ส่องตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า ในไตรมาส 1 เริ่มมีผู้ประกอบการกลับมาเปิดตัวโครงการอย่างคึกคัก และแต่ละโครงการสามารถที่จะปิดการขายได้ค่อนข้างดี ขณะที่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการได้เน้นเรื่องกลยุทธ์การระบายสต๊อกและลดราคาสินค้า เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็น "ไขมัน" ที่กระทบถึงธุรกิจของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้อุปทานคอนโดมิเนียมมีการปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดย ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา มีอุปทานคอนโดมิเนียมทั้งหมดประมาณ 196,241 ยูนิต ด้วยมูลค่าการพัฒนารวมประมาณ 939,603 ล้านบาท และถูกดูดซับออกไปแล้วประมาณ 139,542 ยูนิต หรือคิดเป็นร้อยละ 71.1 ด้วยมูลค่าประมาณ 668,127 ล้านบาท และยังคงมีอุปทานในตลาดที่รอการระบายอีกประมาณ 56,699 ยูนิต คิดเป็นร้อยละ 28.9 ด้วยมูลค่ารวมประมาณ 271,476 ล้านบาท ของอุปทานทั้งหมด
โดยฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย คาดการณ์ว่าสำหรับในปี 2566 นี้ ผู้พัฒนาส่วนใหญ่ยังคงเลือกที่จะพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นนอก หรือในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างโดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงรามคำแหง-ลำสาลี มีนบุรี รถไฟฟ้าสายสีเหลือง บริเวณถนนลาดพร้าวและศรีนครินทร์ และรถไฟฟ้าสายสีชมพู ถนนรามอินทรา และในพื้นที่ทำเล เกษตร-นวมินทร์ รามคำแหง สุขุมวิท เป็นต้น ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่คาดการณ์ว่าจะมีการโครงการคอนโดมิเนียมเปิดตัวใหม่อย่างคึกคักในปีนี้
วิจัยฯ ทีทีบี คาด Gen Z ติดกับดักกำลังซื้อ
ไลฟ์สไตล์ทำงานเปลี่ยน มองการเช่าแทนซื้อที่อยู่อาศัย
ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินปี 2566 ตลาดอาคารชุดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รับแรงกดดันจากกลุ่มผู้ซื้อ Gen Z ที่มีข้อจำกัดทั้งในประเด็นพฤติกรรมการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยที่ไม่ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ และมีข้อจำกัดทางการเงินที่เพิ่มขึ้น จากราคาที่ปรับเพิ่มตามต้นทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้เข้าสู่ยุค Generation Rent ที่เน้นการเช่ามากกว่าซื้อ ส่งผลต่อมิติหน่วยโอนให้มีการหดตัวอยู่ที่ 8.4-12.5% แนะผู้ประกอบการเร่งปรับกลยุทธ์พัฒนารูปแบบที่อยู่อาศัยแนวสูงให้สอดคล้องกับรูปแบบครอบครัวขนาดเล็กในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมไปถึงกลุ่ม Gen Y ที่มีจำนวนมากและความพร้อมทางการเงินที่สูงกว่า
อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยมีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทย ด้วยมูลค่าการโอนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.05 ล้านล้านบาท ในปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งทำเลหลักยังอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีมูลค่าการโอนที่อยู่อาศัย 6.