ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี รับคงอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ “A” แนวโน้ม “Stable” จากทริส เรทติ้ง ตอกย้ำศักยภาพการดำเนินงานและความแข็งแกร่งจากการเป็นผู้นำธุรกิจยางธรรมชาติครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของโลก ความสามารถในการควบคุมและเพิ่มประสิทธิภาพบริหารต้นทุน ฐานะการเงินที่เข้มแข็งและหนี้สินต่อทุนลดลง ท่ามกลางภาพรวมอุตสาหกรรมยางธรรมชาติที่มีความท้าทายเพิ่ม
นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่และกรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจยางธรรมชาติครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของโลกและผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สถาบันจัดอันดับเครดิตชั้นนำได้ประกาศผลการประเมินอันดับเครดิตองค์กรล่าสุดของบริษัทฯ โดยล่าสุดได้คงอันดับเครดิตที่ “A” แนวโน้ม “Stable” ท่ามกลางภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมยางธรรมชาติที่มีความท้าทายเพิ่มขึ้น
จากอันดับเครดิตองค์กรดังกล่าว สะท้อนถึงพื้นฐานธุรกิจและศักยภาพการดำเนินงานที่ยังคงแข็งแกร่งจากการเป็นผู้นำธุรกิจยางธรรมชาติครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของโลก ความสามารถการควบคุมและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการต้นทุน ขีดความสามารถการแข่งขันที่ดี และความสำเร็จของแอปพลิเคชัน “SRI TRANG FRIENDS” และ “SRI TRANG FRIENDS STATION” ที่สามารถตอบโจทย์การเข้าถึงทั้งในฝั่งของชาวสวนและลูกค้า รวมถึงฐานะทางการเงินและเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจที่ยังแข็งแกร่ง โดยมีอัตราหนี้สินต่อทุน ณ ไตรมาส 1/2566 อยู่ที่เพียง 0.64 เท่า อย่างไรก็ตาม ภาพรวมอุตสาหกรรมยางธรรมชาติในปัจจุบันต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นทั้งในแง่ของดีมานด์และซัปพลาย
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ขยายกำลังการผลิตในช่วงที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สามารถเพิ่มส่วนแบ่งยางธรรมชาติในตลาดโลก โดยคาดว่า ณ สิ้นปี 2566 จะมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 3.98 ล้านตันต่อปี เพิ่มขึ้น 25% จากสิ้นปี 2565 ที่มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 3.18 ล้านตันต่อปี
ขณะที่ภาพรวมการดำเนินงานไตรมาส 1/2566 มีปริมาณการขายยางธรรมชาติรวมเกือบ 400,000 ตัน เพิ่มขึ้น 14.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 3.6% จากไตรมาสก่อนหน้า คิดเป็นอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ 71% ส่วนรายได้รวมอยู่ที่ 24,426 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 288 ล้านบาท ชะลอตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาขายเฉลี่ยยางธรรมชาติและถุงมือยางที่ลดลง อย่างไรก็ตาม สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทฯ ยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากกำลังการผลิตใหม่ที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นและดีมานด์จากกลุ่มผู้ผลิตยางล้อประเทศอื่นๆ นอกจากจีน (Non-China) ที่จะทยอยกลับมา เนื่องจากระดับยางในสต๊อกเริ่มลดลง ทั้งนี้ ในส่วนของซัปพลาย บริษัทฯ ยังคงจับตามองผลกระทบของเอลนีโญต่อซัปพลายในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด