xs
xsm
sm
md
lg

เคทีซี x ทีดีอาร์ไอเปิดเวทีเสวนามองเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังโตดี หนุนธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคโตตาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เคทีซีจัดงานเสวนา KTC FIT Talks #9 จับเข่าคุยเรื่องเศรษฐกิจและธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคครึ่งหลังปี 2566 โดยเชิญสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมวงเสวนาฉายภาพรวม และปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ต่อด้วยภาพรวมของธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค ชี้สินเชื่อธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในช่วงครึ่งปีหลังเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรกตามแนวโน้มจีดีพีไทย ในขณะที่เคทีซีมั่นใจทิศทางและเป้าหมายการเติบโตธุรกิจส่งสัญญาณบวก พร้อมเผยกลยุทธ์บริหารการเงินในช่วงครึ่งปีหลัง

น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการ โครงการ TDRI Economic Intelligence Service (EIS)
กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้คาดการณ์อัตราการขยายตัวอยู่ที่ 3.5% จากรายรับในภาคการท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักให้เศรษฐกิจเติบโต ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยว 29 ล้านคน และ 35.5 ล้านคนในปี 2567 ในขณะที่มูลค่าการส่งออกจะลดลงจากปีที่แล้ว แม้การส่งออกไทยอาจได้ประโยชน์จากการเปิดเศรษฐกิจจีน แต่ยังมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลักที่ถดถอย

สำหรับการบริโภคภาคครัวเรือนได้ฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยว ทำให้การว่างงานลดลง แม้ว่าจะมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตที่สูง การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่มีเสถียรภาพ อาจส่งผลให้งบประมาณปี 2567 ล่าช้า ทำให้การใช้จ่ายของภาครัฐในปี 2566 จะไม่เพิ่มขึ้นจากปี 2565 มากนัก และหนี้ครัวเรือนที่สูงนับตั้งแต่สถานการณ์โควิดถึงเกือบ 90% ของ GDP อาจเป็นปัจจัยจำกัดการบริโภค โดยปัจจุบันสินเชื่อค้างชำระน้อยกว่า 3 เดือน (SML) อยู่ในระดับกว่า 6% จากช่วงก่อนโควิดที่ 3%

**ห่วงตั้งรัฐบาลล่าช้กระทบลงทุน**
“เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะเติบโตสูงกว่าในช่วงครึ่งปีแรกจากแรงหนุนของนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเข้ามามากกว่า และการส่งออกที่คาดว่าจะเติบโตได้เล็กน้อยจากที่หดตัวมาตลอดในครึ่งปีแรก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานที่ต่ำในปีก่อน โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปีนี้คาดการณ์ที่ 2.5% และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยขยับขึ้นไปอยู่ในกรอบที่ 2.25-2.5% ในสิ้นปี 2566 ขณะที่เรามองความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะโตต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3.5% นั้นจะเกิดได้ หากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวกว่าคาด เกิดเหตุความไม่สงบทางการเมือง และแนวโน้มการปรับขึ้นค่าแรงงานในระดับสูงที่อาจจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของธุรกิจมาก โดยในส่วนของปัจจัยทางการเมืองนั้น ไทม์ไลน์การตั้งรัฐบาลก็เป็นเรื่องที่จับตาดู หากล่าช้า1-2เดือนก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าช้าถึง 5-6 เดือนก็คงกระทบการลงทุนของต่างชาติ”

ส่วนภาพรวมของเศรษฐกิจโลกมองว่ายังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนหลายปัจจัย ทั้งปัญหาของการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และยุโรป อีกทั้งความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างจีนและสหรัฐฯ และสงครามยูเครนที่ยังไม่สงบ โดยธนาคารโลก (The World Bank) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตเพียง 2.1% ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 3 ทศวรรษ และอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกในปีนี้จะอยู่ที่ 7% จาก 8.7% ในปี 2565 ขณะที่จีดีพีสหรัฐฯ จะเติบโตที่ 1.1% เทียบกับปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 2.1% โดย FED ส่งสัญญาณว่าวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในปัจจุบันจะสิ้นสุดลงในเร็วๆ นี้ โดยคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ จะคงอยู่ที่ระดับ 5.25-5.50% ด้านสหภาพยุโรปคาดว่า ในปีนี้ GDP จะขยายตัว 0.4% จากปี 2565 อยู่ที่ 3.5% และจีนตั้งเป้าเติบโตเพียง 5% ซึ่งอาจส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่เน้นการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

นายชุติเดช ชยุติ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส กลุ่มงานบริหารการเงิน บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (เคทีซี)เผยว่า การประเมินเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังมีแนวโน้มขยายตัวของทีดีอาร์ไอเป็นไปในแนวทางเดียวกับข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผลจากภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการจ้างงานสร้างรายได้ และเชื่อว่าจะส่งผลบวกให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลขยายตัวมากขึ้น โดยจากการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ส่งผลให้เคทีซีสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ และมีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรที่เติบโตอย่างเห็นได้ชัด

