนซื้อหุ้นใน PT Fajar Surya Wisesa Tbk. (Fajar) ประเทศอินโดนีเซีย บริษัทฯ จึงมีการบันทึกบัญชีรายการในงบดุลคิดเป็นมูลค่ารวม 23,204 ล้านบาทในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ซึ่งจะเป็นการซื้อจากผู้ถือหุ้นเดิมเพิ่มร้อยละ 44.48 คาดว่าธุรกรรมนี้จะเกิดขึ้นประมาณกลางปี 2567
นายวิชาญ กล่าวถึงแนวโน้มภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ครึ่งปีหลังในภูมิภาคอาเซียนคาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการบริโภคภายในประเทศและภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อเตรียมรับเทศกาลในช่วงปลายปี อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะการส่งออกจากอาเซียนไปประเทศปลายทางแถบยุโรป ซึ่งความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงชะลอตัว โดยราคาต้นทุนพลังงานมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำต่อไปถึงช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว ในขณะที่ราคาวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิล (RCP) มีแนวโน้มทรงตัว ซึ่ง SCGP ยังคงบริหารจัดการต้นทุนอย่างต่อเนื่อง
โดยบริษัทฯ ได้มุ่งรักษาการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ด้วยการเดินหน้าตามกลยุทธ์การขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคในอาเซียน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังมีผลการดำเนินงานที่ดีและเป็นกลยุทธ์ที่สร้างการเติบโตและความแข็งแกร่งให้ SCGP โดยเฉพาะในประเทศเวียดนามและประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีศักยภาพเติบโตสูง โดยได้เตรียมเข้าลงทุนใน Starprint Vietnam JSC (SPV) ประเทศเวียดนาม คาดว่าจะเสร็จสิ้นในปลายไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 เพื่อรองรับการอุปโภคบริโภคสินค้าบรรจุภัณฑ์กระดาษที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศเวียดนาม เสริมความครบวงจรและการผนึกกำลังร่วมกันระหว่างบริษัทย่อยอื่นๆ ในเวียดนามของ SCGP
ขณะเดียวกัน SCGP ได้ทุ่มเทในการพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค โดยอยู่ระหว่างร่วมกับออริจิ้น แมตทีเรียลส์ (Origin Materials) ในการพัฒนา Bio-based Plastic จากชิ้นไม้ยูคาลิปตัสสับ ซึ่งผลทดสอบล่าสุดได้ผ่านขั้นตอนการทดสอบในห้องแล็บ และผลเป็นที่น่าพอใจ พร้อมเข้าสู่ขั้นตอน Pilot Plant Scale และเลือกพันธมิตรเพื่อร่วมมือพัฒนาในขั้นตอนต่อไป นอกจากนี้ SCGP ยังได้ทำการวิจัยและพัฒนา Wooden Foodservice Packaging จากไม้ยูคาลิปตัส เพื่อสนับสนุนการใช้ทรัพยากรทดแทน ตอบโจทย์เทรนด์การใช้บรรจุภัณฑ์อาหารรักษ์โลกที่สามารถย่อยสลายได้ และเพิ่มมูลค่าให้ไม้ยูคาลิปตัส