xs
xsm
sm
md
lg

STARK เร่งรวมหลักฐานเอาผิดผู้บริหาร บ.ย่อย หลังทุจริตทำบริษัทเสียหาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น" เผยไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งรวมหลักฐานเอาผิดผู้บริหาร บ.ย่อย ที่ทำการทุจริตจนเกิดความเสียหาย เพื่อดำเนินคดีจนถึงที่สุด ยันผู้บริหารชุดใหม่ไม่เกี่ยวข้อง

นายอภิชาต ตั้งเอกจิต กรรมการ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) เปิดเผยว่า ตามที่ บริษัทได้เปิดเผยงบการเงินรวมของบริษัท และบริษัทย่อยที่ผ่านการตรวจสอบประจำปี 65 และรายการปรับปรุงงบการเงินที่สำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับรายการผิดปกติ ในงบการเงินของบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) ในข้อย่อยที่ 1.1 ข้อย่อยที่ 1.4 และข้อย่อยที่ 1.5 ของหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 3 ของงบการเงินนั้น

1.เมื่อผู้สอบบัญชีตรวจพบความผิดปกติของรายการจ่ายเงินล่วงหน้าค่าสินค้า และรายการรับชำระหนี้ลูกหนี้การค้าของ PDITL และได้แจ้งให้บริษัททราบ คณะกรรมการและผู้บริหารชุดใหม่จึงได้สั่งการให้มีทำการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) ควบคู่ไปกับการขยายผลการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินที่ผิดปกติ (forensic accounting) โดยผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง จากการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดของทั้ง 3 ฝ่าย จึงทำให้ทราบถึงลักษณะการทำรายการที่ผิดปกติ จำนวนเงิน และบุคคลที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ คณะกรรมการและผู้บริหารชุดใหม่ต่างไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหา โดยได้ทำการปรับปรุงรายการบัญชีที่เกี่ยวข้องเพื่อให้งบการเงินฉบับตรวจสอบประจำปี 65 สะท้อนสถานะทางการเงินที่แท้จริงของบริษัท นอกจากนี้ ยังได้สอบสวนกรรมการ ผู้มีอำนาจทำธุรกรรมทางการเงินของบริษัทและ PDITL ณ ขณะนั้นเพื่อสอบข้อเท็จจริงและหาหลักฐานที่เกี่ยวข้องประกอบการดำเนินคดีจนถึงที่สุดกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมที่ผิดปกติ และทำให้บริษัทเสียหายทั้งหมด

2.ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกรรมที่ผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับ PDITL และบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เมื่อตรวจสอบรายการทางบัญชีที่ผิดปกติของ PDITL จึงพบว่ามีรายการที่ได้บันทึกบัญชีเป็นค่าซื้อวัตถุดิบ แต่ PDITL ไม่ได้จ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้การค้า (supplier) ที่แท้จริง กลับโอนเงินค่าซื้อวัตถุดิบให้แก่บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (APDE) โดย APDE ได้โอนเงินบางส่วนกลับมายัง PDITL เพื่อชำระเงินในนามลูกหนี้การค้าที่ไม่มีอยู่จริง

อนึ่ง ตามที่ได้ปรากฏในงบการเงินว่า APDE เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทนั้น บริษัทขอเรียนชี้แจงว่าการทำรายการที่ผิดปกติทั้งหมดเกิดขึ้นในเดือน ธ.ค.65 เป็นการดำเนินการภายใต้อำนาจของคณะกรรมการผู้มีอำนาจและผู้บริหารที่ดำรงตำแหน่ง และมีอำนาจสั่งการอยู่ในขณะนั้นของ APDE

ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินงานประจำ (day-to-day operation) ของ APDE ไม่ได้ทำภายใต้คำสั่งของผู้ถือหุ้น และไม่ได้อยู่ในอำนาจของผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ เมื่อคณะกรรมการและผู้บริหารชุดใหม่ได้รับทราบเกี่ยวกับธุรกรรมอันผิดปกติดังกล่าวได้ดำเนินการเปลี่ยนตัวกรรมการและกรรมการผู้มีอำนาจลงนามในวันที่ 8 พ.ค.66

3.แนวทางในการดำเนินการของบริษัทเกี่ยวกับธุรกรรมที่ผิดปกติ บริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินกระบวนทางกฎหมาย เพื่อเอาผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมที่ผิดปกติ และทำให้บริษัทเสียหาย โดยจะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นกรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในการตรวจสอบและดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าว

และเมื่อได้รับผลสรุปการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) และการขยายผลการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินที่ผิดปกติ (forensic accounting) จากผู้สอบบัญชี และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องจะนำส่งข้อมูลดังกล่าวให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ ในการดำเนินดดีกับกระบวนทางกฎหมาย เพื่อเอาผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมที่ผิดปกติและทำให้บริษัทเสียหาย


กำลังโหลดความคิดเห็น