xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชี้ส่งออกเดือน เม.ย.ทรุดต่อเนื่อง มองครึ่งปีหลังยังน่าห่วง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุจากตัวเลขการส่งออกในช่วงที่ผ่านมาของปี จึงมองแนวโน้มมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้จะเผชิญแรงกดดันมากกว่าที่เคยประเมินไว้ 

(1) แรงหนุนสำคัญจากจีนมีแนวโน้มแผ่วลงเร็วกว่าคาด โดยการนำเข้าสินค้าของจีนจากไทยในเดือน เม.ย.แม้จะขยายตัวได้ครั้งแรกในรอบ 10 เดือนที่ 8.2%YOY ทำให้การส่งออกไปจีนในเดือน เม.ย. พลิกกลับมาขยายตัวสูง และส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานต่ำ แต่ภาพรวมการนำเข้าของจีนกลับมาหดตัวอีกครั้ง อีกทั้งดัชนี Economic Surprise Index ของจีนแม้ยังขยายตัวได้ แต่ปรับลดลงเร็วในไตรมาส 2 นอกจากนี้ รวมถึงเครื่องชี้วัดการค้าระหว่างประเทศของจีน ซึ่งเป็นข้อมูลเร็วถึงเดือน พ.ค. สะท้อนให้เห็นว่าการค้าระหว่างประเทศของจีนยังไม่สามารถฟื้นตัวผ่านจุดสูงสุดในปีนี้ได้ และล่าสุดเริ่มเห็นการปรับชะลอลง ล้วนบ่งชี้ว่าอุปสงค์จากจีนยังอ่อนแอ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบด้านลบต่อการส่งออกของไทยในระยะต่อไป

(2) กิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลกมีแนวโน้มปรับชะลอลงชัดเจน โดยดัชนี Economic Surprise Index จัดทำโดย Citi Group บ่งชี้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจจริงของโลกในไตรมาส 2 เริ่มออกมาแย่กว่าตัวเลขคาดการณ์บ้างแล้ว สะท้อนโมเมนตัมเศรษฐกิจระยะต่อไปที่ไม่สดใสนัก และ

(3) ดัชนี Flash Manufacturing PMI[1] ในเดือน พ.ค. ของคู่ค้าสำคัญยังอยู่ในภาวะหดตัวจากอุปสงค์สินค้าที่ยังไม่สามารถกลับมาขยายตัวได้ นำโดย Flash US Manufacturing PMI ลดลงมาอยู่ที่ 48.5 จาก 50.2 ในเดือน เม.ย. Flash Eurozone Manufacturing PMI ลดลงมาอยู่ที่ 44.6 ต่ำสุดในรอบ 36 เดือน Flash UK Manufacturing PMI ลดลงมาอยู่ที่ 46.9 ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน อย่างไรก็ดี Flash Japan Manufacturing PMI ขยายตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ต.ค.2022 ที่ 50.8 และเป็นประเทศเดียวใน G8[2] ที่ภาคการผลิตขยายตัว 

(4) เครื่องชี้วัดการค้าระหว่างประเทศ (QuantCube International Trade Index) บ่งชี้ว่าการค้าโลกชะลอลงต่อเนื่อง นำโดยการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และอิตาลี ที่เข้าสู่ภาวะหดตัวแล้วในช่วงปลายไตรมาส 1 

(5) ข้อมูลเร็วของการส่งออก 20 วันแรกของเกาหลีใต้ในเดือน พ.ค. หดตัว -16%YOY หดตัวเพิ่มขึ้นจาก -12.5% ในเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานสูงที่มูลค่าการส่งออกของช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนที่สูงอันดับ 2 เป็นประวัติการณ์
 

ทั้งนี้ SCB EIC คาดการณ์มูลค่าส่งออกของไทยในปี 2566 อยู่ที่ 1.2%YOY (ณ เดือน มี.ค.) และอยู่ระหว่างการติดตามวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ รวมถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (El Nino) ที่อาจส่งกระทบการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย ก่อนจะเผยแพร่ประมาณการส่งออกใหม่ในช่วงเดือน มิ.ย.นี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุการส่งออกไทยเดือนเมษายนที่ผ่านมา หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่เข้ามากดดันอุปสงค์ของตลาดคู่ค้าสำคัญให้ลดลงเกือบทั้งหมด ได้แก่ สหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี ในเดือนนี้เริ่มเห็นสัญญาณการส่งออกที่ฟื้นตัวในตลาดจีน โดยขยายตัว 23.0% (YoY) หลังหดตัวติดต่อกัน 10 เดือน ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้าภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทย นำโดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงเชิงลบอื่นๆ จะเข้ามากดดันภาคการส่งออกของไทย เช่น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ความผันผวนของค่าเงิน สภาพอากาศที่อาจไม่อำนวย อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเชิงบวกต่อการส่งออกไทยจากตลาดจีนที่กลับมาขยายตัวได้ในเดือนนี้ และปัจจัยฐานที่ลดลงโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองภาพรวมการส่งออกไทยในปี 2566 ยังคงติดลบที่ -1.2%

ด้านศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย มองว่าผู้ส่งออกอาจเผชิญความเสี่ยงจากอุปสงค์ต่อสินค้าที่ยังอ่อนแอ แม้ทิศทางโดยภาพรวมการส่งออกมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องและคาดว่าจะกลับมาขยายตัวในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าไปจีนที่กลับมาขยายตัวได้ในรอบ 11 เดือน จากอุปสงค์ภายในประเทศสอดคล้องกับดัชนียอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของจีนที่ขยายตัวต่อเนื่องโดยในเดือน เม.ย. ที่ 18.4%YoY แต่ผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในหลายประเทศจากการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนของภาคธุรกิจปรับเพิ่มขึ้นท่ามกลางความต้องการสินค้าที่เปลี่ยนไปสู่ภาคบริการต่อเนื่อง ภาคธุรกิจจึงมีแนวโน้มสต๊อกสินค้าเพื่อให้เพียงพอต่อการขายเท่านั้น สะท้อนจากเครื่องชี้กิจกรรมการผลิต Flash Manufacturing PMI ล่าสุดที่ในสหรัฐฯ และยุโรปที่หดตัว ส่วนหนึ่งจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่ปรับลดลง ส่งผลให้ภาคการผลิตยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันต่อภาคการส่งออกสินค้าที่ยังเปราะบางสอดคล้องกับการส่งออกในเอเชียส่วนใหญ่ที่ยังหดตัวต่อเนื่อง จากปัจจัยดังกล่าวจึงคงมุมมองการส่งออกปีนี้ว่ามีแนวโน้มติดลบที่ 1.6%
กำลังโหลดความคิดเห็น