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 61.9% ของมูลค่าการโอนที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม ประเด็นน่าสนใจคือ ตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเริ่มมีสัดส่วนลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบมูลค่าการโอนทั่วประเทศ จากที่เคยมีมูลค่าการโอนเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ 67% ของมูลค่าการโอนที่อยู่อาศัยรวม และสูงสุดในปี 2564 ที่มีสัดส่วน 71% ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากตลาดอาคารชุดที่รับแรงกดดันจากกำลังซื้อที่ชะลอตัว สะท้อนผ่านสัดส่วนมูลค่าการโอนอาคารชุดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่เคยมีสัดส่วนมากกว่า 45% ลดลงมาเหลือเพียง 34% ในปี 2565 ที่ผ่านมา
แม้ว่าในไตรมาสแรกของปี 2566 ตลาดอาคารชุดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะมีจำนวนหน่วยโอนเพิ่มขึ้น 11% แต่เป็นการเพิ่มขึ้นจากฐานต่ำเทียบกับไตรมาสแรกของปีก่อน โดยเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2562 พบว่า หน่วยโอนมีสัดส่วนเพียง 71.5% และเมื่อพิจารณาในมิติของมูลค่าการโอนอาคารชุดกลับเพิ่มขึ้น 27% ซึ่งสะท้อนถึงการที่ผู้ประกอบการเริ่มขยับเน้นตลาดกลาง-บน เพื่อลดแรงกดดันจากกำลังซื้อที่เริ่มลดลง สะท้อนถึงความอิ่มตัวของตลาดอาคารชุดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ประกอบกับสัญญาณจากฝั่งผู้ประกอบการที่ชะลอการเปิดตัวโครงการอาคารชุดใหม่ในไตรมาสแรกของปี 2566 นี้ ที่เปิดตัวเพียง 7,260 ยูนิต ลดลงกว่า 61% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือลดลง 46% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งสาเหตุของการชะลอตัวของตลาดอาคารชุดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ttb analytics มองว่าเกิดจากแรงกดดันหลัก 2 ประการ ดังนี้
1.กลุ่ม Gen Z (คนรุ่นใหม่ที่เกิดในช่วงปี พ.ศ.2538-2552 อายุระหว่าง 14-28 ปี ที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต) จะกลายมาเป็นกลุ่มกำลังซื้อหลักของตลาดอาคารชุด ที่เป็นเป้าหมายของกลุ่มช่วงวัยก่อนสร้างครอบครัวที่ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม Gen Z ซึ่งมีแนวโน้มการเลือกซื้ออสังหาริมทรัพย์น้อยลง จากความไม่สอดคล้องระหว่างระดับรายได้และทำเลที่อยู่อาศัยที่ต้องการ เนื่องจากกลุ่มผู้ซื้อ Gen Z เป็นกลุ่มที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง และต้องการได้ทำเลที่อยู่อาศัยที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ ซึ่งส่วนใหญ่ทำเลที่ต้องการจะอยู่บริเวณพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) ซึ่งมีราคาอาคารชุดที่สูงเมื่อเทียบกับรายได้ของกลุ่มผู้ซื้อ Gen Z ที่อายุงานไม่เกิน 6 ปี รวมถึงทัศนคติเรื่องการทำงานของ Gen Z มีมุมมองต่างไปจากกลุ่ม Gen Y โดยเฉพาะทัศนคติเรื่องการเปลี่ยนงาน เป็นปัจจัยหนึ่งของความสำเร็จ และส่งผลต่อการได้รับเงินเดือนที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าการทำงานในที่เดิมเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้การเลือกซื้อที่อยู่อาศัยอาจเป็นข้อจำกัดในการโยกย้ายงานมากกว่าการเช่า ที่สามารถเปลี่ยนแปลงที่พักอาศัยให้มีความเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงที่ทำงานได้ดีกว่า
