นายณัฐวุฒิ รุ่งวงษ์ ประธานบริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน ต้นธารคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า ได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มผู้ถือหน่วยลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมต่างๆ ที่เข้าไปลงทุนในหุ้นของ บมจ.สตาร์คคอร์ปอเรชั่น (STARK) และหุ้นตัวอื่นๆ ได้สร้างผลเสียหายให้ผู้ถือหน่วยลงทุนอย่างมาก โดย บลจ.หรือกองทุนบางแห่งอาจจะกระทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มาตรา 124/1 โดยไม่ได้จัดการกองทุนรวมด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน โดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ มีการกระทำผิดในด้านความขัดแย้งทางผลประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุน อาจทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียผลประโยชน์อันพึงได้รับ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ถือหน่วยลงทุนผ่านกองทุนที่ได้รับความเสียหายในวงกว้างเห็นว่าในเวลานี้ผู้ได้รับความเสียหายจาก STARK ทั้งเจ้าหนี้หุ้นกู้ และผู้ถือหุ้นสามัญ ผู้ถือหุ้นรายย่อยต่างมีหน่วยงานต่างๆ ยื่นมือเข้าช่วยเหลือแล้ว แต่ผู้ถือหน่วยลงทุนผ่านกองทุนต่างๆ ที่ได้รับความเสียหายวงกว้าง โดยเฉพาะผู้ลงทุนในกองทุนเพื่อประหยัดภาษีทั้ง LTF RMF เป็นมนุษย์เงินเดือน และออมการลงทุนวัยเกษียณได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง ยังไม่มีหน่วยงานใดยื่นมือมาช่วยเหลือ จึงได้ร้องขอให้ช่วยประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้เป็นตัวแทนนักลงทุนกล่าวทุกข์ดำเนินคดีต่อกองทุนและผู้บริหารกองทุนดังกล่าวตามกฎหมาย และเยียวยาชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นในทางแพ่งอีกทางด้วย
"ผมจะนำข้อมูลหลักฐานเอกสารที่มีผู้ถือหน่วยลงทุนได้ร้องเรียนผ่านมาทางผมมาเวลานี้อย่างน้อย 10 ราย เพื่อประสานงานนำเสนอต่อหน่วยงานทางราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง ก.ล.ต.ให้ดำเนินการตามหน้าที่ต่อไป" นายณัฐวุฒิ เปิดเผย
ตัวแทนกลุ่มผู้ถือหน่วยลงทุนที่ได้รับความเสียหายระบุว่า ได้ลงทุนกองทุนเพื่อประหยัดภาษีกับกองทุนเพื่อการลงทุนระยะยาวกับกองทุนในเครือธนาคารใหญ่แห่งหนึ่ง เพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่เกิดความเสียหายขาดทุน ผลงานการลงทุนต่ำกว่ากองทุนประเภทเดียวกันอย่างชัดเจน กองทุนนี้มีผลดำเนินงานงวด 6 เดือนติดลบ 12.33% (เปรียบเทียบกับกองทุนประเภทเดียวกันโดยเฉลี่ย -7.24%) ผลดำเนินงานรอบ 1 ปีลบ 7.10% (ค่าเฉลี่ยของกลุ่มลบเพียง 0.49%) รอบ 5 ปีลบ 3% (ค่าเฉลี่ยในกลุ่ม -0.16%) เป็นต้น
เนื่องจากกองทุนนี้ไปลงทุนในหุ้น STARK ไว้มาก และมีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่ได้จัดการกองทุนรวมด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน โดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ มีการกระทำผิดในด้านความขัดแย้งทางผลประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุน และมีพฤติการณ์ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อผู้ถือหน่วยลงทุนด้วย