ขณะเดียวกัน เคทีซีได้วางแผนกลยุทธ์การรุกตลาด เพื่อเตรียมรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ โดยได้ออกบัตรเครดิตเพื่อการท่องเที่ยว 2 ใบคือ บัตรเครดิต อโกด้า มาสเตอร์การ์ด และบัตรเครดิตเจซีบี อัลติเมท อีกทั้งได้คัดสรรสิทธิพิเศษหลายรูปแบบในทุกหมวดใช้จ่ายที่สำคัญ จำเป็นและคาดว่าจะได้รับความนิยม เช่น สิทธิพิเศษด้านการท่องเที่ยว สิทธิพิเศษในหมวดร้านอาหารเพื่อผู้ที่หลงใหลในรสชาติอาหารทุกกลุ่มความต้องการ สิทธิพิเศษด้านน้ำมันและประกัน สิทธิพิเศษด้านสุขภาพและความงาม เป็นต้น

**ไตรมาส2ยอดใช้จ่ายยังโตต่อเนื่อง**
“เราเชื่อว่าด้วยสถานการณ์ของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น จะเอื้อประโยชน์ให้ทุกพอร์ตสินเชื่อของเคทีซีขยายตัว และมียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น รวมทั้งธุรกิจร้านค้ารับชำระเติบโต ทั้งจากภาคอุปสงค์ในไทยที่ขยายตัว จากการใช้จ่ายในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทย แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น ต้นทุนการเงินของบริษัทฯ ยังคงสามารถรองรับการเติบโตตามเป้าหมายได้ โดยเคทีซีตั้งเป้าการเติบโตของธุรกิจในปี 2566 ดังนี้ กำไรสูงกว่า 7,079 ล้านบาท พอร์ตสินเชื่อรวมเติบโต 15% เกินแสนล้านบาท ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเติบโต 10% พอร์ตสินเชื่อบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” เติบโต 7% ยอดอนุมัติสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เพิ่ม 9,000 ล้านบาท และ NPL น้อยกว่า 1.8% ซึ่งเป็นอัตรา NPL ในปี 2022 และในช่วงไตรมาส 2 การใช้จ่ายผ่านบัตรก็ยังเติบโตต่อเนื่อง แต่อัตราการเติบโตอาจจะต่ำกว่าไตรมาสแรกที่ฐานอยู่ในระดับต่ำ

ด้านการบริหารต้นทุนในช่วงใกล้หมดช่วงวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นนั้น ขณะนี้บริษัทก็ได้มีการปรับระยะเวลาในการออกหุ้นกู้เพื่อระดมเงินทุน โดยหันมาออกหุ้นกู้ที่มีระยะเวลาสั้นลงเป็นประมาณ 2-3 ปี จากเดิมที่ 5-7 ปีเพื่อฟิกซ์ต้นทุนในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังมีแผนที่จะออกหุ้นกู้อีก 4,000-5,000 ล้านบาท จากที่ออกไปแล้ว 4,000 ล้านบาท มีต้นทุนดอกเบี้ยที่ 2.9% และคาดว่าทั้งปีจะอยู่ที่ 2.7% โดยปัจจุบันเคทีซีมีวงเงินสำรองใช้จากสถาบันการเงินอยู่ 35,000 ล้านบาท และใช้ไปแล้วประมาณ 10,000 ล้านบาท

อนึ่ง ในช่วงไตรมาส 1/2566 เคทีซีมีสัดส่วนของลูกหนี้บัตรเครดิตเทียบกับอุตสาหกรรม เท่ากับ 14.8% อัตราการเติบโตของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรอยู่ที่ 22.5% สูงกว่าอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตที่ 17.7% ส่วนแบ่งตลาดของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรของบริษัทฯ เท่ากับ 12.2% และมีสัดส่วนของลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเทียบกับอุตสาหกรรมเท่ากับ 3.8% โดยในไตรมาส 1/2566 พอร์ตสินเชื่อรวมของเคทีซีมีอัตราเติบโตจากช่วงเดียวกันของปี 2565 อยู่ที่ 14.5% โดยมีมูลค่าเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวมเท่ากับ 103,312 ล้านบาท ในขณะที่กลุ่มบริษัทยังคงบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินได้อย่างรัดกุมและมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 2.6% ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังสามารถควบคุมคุณภาพสินเชื่อได้ดี โดยมี NPL รวมอยู่ที่ 1.9% โดยเคทีซีให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในทุกสถานะเป็นจำนวน 1,995 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.0% ของพอร์ตลูกหนี้รวม และมั่นใจว่าจะสามารถคงคุณภาพพอร์ตรวมได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ พร้อมประมาณการกำไรของปี 2566 ที่สูงกว่าเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น