2.ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เร่งตลาดอสังหาริมทรัพย์เข้าสู่ Generation Rent เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต ส่งผลให้ผู้คนในยุคปัจจุบันมีแนวโน้มเช่าที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากราคาขายอาคารชุดใหม่มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น จากต้นทุนที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่ปรับเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2563 กว่า 16.3% โดยเฉพาะต้นทุนเหล็กที่ปรับเพิ่มขึ้นถึง 46.8% ต้นทุนด้านการเงินที่มีทิศทางปรับเพิ่มตามดอกเบี้ยนโยบายซึ่งในรอบปีที่ผ่านมามีการปรับเพิ่มขึ้นอีก 1.5% รวมถึงต้นทุนที่ดินมีการปรับตามราคาประเมินใหม่เริ่มบังคับใช้ในปี 2566 นี้ ส่งผลให้ราคาขายมีแนวโน้มปรับตามต้นทุนงานก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นมากใน 2-3 ปีที่ผ่านมา
รวมถึงเมื่อเปรียบเทียบความคุ้มค่าระหว่างการเช่ากับซื้อ พบว่า จากราคาขายอาคารชุดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในภาพรวมมีการปรับเพิ่มเทียบกับปี 2561 ถึง 29% ในขณะที่อัตราค่าเช่ากลับมีทิศทางที่ลดลงราว 7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียว จึงส่งผลให้ทิศทางการเลือกอาศัยในอาคารชุดรูปแบบการเช่าในไตรมาส 1 ปี 2566 เพิ่มขึ้นถึง 56% เมื่อเทียบกับความต้องการซื้อที่ลดลงราว 5% เมื่อเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน
คาดหน่วยโอน-มูลค่าการโอนปี 66 หดตัว
ด้วยเหตุนี้ ttb analytics มองสถานการณ์ตลาดอาคารชุดในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเริ่มเข้าสู่ยุค Generation Z x Rent ที่ได้รับแรงกดดันจากพฤติกรรมของผู้ซื้อกลุ่ม Gen Z และแรงกดดันในมิติของการเงินที่ผลักดันให้ตลาดเข้าสู่ Generation Rent ส่งผลให้แนวโน้มนับจากปี 2566 ตลาดอาคารชุดในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีแนวโน้มเข้าสู่ขาลง โดยหน่วยโอนคาดว่าจะปรับลดลงราว 8.4-12.5% ที่หน่วยโอน 69,800-73,000 หน่วย ในขณะที่มูลค่าการโอนอาคารชุดอาจปรับลดลงเล็กน้อยที่ 3-5% ด้วยมูลค่า 2.12-2.16 แสนล้านบาท จากผลของราคาที่ปรับตามต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการหดตัวในตลาดอาคารชุด นับเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องเร่งปรับตัว
"แนะผู้ประกอบการควรปรับกลยุทธ์ให้ตลาดอาคารชุดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นทางเลือกใหม่สำหรับวัยสร้างครอบครัวที่ยังไม่มีบุตร หรือมีครอบครัวขนาดเล็กไม่เกิน 4 คน เช่น การปรับยูนิตขายให้มีลักษณะแบบคอนโดฯ Duplex ในกลุ่ม 5-10 ล้านเพื่อรองรับตลาดกลาง-บน และตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป สำหรับตลาดกำลังซื้อสูงเพื่อขยายโอกาสการเพิ่มเป้าหมายในกลุ่ม Gen Y ที่เป็นกำลังซื้อหลักในอดีต รวมถึงสามารถลดแรงกดดันของมิติด้านการเงินเนื่องจากกลุ่มผู้ซื้อ Gen Y ในปัจจุบันเมื่อพิจารณาถึงอายุงานจะพบว่าค่อนข้างมีความพร้อมที่สูงมากกว่า"
เอพีบุกต่อ ส่งแบรนด์ LIFE โปรเจตก์ 3
ปักหมุดพหลฯ-ลาดพร้าว เขย่าดีมานด์กลุ่มใหม่
