ท่านสุลีวัด สุวันนะจูมคำ อธิบดีกรมคุ้มครองหนี้สินสาธารณะ กระทรวงการคลัง สปป.ลาว เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง สปป.ลาว เตรียมเสนอขายพันธบัตร ครั้งที่ 1/2566 โดยเป็นพันธบัตรชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือพันธบัตร รวมจำนวน 2 ชุด ในรูปแบบสกุลเงินบาท วงเงินรวมไม่เกิน 3,610.3 ล้านบาท
ชุดที่ 1 อายุ 3 ปี กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 6.1% ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2569
ชุดที่ 2 อายุ 4 ปี กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 6.6% ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2570
พันธบัตรทั้ง 2 ชุดกำหนดการชำระดอกเบี้ย ทุกๆ 3 เดือน
การจำหน่ายพันธบัตรจะดำเนินการผ่าน บริษัท หลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) บริษัทหลักทรัพย์ เอเอสแอล จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ ไอร่า จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายระหว่างวันที่ 31 ก.ค. และ 2-3 ส.ค.66 เสนอขายหน่วยละ 1,000 บาท จองขั้นต่ำ 100 หน่วย ให้ผู้ลงทุนรายใหญ่ (HNW) และผู้ลงทุนสถาบัน (II) วัตถุประสงค์การเสนอขายพันธบัตรในครั้งนี้ เพื่อต้องการนำเงินที่ได้ไปใช้รีไฟแนนซ์พันธบัตรชุดเดิมที่ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 66
ท่านสุลีวัด กล่าวว่า พันธบัตรของกระทรวงการคลัง สปป.ลาว น่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มนักลงทุนไทยที่เชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตของ สปป.ลาว ซึ่งตั้งแต่ปี 56 ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนไทยเป็นอย่างดีต่อเนื่องมายาวนาน ไม่เคยมีประวัติการผิดนัดชำระกับนักลงทุน สามารถชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยได้ตามเงื่อนไขมาโดยตลอด
ทั้งนี้ สปป.ลาวมีความแข็งแกร่งจากความได้เปรียบทางภูมิประเทศ ซึ่งข้อได้เปรียบด้านภูมิประเทศที่ลาวมีคือ พื้นที่รองรับน้ำฝนมีมากถึง 202,000 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 85% ของพื้นที่ทั้งหมดส่งผลดีต่อเศรษฐกิจลาวในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านพลังงานน้ำ (Hydro Power) ที่สามารถนำพลังงานน้ำมาผลิตไฟฟ้าใช้ในประเทศรวมถึงส่งออกสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ไทย กัมพูชา เวียดนาม พม่า มาเลเซีย และสิงคโปร์ สปป.ลาว จึงเป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำรายใหญ่ของอาเซียน จนได้รับการขนานนามว่า "แบตเตอรี่แห่งอาเซียน" โดยตามเป้าหมายของลาว ภายในปี 73 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 20,000 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นถึง 80% จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิต 11,000 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันสินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 1 ของ สปป.ลาว คือไฟฟ้า
นอกจากนี้ สปป.ลาว ยังเป็นประตูเชื่อมระหว่างจีนและอาเซียน ที่กำลังก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์และจุดเชื่อมโยงที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียนที่สำคัญ ผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมอย่างเต็มรูปแบบ เช่น โครงการรถไฟฟ้าลาว-จีน โครงการทางด่วนเวียงจันทน์-บ่อเต็น และโครงการท่าบก ท่านาแล้ง ศูนย์โลจิสติกส์เวียงจันทน์ (Vientiane Logistics Park) ที่เปิดดำเนินการแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่ง ช่วยเพิ่มโอกาสให้สินค้าส่งออกของอาเซียน และมีการขนส่งผ่านทางประเทศลาวมากขึ้น รวมไปถึงช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติให้มาตั้งฐานการผลิตใน สปป.ลาว เพิ่มขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ สปป.ลาว สามารถบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตและความแข็งแกร่งในระยะยาว โดยได้เร่งพัฒนาเพื่อยกระดับเศรษฐกิจเชื่อมโยงโลกการค้าอาเซียนสู่ตลาดต่างประเทศให้ดียิ่งขึ้น และคาดว่าปี 66-68 GDP ของสปป.ลาวจะโตขึ้นปีละประมาณ 4.5-5.0%