SCC ไฟเขียว "เอสซีจี เดคคอร์ (SCGD)" ออกหุ้นเพิ่มทุน 444.10 ล้านหุ้น รองรับการขายไอพีโอ และแลกหุ้น COTTO พร้อมแตกพาร์จาก 100 บาท เหลือ10 บาท/หุ้น นำเงินขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ และใช้ในการปรับโครงสร้างการเงิน โดย SCC ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
รายงานข่าวจาก บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 มีมติอนุมัติแผนการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ของ บริษัท เอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (SCGD) และการนำหุ้นสามัญของ SCGD เข้าจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในรูปแบบบริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) โดยกำหนดสัดส่วนจำนวนหุ้น IPO เป็นจำนวนไม่เกินร้อยละ 26.83 ของทุนชำระแล้ว ของ SCGD ภายหลังการเพิ่มทุนและการเสนอขายหุ้น IPO
นอกจากนี้ยังได้อนุมัติ SCGD แปรสภาพเป็น บริษัท มหาชน จำกัด และอนุมัติเรื่องต่าง ๆ ที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยการเปลี่ยนแปลงมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) ของ SCGD จาก 100 บาท/หุ้น หรือมีจำนวนหุ้น 121,090,000 บาท เป็นเป็น พาร์ 10 บาท/หุ้น หรือจำนวนหุ้น 1,210,900,000 บาท โดยการแตกพาร์นี้จะไม่ทำให้จำนวนทุนจดทะเบียนของ SCGD เปลี่ยนแปลงไป
ในส่วนของการเพิ่มทุนจดทะเบียนของ SCGD จำนวน 4,441,000,000 บาท จากเดิมจำนวน 12,109,000,000 บาท เป็นจำนวน 16,550,000,000 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 444,100,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท เพื่อเสนอขายหุ้น IPO ให้แก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งอาจรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียง ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ (Pre-Emptive Right) ผู้ลงทุนหลักโดยเฉพาะเจาะจง (Cornerstone Investors) กรรมการ ผู้บริหาร และ/หรือ พนักงาน บุคคลผู้มีความสัมพันธ์ของ SCGD และ/หรือ บริษัทย่อยของ SCGD ผู้มีอุปการคุณ และ/หรือ บริษัทย่อยของ SCGD รวมถึงการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายต่อผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Agent) (ถ้ามี) และ ผู้ถือหุ้นของบริษัทเอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO เพื่อชำระเป็นค่าตอบแทนในการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ COTTO ตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจของ SCGD
ทั้งนี้รายละเอียดข้างต้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตามที่คณะกรรมการของ SCGD และ/หรือ บุคคลที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการของ SCGD เห็นสมควร ซึ่งรวมถึงการกำหนดรายละเอียด เงื่อนไข สัดส่วนการเสนอขายและจัดสรรหุ้น IPO ข้างต้น ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาอีกครั้งในภายหลัง
อนึ่ง การจัดสรรหุ้น IPO ดังกล่าวจะกระทำได้ต่อเมื่อ SCGD ได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกใหม่จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนเพื่อการเสนอขายหุ้น IPO มีผลใช้บังคับแล้ว
ขณะที่จุดประสงค์ของการใช้เงิน คาดว่า SCGD จะนำเงินที่ได้รับจากการเสนอขายหุ้น IPO เพื่อใช้ลงทุนในการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ใช้ในการปรับโครงสร้างทางการเงิน ชำระหนี้บางส่วน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน รวมถึงวัตถุประสงค์อื่น
ทั้งนี้ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO บริษัทฯ จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และเป็นผู้มีอำนาจควบคุมของ SCGD และจะยังคงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ เช่นเดิม