โดยจะเห็นได้จากกองทุนนี้ได้เข้าไปลงทุนหุ้น STARK เอาไว้มากถึง 916 ล้านหุ้น ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2565 โดยมีราคาต้นทุนตั้งแต่ 3.72 บาท ไปถึง 5 บาท ต่อมาเมื่อเกิดปัญหา STARK ยกเลิกดีลการซื้อกิจการบริษัท LEONI ประเทศเยอรมนีแล้ว กองทุนต่างๆ พากันเทขายหุ้น STARK ออกเพราะเห็นว่าไม่เป็นไปตามแผนงาน และอาจกระทบต่อผลดำเนินงานได้ แต่กองทุนนี้กลับถือครองหุ้นเอาไว้จำนวนมาก กระทั่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้พักการซื้อขาย 4 เดือน มาเปิดให้ซื้อขาย 1 เดือนสุดท้าย ระหว่างวันที่ 1 ถึง 30 มิถุนายน 2566 ทางกองทุนแห่งนี้ให้ข้อมูลต่อผู้ถือหน่วยลงทุนว่าเหลือหุ้นในมือเพียง 290 ล้านหุ้น เป็นเพียงสัดส่วนเล็กน้อย
แต่ต่อมาได้แจ้งต่อสำนักงาน ก.ล.ต.ในวันที่ 23 และ 27 มิถุนายน 2566 ว่ายังคงถือครองหุ้นไว้มากถึง 670 ล้านหุ้น และได้ขายออกไปหมด ก่อนจะถึงวันสุดท้ายที่ตลาดให้ซื้อขายได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน ซึ่งช่วงดังกล่าวราคาหุ้นเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับราคา 1 ถึง 4 สตางค์ จึงน่าจะเหลือมูลค่าที่ขายได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท จากต้นทุนที่มีอยู่ราว 3,850 ล้านบาท คาดการณ์ว่าคงจะขาดทุนสุทธิมากกว่า 3,500 ล้านบาท หรืออย่างต่ำไม่น่าจะน้อยกว่า 2,600 ล้านบาท
"กองทุนนี้มีพฤติการณ์ที่ส่อให้เห็นว่าอาจจะมีการทุจริต โดยทำการซื้อขายหุ้นที่ไม่โปร่งใส ผิดจากวิสัยของการบริหารกองทุนโดยทั่วไป โดยทำการไล่ซื้อราคา STARK ในราคาสูง ปริมาณมาก กระจุกตัว และยังซื้อกระจุกตัวในหุ้นเครือ STARK อีกหลายตัว ซึ่งผิดจากปกติวิสัยของการลงทุน และไม่ได้มีการทำการลดความเสี่ยงใดๆ แต่พอเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญด้วยการยกเลิกดีลเทกโอเวอร์ LEONI แทนที่จะขายหุ้นออกลดความเสี่ยง กลับถือหุ้นไว้ไม่มีการปรับพอร์ต จนต้องมาขายหุ้นทิ้งช่วงราคาเหลือแค่ 1 ถึง 4 สตางค์ ทำให้กระทบต่อผลดำเนินงานของกองทุนที่ลูกค้าผู้ถือหน่วยลงทุนอยู่ต้องรับผลขาดทุนย่อยยับ" ผู้แทนของกลุ่มผู้เสียหายกล่าว
นอกจากนั้น ยังพบด้วยว่ากองทุนดังกล่าวมีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางไม่สุจริตและมีความขัดแย้งทางผลประโยนชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุนหลายกรณี เช่น การเข้าไปลงทุนหุ้น SKY แบบซื้อบิ๊กล็อตราคา 30.25 บาท ตอนที่มีการไล่ราคาหุ้นขึ้นไปเพียงแค่ 2 เดือน ทั้งที่ราคาทรงตัวอยู่เขต 10 บาทนานเป็นปีแต่ไม่ยอมลงทุนซื้อตอนราคาหุ้นถูก
หรือซื้อบิ๊กล็อตหุ้น ADD ตอนไล่ราคาขึ้นไป 30 บาท แล้วมาตัดขายขาดทุนที่ 10 บาท หรือพฤติกรรมไล่ราคาซื้อหุ้น SAMART SAMTEL ในราคา 30 ถึง 45 บาท เมื่อปัจจัยพื้นฐานเปลี่ยนแปลงไปทางลบอย่างมีนัยสำคัญไม่ปรับพอร์ตใดๆ เพิ่งจะมาขายตัดขาดทุนแถวราคา 3 ถึง 5 บาทในต้นปีนี้ ทั้งที่กิจการกำลังฟื้นตัว อันเป็นพฤติการณ์ที่น่าสงสัยว่าอาจจะทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ.หลักทรัพย์ มาตรา 124/1
อีกหนึ่งในผู้ร้องทุกข์ ระบุว่า ได้รับความเสียหายจากการซื้อกองทุนดังกล่าว ตอนนี้ติดลบ 18% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกองทุนประเภทเดียวกันมาก เนื่องจากผู้จัดการและผู้บริหารกองทุนมีพฤติการณ์กระทำผิดกฎหมายด้วยเจตนาไม่สุจริต มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เข้าซื้อหุ้นลงในพอร์ตที่ไม่โปร่งใส และทำให้ไม่เกิดความเป็นธรรมต่อลูกค้าผู้ถือหน่วยลงทุน