"เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์" หลังรวมงบกับ "เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์" ดันรายได้รวมพุ่งเป็น 4,942.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 250% และมีกำไรสุทธิ 231.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 84% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากธุรกิจเดิมที่มีปริมาณงานเพิ่มขึ้นและฐานรายได้ที่ใหญ่ขึ้น มองแนวโน้มไตรมาส 2 เติบโตต่อเนื่อง ตรียมแผนออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อนำมาใช้ขยายการลงทุนและรีไฟแนนซ์
ดร.เอกพงษ์ ตั้งศรีสงวน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SJWD ผู้ให้บริการโลจิสติกส์และซัปพลายเชนแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2566 ซึ่งได้รวมงบการเงินของบริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SCGL) ในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2566 เข้ามาเป็นครั้งแรก หลังจากที่ดำเนินการแลกหุ้นแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเพื่อรวมกิจการตามที่ประกาศไว้ ส่งผลให้บริษัทฯ มีรายได้รวม 4,942.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 250% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 231.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 84% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
การเติบโตดังกล่าวมาจากฐานธุรกิจเดิมที่มีปริมาณงานเพิ่มขึ้นและฐานรายได้ที่ใหญ่ขึ้นภายหลังรวมกิจการ โดยธุรกิจที่มีรายได้โดดเด่นในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ได้แก่ (1) ธุรกิจขนส่งสินค้า มีรายได้ 2,478.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 666% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขยายตัวของบริการขนส่งสินค้าข้ามแดน การขนส่งสินค้าต่อเนื่องหลากหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากบริการขนส่งสินค้าในกลุ่มปูนซีเมนต์ไทย (2) ธุรกิจคลังสินค้า ประกอบด้วย คลังสินค้าทั่วไป คลังสินค้าห้องเย็น คลังสินค้าอันตรายและเคมีภัณฑ์ และบริการรับฝากและบริหารยานยนต์ มีรายได้ 817.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากงานให้บริการแก่ผู้ประกอบการรถยนต์ไฟฟ้าและสินค้ากลุ่มปูนซีเมนต์ไทยที่เพิ่มขึ้น
(3) ธุรกิจต่างประเทศ มีรายได้ 495.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,032% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการรวมรายได้ของธุรกิจในกัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สปป.ลาว และพม่า จากเอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ และ (4) ธุรกิจบริการจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ มีรายได้ 110.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 336% จากการรวมรายได้ธุรกิจท่าเรือที่มาบตาพุด และพระประแดง ของเอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จากเดิมที่มีธุรกิจบริหารท่าเทียบเรือชายฝั่งขนส่งสินค้า (Barge Terminal) และธุรกิจบริหารสินค้าทางราง (Rail Yard Management) ที่แหลมฉบัง นอกจากนี้ ยังมีรายได้ใหม่จากการให้บริการธุรกรรมขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) หลังรวมกิจการ
ขณะที่ธุรกิจที่เข้าร่วมลงทุนถือหุ้นสามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไรได้ดีในไตรมาสแรกที่ผ่านมา เช่น แอลฟา อินดัสเทรียล โซลูชั่น ที่เปิดให้บริการและขยายพื้นที่คลังสินค้า ธุรกิจท่าเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในแหลมฉบังของ ESCO นิคมอุตสาหกรรม PPSP ในประเทศกัมพูชา ที่มีรายได้จากการขายที่ดินในนิคมฯ เพิ่มขึ้น ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ชิ้นส่วนยานยนต์ภายใต้บริษัท สยาม เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด คลังสินค้าห้องเย็น PACT ที่ร่วมทุนกับบริษัทย่อยของ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป เป็นต้น
ดร.เอกพงษ์ กล่าวอีกว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2566 คาดว่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยมาจากปริมาณงานที่ให้บริการแก่ลูกค้าเพิ่มขึ้นภายหลังรวมกิจการ การทำ Cross Sale และ Up Sale การขยายฐานลูกค้าและปริมาณงานให้บริการขนส่งรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเติบโต ธุรกิจคลังสินค้าห้องเย็นที่เป็นโครงการร่วมทุนมีผู้เช่าเพิ่มขึ้นและการขยายฐานผู้เช่าคลังสินค้าของแอลฟา อินดัสเทรียลฯ ในย่านบางนา กม.22 ตลอดจนบริษัทฯ จะรวมงบการเงินของเอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ เข้ามาเต็มไตรมาส
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมด้านเงินทุนเพื่อรองรับแผนงานขยายธุรกิจภายหลังรวมกิจการ ล่าสุด อยู่ระหว่างเตรียมแผนออกหุ้นกู้ชุดใหม่ เพื่อนำมาใช้ขยายการลงทุนและรีไฟแนนซ์ หลังจากได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นเพิ่มวงเงินการออกและเสนอขายหุ้นกู้เป็น 15,000 ล้านบาท จากเดิม 3,000 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับอันดับเครดิตเรตติ้ง โดยบริษัทจัดอันดับเครดิต ซึ่งจะส่งผลดีต่อต้นทุนและค่าใช้จ่ายทางการเงินที่ลดลง