สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะประธานร่วมคณะทำงานขับเคลื่อนการกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่โครงการหรือกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (คณะทำงานฯ) จัดงานสัมมนา “Thailand Taxonomy กติกาใหม่เพื่อโลกที่ยั่งยืน” เพื่อประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสาระสำคัญและการนำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) ระยะที่ 1 ไปใช้เป็นมาตรฐานกลางในการกำหนดนิยามและจัดกลุ่มกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย
การพัฒนา Thailand Taxonomy เป็นผลจากการร่วมดำเนินงานของคณะทำงานขับเคลื่อนการกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่โครงการหรือกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (คณะทำงานฯ) ตามแนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance Initiatives for Thailand) ซึ่งมี ธปท. และ ก.ล.ต. เป็นประธานร่วม และประกอบด้วยหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสถาบันการเงิน
สำหรับ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 จะมุ่งเน้นการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคพลังงานและภาคการขนส่ง ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนสูงก่อนเพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมีการจัดกลุ่มกิจกรรมที่เป็นมาตรฐานเดียวกันไว้ใช้ประเมินหรือกำหนดเป้าหมายการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และเป็นหนึ่งในทางเลือกเพื่อใช้อ้างอิงสำหรับการเข้าถึงบริการและเครื่องมือทางการเงิน ที่จะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดย ธปท. และ ก.ล.ต. ได้นำความเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และองค์กรระหว่างประเทศ มาประกอบการพิจารณาจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 จนเสร็จสมบูรณ์แล้ว
โดย Thailand Taxonomy จะช่วยส่งเสริมบทบาทของภาคการเงิน รวมถึงตลาดทุนในฐานะที่เป็นตัวกลางในการจัดสรรเงินทุนในระบบเศรษฐกิจ เพื่อการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของประเทศโดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ดังกล่าวอีกด้วย
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า Thailand Taxonomy กติกาใหม่เพื่อโลกที่ยั่งยืน เป็นการแสดงให้เห็นว่าภาคส่วนต่างๆ ตื่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความสำคัญของการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่ความยั่งยืน และวันนี้เป็นความสำเร็จก้าวสำคัญที่จะได้เผยแพร่มาตรฐาน Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 แสดงถึงความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วนในการร่วมพัฒนาเครื่องมือที่จะเป็นกติกาใหม่เพื่อโลกที่ยั่งยืน ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมที่เร่งตัวและส่งผลกระทบรุนแรง ซึ่งการปรับตัวสู่ความท้าทายนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับประเทศไทย โครงสร้างเศรษฐกิจที่มีสัดส่วนสำคัญยังอยู่ในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีแบบดั้งเดิมและพึ่งพาเชื้อเพลิงจากฟอสซิล หรือคิดเป็น 30% ของ GDP ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินทุนในการปรับรูปแบบการทำธุรกิจ และวางแผนการลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ทุกภาคส่วนในไทยจึงต้องเตรียมการและปรับตัวไปสู่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้ทันการณ์ และไม่สะดุด ภาคการเงินในฐานะตัวกลางจัดสรรเงินทุนจึงเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการปรับตัวโดยคำนึงถึง “timing” และ “speed” ไม่ให้ช้าเกินไปจนความเสี่ยงก่อให้เกิดความเสียหาย และไม่เร็วเกินไปจนตัดขาดธุรกิจที่ยังไม่พร้อม
“การที่ภาคการเงินจะสนับสนุนเงินทุนได้อย่างตรงจุดจำเป็นต้องทราบก่อนว่ากลุ่มลูกค้าที่เป็นองค์กร หรือธุรกิจมีสถานะการดำเนินการอย่างคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในระดับใด จัดอยู่ในกลุ่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือกลุ่มสีเขียวหรือไม่ ถ้าไม่ เราอยู่ห่างจากความ “เขียว” แค่ไหน จะได้เตรียมการและดำเนินการปรับตัวได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ สถาบันการเงินต้องสามารถประเมินสถานะของพอร์ตตนเองได้ว่ามีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้สามารถประเมินโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม การกำหนดนิยามความเขียวของแต่ละคนปัจจุบันมีความแตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องมีมาตรฐานกลางในการกำหนดนิยามและจัดกลุ่มกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า Taxonomy” นายรณดล กล่าว
ในหลายประเทศจะมีการกำหนดนิยามความเขียวขึ้นมาแล้ว แต่บริบทของไทยก็ไม่ได้เหมือนกับต่างประเทศ ดังนั้น ธปท. สำนักงาน ก.ล.ต. และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมกันจัดตั้งคณะทำงาน Thailand Taxonomy เพื่อผลักดันให้มี Thailand Taxonomy ที่เหมาะสมกับบริบทของไทย และสอดคล้องกับหลักสากล โดยในระยะที่ 1 จะมุ่งเน้นวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเรื่อง climate change mitigation ก่อน และครอบคลุมภาคเศรษฐกิจที่สำคัญที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ได้แก่ ภาคพลังงานและภาคการขนส่ง และเราจะทยอยทำในภาคเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นๆ เช่น ภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรในระยะต่อไป
“คณะทำงาน Thailand Taxonomy ที่ช่วยกันจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 เสร็จสมบูรณ์ และ International Finance Corporation สนับสนุนเงินทุนในการจัดทำมาตรฐานนี้ รวมทั้งทุกภาคส่วนสำหรับความเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์
หวังว่าภาคส่วนต่างๆ จะนำ Thailand taxonomy มาใช้เป็นแนวทางอ้างอิงในการกำหนดนโยบายหรือกลยุทธ์การสร้างโอกาสในการหาแหล่งเงินทุน ตลอดจนการบริหารจัดการโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างเหมาะสม
สำหรับภาคการเงิน ธปท. คาดว่าสถาบันการเงินจะนำ Thailand Taxonomy ไปใช้เป็นจุดยึดโยงเพื่อประเมินสถานะของตนเองและลูกค้า (1) เพื่อให้ทราบว่าสถานะพอร์ตในภาพรวมของสถาบันการเงินมีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมแค่ไหน จะได้บริหารจัดการความเสี่ยงได้ และ (2) เพื่อให้ทราบว่าลูกค้าของสถาบันการเงินจัดอยู่ในกลุ่มไหน ซึ่งการที่สถาบันการเงินทราบสถานะของทั้งตนเองและลูกค้านั้นจะทำให้สถาบันการเงินสามารถเริ่มต้นตั้งเป้าปรับกลยุทธ์และการดำเนินงานภายใน วางแผนปรับตัว ออกแบบและนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ช่วยสนับสนุนธุรกิจไปสู่เส้นทางที่เป็นสีเขียวมากขึ้นได้อย่างราบรื่นและทันการณ์