น.ส.กมลทิพย์ บำรุงชาติอุดม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจคอนโดมิเนียมบริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AP เปิดเผยถึงภาพรวมทำเลลาดพร้าว-พหลโยธินว่า เป็นทำเลที่มีศักยภาพ เป็นโซน Strong Demand ที่สูงมาก มีทั้งที่ซื้อคอนโดมิเนียมเพื่ออยู่อาศัยจริง และซื้อเพื่อลงทุนในระยะยาว ซึ่งในทำเลดังกล่าว เอพี ไทยแลนด์ มีโครงการคอนโดมิเนียมภายใต้แบรนด์ "LIFE" พัฒนาขึ้นมา 2 โครงการ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าคนรุ่นใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และตามหัวเมืองใหญ่ ได้แก่ โครงการ LIFE ลาดพร้าว มูลค่าโครงการ 8,500 ล้านบาท ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก และ Sold Out ไปแล้ว โดยล่าสุดมีอัตราเข้าอยู่ (Occupation Rate) มากถึง 90%
และโครงการ LIFE ลาดพร้าว แวลลีย์ แฟล็กชิปคอนโดมิเนียม ปัจจุบันยืนหนึ่งคอนโดฯ ที่มีพื้นที่ส่วนกลางที่โดดเด่น เจาะตลาดลูกค้าคนเมืองรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบความ Extreme Adventure Life โดยมีมูลค่าโครงการถึง 6,450 ล้านบาท ปัจจุบันมียอดขายล่าสุดที่ 75%
ซึ่งทั้ง 2 โครงการ มีราคารีเซลเฉลี่ยประมาณ 145,000-150,000 บาทต่อตารางเมตร ถือว่าในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมา AP ประสบความสำเร็จ ในการเป็นเจ้าตลาดคอนโดฯ ติดรถไฟฟ้าย่านลาดพร้าวที่เหนือกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ ประกอบกับจุดแข็งในการพัฒนาและส่งมอบโครงการที่ตอบการใช้ชีวิตจริงของลูกค้าได้อย่างครบถ้วน ในราคาที่คุ้มค่าและจับต้องได้ รวมไปถึงเอกลักษณ์การดีไซน์และสเปซฟังก์ชันที่ทำการพัฒนามาแล้วทั้ง 2 โครงการ
“หากพูดถึงทำเลย่านลาดพร้าว-พหลโยธิน ถือเป็น Central Area ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังทำเลต่างๆ และสู่ย่านใจกลางเมืองได้อย่างสะดวกสบาย มีความเคลื่อนไหวที่เติมเต็มไปด้วยความสมบูรณ์ที่รองรับการใช้ชีวิต เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการอยู่อาศัย ส่งผลให้สินค้าคงค้างคอนโดมิเนียมในบริเวณดังกล่าวที่เป็นโครงการของผู้ประกอบการรายใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ปิดการขายและก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมด จะมีเหลือไม่เกิน 4 โครงการ ที่ขายไปค่อนข้างเยอะมากๆ ซัปพลายที่เหลืออยู่ไม่ได้กดดันต่อโครงการใหม่ โดยในส่วนของเอพีนั้นถือว่ามีความได้เปรียบคู่แข่ง เพราะเป็นคอนโดมิเนียมที่มีต้นทุนเดิม มียอดขายที่ต่อเนื่อง และสามารถปล่อยเช่าได้ในราคาที่ดี โดยห้องสตูดิโอ ขนาด 28 ตารางเมตร สามารถปล่อยเช่าได้ในราคาเริ่มต้นที่ 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนให้เจ้าของห้องได้ประมาณร้อยละ 4.5 ต่อปี”
และจากการสำรวจพบว่า ยังมีลูกค้าที่ Insight แตกต่างจาก 2 โครงการแรกดังกล่าวข้างต้น คือ ลูกค้าที่มีความต้องการความเป็นส่วนตัวสูง จึงได้พัฒนาโครงการ “LIFE พหลฯ-ลาดพร้าว” (ไลฟ์ พหลฯ-ลาดพร้าว) ซึ่งเป็นโครงการที่ 3 ในทำเลลาดพร้าว-พหลโยธิน และเป็นคอนโดมิเนียมร่วมทุนโครงการที่ 22 ระหว่าง AP และมิตซูบิชิ เอสเตท เรสซิเดนซ์ (บริษัทในเครือมิตซูบิชิ เอสเตท กรุ๊ป) สูง 40 ชั้น 1 อาคาร จำนวน 598 ยูนิต ส่วนพักอาศัยเริ่มตั้งแต่ชั้น 8-34 ห้องชุดแบบ GRAND SIMPLEX ขนาด 28.5-65 ตารางเมตร ราคาเริ่ม 4.99 ล้านบาท และชั้น 35-39 ห้องชุดแบบ NEW VERTIPLEX ขนาด 28.5-65 ตารางเมตร ราคาเริ่ม 6.29 ล้านบาท และที่ตั้งของโครงการเพียง 200 เมตร จากรถไฟฟ้าสถานีห้าแยกลาดพร้าว (ราคาเฉลี่ยทั้งโครงการประมาณ 145,000 บาท/ตารางเมตร) รวมมูลค่าโครงการ 3,500 ล้านบาท (ทำเล พหล-ลาดพร้าว จึงเป็นตลาดที่แบรนด์ LIFE ของเอพี สามารถสร้างผลงานได้ดี รวมมี 3 โครงการที่เปิดอยู่ในโซนนี้ มูลค่ารวม 18,450 ล้านบาท)
