แรงบีบคั้นของ "เส้นตายผิดนัดชำระหนี้" ของสหรัฐฯ ใกล้เข้ามาทุกที ซึ่งกลายเป็น "การผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประเทศ" ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอาจลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่กระทบไปโลก ทำเนียบขาวและสภาคองเกรส อาจต้องเร่งปรับเพิ่มเพดานหนี้จากระดับปัจจุบันที่ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ขึ้นไป สวนทางพรรครีพับลิกันกดดันรัฐบาลสหรัฐเร่งปรับลดการใช้จ่ายลง
สำนักข่าว theguardian กล่าวถึงถ้อยแถลงของนาง เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังกล่าวว่า หากไม่ดำเนินการใดๆ สหรัฐฯ จะหมดสภาพทางการเงิน ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ภายในเส้นเวลาวันที่ 1 มิถุนายน ที่จะถึงนี้
ขณะที่การเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงในการเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ และเพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ที่อาจส่งผลร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโลกกลับมาดำเนินต่อในช่วงสั้นๆ โดยในวันศุกร์ (19 พ.ค.) ก่อนที่จะได้ข้อสรุปโดยยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจนออกมาจากทั้งสองฝ่าย
“เรามีการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมามากเกี่ยวกับสถานะที่เรากับลังประสบปัญหาอยู่ และแนวทางจำเป็นหลังจากนี้” การ์เร็ต เกรฟส์ ตัวแทนพรรครีพับลิกันกล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังการประชุมสั้น ๆ ในศาลากลางกับเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว
ด้าน แพทริก แมคเฮนรี ผู้แทนจากทำเนียบขาวกล่าวว่าเขาไม่มั่นใจว่าทั้งสองฝ่ายจะบรรลุเป้าหมายของ เควิน แมคคาร์ธี ประธานสภา ในการบรรลุข้อตกลงในสุดสัปดาห์นี้
ขณะที่ก่อนหน้านี้ โจ ไบเดน กับ กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐ และ เควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการพูดคุยกันเป็นการเฉพาะเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดย ไบเดนมั่นใจว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับ แมคคาร์ธี เพื่อหาทางออกในการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม จากกรอบเวลาการชำระหนี้ที่กระชั้นเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลอย่างชัดเจนทำให้ตลาดการเงินสั่นคลอน
ขณะที่แหล่งข่าวซึ่งไม่เปิดเผยชื่อ บอกกับ เดอะการ์เดียนว่า “มีความแตกต่างในหลายประเด็นระหว่างสองฝ่าย ในการพิจารณาด้านงบประมาณ และการเจรจาน่าจะเป็นเรื่องยาก ซึ่งขณะนี้ทีมของประธานาธิบดีกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อหาทางออกที่เหมาะสม เพื่อให้ผ่านการโหวตจากทั้ง เดโมแครต และ รีพับลิกัน ทั้งสองฝ่าย และให้สามารถผ่านทั้งสภาบนและสภาล่างได้”
ขณะที่นายมานะ คานิโยว หัวหน้าฝ่ายบริหารงานขายและพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุน บริษัท เมอร์เคิล แคปปิตอล จำกัด (Merkle Capital) ให้ความเห็นต่อวิกฤตหนี้สหรัฐในขณะนี้ว่า วิกฤติเพดานหนี้สหรัฐ ที่นักลงทุนทุกท่านควรจับตามอง มีปัจจัยต่างๆอย่างไร ได้แก่
1.การประชุมครั้งสำคัญของรัฐสภาสหรัฐในวันที่ 1 มิถุนายน จะมีการประชุมเพื่อหารือเรื่องการเพิ่มวงเงินหนี้สาธารณะของประเทศ หากไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดภายในต้นเดือนมิถุนายน อาจผลกระทบทางเชิงลบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง อย่างเช่น รัฐบาลของสหรัฐจะไม่สามารถชำระหนี้บนพัทธบัตรรัฐบาลได้ และนี่จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ส่งผลให้นักลงทุนจะเสียความมั่นใจในเงินดอลลาร์ อีกทั้งทำให้คนจะตกงานมากขึ้น และรัฐบาลอาจไม่สามารถจ่ายสวัสดิการต่างๆให้แก่ประชาชน ตามที่รัฐบาลได้สัญญาไว้ได้
2.ผลกระทบกระดับโลก หากสหรัฐไม่สามารถชำระหนี้ได้ มันจะทำให้เกิด "โดมิโนเอฟเฟกต์" ทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก และนำไปสู่สถานการณ์เศรษฐกิจทดถอยอย่างรุนแรง
3.อัตราหนี้สาธารณะเทียบกับ GDP ในปัจจุบัน สหรัฐมีอัตราหนี้สาธารณะเทียบกับ GDP ประมาณ 130% เนื่องจากการอัดฉีดเงินและการช่วยเหลือบริษัทใหญ่ตั้งแต่ปี 2009 ช่วงวิกฤตการณ์ Subprime Crisis การประคองเศรษฐกิจในช่วงโควิด รวมถึงการเพิ่มการจ่ายสวัสดิการต่างๆที่สูงขึ้น ทำให้การเพิ่มวงเงินหนี้อาจเป็นวิธีเดียวที่เหลืออยู่ แต่ทางเลือกอื่นๆ เช่น การลดการใช้จ่ายของรัฐบาลหรือเพิ่มรายได้จากภาษีอาจช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นแต่อาจใช้เวลานานถึง 10 ปีเลยทีเดียว
4.หนี้ไทยเมื่อเทียบกับสหรัฐ ค่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของประเทศไทยอยู่ที่ 61%, ซึ่งดูดีกว่าสหรัฐอย่างมาก ตามข้อมูลจาก Statista ตัวเลขนี้จะค่อย ๆ ลดลงถึง 57% ภายในปี 2028
สำหรับนักลงทุน : การหาสินทรัพย์ที่ปลอดภัยในช่วงนี้เป็นเรื่องยากทีเดียว เนื่องจากสถานการ์ณทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อที่สูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่ไม่แน่นอน ดังนั้น นักลงทุนควรทำการศึกษาอย่างละเอียดเพื่อหาการลงทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของตนเอง