เกาะติดปัญหาการทุจริตในบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ที่ล่าสุด ทางบริษัทได้เสนอแผนแก้ไขส่วนผู้ถือหุ้นติดลบกับทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยการอาจเข้าฟื้นฟูกิจการ ขณะที่สำนักงาน ก.ล.ต. เผยว่า แผนแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะไม่กระทบการตรวจสอบของ ก.ล.ต. เพราะทั้ง 2 ส่วนนั้นแยกจากกัน
นายธวัชชัย ทิพยโสภณ รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ STARK ได้แจ้งแนวทางการดำเนินการของบริษัท กรณีส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์นั้น สำนักงาน ก.ล.ต.ติดตามข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ แม้บริษัทจะมีแนวทางการยื่นฟื้นฟูกิจการจะไม่กระทบการดำเนินการในด้านคดี
“ข้อมูลที่บริษัทเปิดเผยนั้น สำนักงาน ก.ล.ต.ติดตามอยู่ ทั้งนี้ แม้จะมีการเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ แต่การตรวจสอบบริษัทยังดำเนินอยู่ ทั้ง 2 อย่างแยกออกจากกัน”
อย่างไรก็ตาม ในด้านความเชื่อมั่นของตลาดหุ้นและผู้ลงทุนนั้น ทางสำนักงาน ก.ล.ต.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ซึ่งเรามีการแก้ไขและเพิ่มกฎเกณฑ์การดูแลผู้ลงทุนให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงการจัดทำแผนสร้างความเชื่อมั่น ทั้งนี้ จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารของ ก.ล.ต.เพื่อพิจารณาในเดือน ก.ค.นี้
เปิดแผนแก้วิกฤต STARK เล็งเข้าฟื้นฟูกิจการ
นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ กรรมการ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ตามที่บริษัทได้นำส่งงบการเงินประจำปี 2565 ซึ่งผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีและปรากฏว่าส่วนของผู้ถือหุ้นปี 2564 (ปรับปรุงใหม่) และปี 2565 มีค่าน้อยกว่าศูนย์นั้น
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจึงประกาศให้หลักทรัพย์ของบริษัทมีเหตุเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน เพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ เรื่องการเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน บริษัทขอเรียนชี้แจงว่า บริษัทมิได้นิ่งนอนใจ และจะดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขเหตุเพิกถอนดังกล่าว
บริษัทมีความตั้งใจที่จะปรับโครงสร้างทุนและโครงสร้างหนี้ ทั้งของบริษัทและบริษัทย่อยซึ่งดำเนินธุรกิจหลัก เพื่อทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทมีค่ามากกว่าศูนย์ และมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานตามปกติของบริษัทย่อยซึ่งดำเนินธุรกิจหลัก โดยบริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทาง ดำเนินการแก้ไข ดังต่อไปนี้
1.เจรจากับเจ้าหนี้ที่สำคัญทั้งหมด เพื่อให้เจ้าหนี้ต่างๆ ระงับการใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้โดยพลัน สนับสนุนแผนการปรับโครงสร้างทุนและโครงสร้างหนี้ของบริษัท รวมถึงให้ความช่วยเหลือทางการเงิน เพื่อวางแผนการบริหารการชำระหนี้ และวางแผนธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
2.จำหน่ายทรัพย์สิน (เช่น หุ้นในบริษัทย่อยที่ไม่ได้ดำเนินธุรกิจหลักของบริษัท สิทธิเรียกร้องในสัญญาที่สำคัญ) และปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณธุรกิจ เพื่อเพิ่มรายได้และลดต้นทุนคงที่ (fixed cost) และค่าใช้จ่ายของบริษัท
3.เพิ่มทุนจดทะเบียนเพื่อจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมในปัจจุบัน หรือพิจารณาหานักลงทุนรายใหม่ เพื่อเพิ่มส่วนของผู้ถือหุ้นและเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท
4.ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายเพื่อดำเนินการฟื้นฟูกิจการ เพื่อปรับโครงสร้างทุนและโครงสร้างหนี้ของบริษัท รวมถึงให้สิทธิการแปลงหนี้เป็นทุนแก่เจ้าหนี้ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ
ทั้งนี้ ในการจะพิจารณาเลือกแนวทางแก้ไขส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ บริษัทจะต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงเงื่อนไขและข้อจำกัดต่างๆ ภายใต้สัญญาทางการเงิน และสัญญาที่สำคัญต่างๆ ความต้องการของตลาดในการเข้าซื้อทรัพย์สินของบริษัทและปัจจัยในการกำหนดราคาที่เกี่ยวข้อง ความร่วมมือและการสนับสนุนของเจ้าหนี้ที่เกี่ยวข้อง การให้การสนับสนุนของผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท ตลอดจนผลกระทบต่างๆ เพื่อคงไว้ซึ่งคุณสมบัติ
ในการดำรงสถานะของบริษัทจดทะเบียน เพื่อรักษาประโยชน์สูงสุดของบริษัท ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียทุกรายของบริษัท โดยคณะกรรมการและผู้บริหารชุดปัจจุบันของบริษัทมีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะแก้ไขเหตุดังกล่าว เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ภายใต้กรอบของกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และบริษัทจะแจ้งให้ทราบถึงแนวทางดำเนินการแก้ไขเหตุเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน และกำหนดเวลาของการดำเนินการดังกล่าวแก่ผู้ถือหุ้นและนักลงทุน ภายในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566