โดยจะเปิดตัวรอบ VVIP DAY วันที่ 17-18 มิถุนายน 2566 นี้ ซึ่งจะเปิดให้จองในชั้น 4-5 ชั้น จำนวนในเบื้องต้น 100 ยูนิต สำหรับลูกค้าลงทะเบียนล่วงหน้า รับส่วนลด On Top มูลค่า 200,000 บาท กับราคาพิเศษ GRAND SIMPLEX 1 ห้องนอน 35 ตารางเมตร เริ่มต้น 4.99 ล้านบาท และ NEW VERTIPLEX 1 ห้องนอน เริ่มต้น 6.29 ล้านบาท โครงการคาดว่าจนถึงปลายปี 2566 จะสามารถปิดการขายได้ประมาณ 30% ด้านการก่อสร้างได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ไตรมาส 2/2564 ปัจจุบันมีความคืบหน้าแล้ว 80% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในไตรมาส 2/2567
พฤกษาลดพอร์ตคอนโดฯ จัดโปร 12 โครงการใจกลางกรุง ลดถึง 8 แสน
นายภัคริน ทัตติพงศ์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจคอนโดมิเนียม บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลาดคอนโดมิเนียมในไตรมาส 2 ปีนี้ยังคงเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสแรก ซึ่งจากการตอบรับที่ดีต่อเนื่อง ทางพฤกษาจึงได้จัดแคมเปญ PRUKSA STORM SALE พบพายุส่วนลด พร้อมโปรโมชันต้อนรับฤดูฝน ที่คุ้มที่สุดในรอบปี ซึ่งมีคอนโดฯ ทำเลดี ใจกลางกรุงเข้าร่วมแคมเปญถึง 12 โครงการ โดยไฮไลต์ของแคมเปญนี้อยู่ที่ส่วนลดที่มอบให้สูงสุดถึง 8 แสนบาท ฟรีชุดเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฟรีค่าใช้จ่ายวันโอนทุกรายการ พบกับยูนิตโปรโมชันที่ลดยกล็อตที่สำนักงานขายทุกโครงการ และยังได้รับสิทธิลุ้นตั๋วเครื่องบิน Thai Smile มูลค่า 8,500 บาท รวม 10 รางวัล ถือเป็นอีกหนึ่งแคมเปญที่พฤกษาจะส่งมอบความสุข เพื่อให้ลูกค้ามีความเป็นอยู่ที่ดีภายใต้แนวคิด “พฤกษาอยู่ดีมีสุข Live well Stay well”
สำหรับคอนโดมิเนียมที่เข้าร่วมแคมเปญ PRUKSA STORM SALE ครอบคลุมทุกโซนใจกลางกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นโซนสุขุมวิท ได้แก่ แชปเตอร์ ทองหล่อ 25 เดอะ ไพรเวซี่ S101 พลัมคอนโด สุขุมวิท 62 และพลัมคอนโด สุขุมวิท 97.1 โซนบางซื่อ-จตุจักร ได้แก่ เดอะ ไพรเวซี่ จตุจักร และเดอะ ไพรเวซี่ เตาปูน อินเตอร์เชนจ์ โซนรามอินทรา-แจ้งวัฒนะ ได้แก่ แชปเตอร์ วัน ออลล์ รามอินทรา และพลัมคอนโด แจ้งวัฒนะ-ดอนเมือง โซนรามคำแหง-พัฒนาการ ได้แก่ เดอะ ทรี พัฒนาการ-เอกมัย เดอะทรี หัวหมาก อินเตอร์เชนจ์ และพลัมคอนโด ราม 60 อินเตอร์เชนจ์ และโซนพระราม 2 ได้แก่ พลัมคอนโด พระราม 2
ไซมิสฯ ชี้ลูกค้าต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อคอนโดฯ
นายขจรศิษฐ์ สิ่งสรรเสริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไซมิส แอสเสท จำกัด (มหาชน) หรือ SA กล่าวถึงตลาดต่างชาติว่า เดิมก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โครงการของบริษัทไซมิสฯ มีลูกค้าชาวต่างชาติโดยเฉลี่ยทุกโครงการในสัดส่วนกว่า 30% โดยทำเลหลักของลูกค้าชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีน คือ ทำเลพระราม 9 ซึ่งคอนโดฯ ในทำเลนี้มีลูกค้าชาวต่างชาติเต็มโควตา 49% ของจำนวนห้องชุดพักอาศัย แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด บริษัทไม่ได้ทำตลาดต่างชาติเลย ส่วนในปีนี้ลูกค้าชาวต่างชาติเริ่มกลับมา โดยมียอดขายจากชาวต่างชาติ 7-8 ยูนิตต่อเดือน