xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มนิคมอุตฯสดใสยอดขายที่ดินพุ่ง เงินลงทุนไหลเข้าไทยต่อเนื่องหนุนผลงานโต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทุนนอกไหลเข้าไทยหลังโควิดซา ส่งผลให้อุปสงค์การลงทุนฟื้นตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2566 ส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มนี้เทรดในแดนบวก ล่าสุดปิดเขียวยกแผง โบรกเกอร์มองหุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมยอดขายที่ดินจะแข็งแกร่ง พร้อมยกให้ AMATA และ WHA มีโอกาสรับประโยชน์มากสุด อานิสงส์ AMATA มีลูกค้าในกลุ่มยานยนต์ 25-30% ของลูกค้ารวมในนิคมชลบุรี-ระยอง ส่วน WHA ฐานลูกค้ากลุ่ม EV จีนรายใหญ่หลายราย หนุนผลประกอบการเติบโตสดใส

จากการที่รัฐบาลเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ ทำให้พบว่าจะเริ่มเห็นกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ เข้ามาเยี่ยมชมเพื่อลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และแน่นอนว่าเป็นสัญญานที่ดีที่แสดงให้เห็นว่านักลงทุนในต่างประเทศจะทยอยย้ายฐานผลิตจากจีนสู่ประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV ) อิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ เป็นไปได้ว่าช่วงไตรมาส 2 ปีนี้เป็นต้นไป จะเป็นช่วงที่เห็นเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าสู่พื้นที่นิคมฯ EEC เพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สรุปภาวะการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมเดือน ก.พ.2566 พบว่า ปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรม 67 แห่ง ใน 16 จังหวัด มีการลงทุนสะสม 6.86 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. รวม 2.47 ล้านล้านบาท และการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินการกับเอกชน 4.38 ล้านล้านบาท ซึ่งการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมเดือน ก.พ.ที่ผ่านมามีมูลค่า 14,767 ล้านบาท โดยสัญชาตินักธุรกิจที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก คือจีน 23.68% รองลงมาเป็นสิงคโปร์ 12.41% ญี่ปุ่น 11.65% อินเดีย 6.39% และไต้หวัน 6.02% และแนวโน้มการลงทุนจากประเทศจีนในปี 2566 มีแรงหนุนต่อเนื่อง จากปัจจัยสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้า ทำให้นักลงทุนบางส่วนต้องการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน (Exit)

ล่าสุด Hyundai Mobility บริษัทแม่จากประเทศเกาหลีใต้ เตรียมลุยตลาดไทยอย่างเต็มตัว รวมถึง Sihui Fuji Electronics Technology Co., Ltd ผู้ผลิต PCB ของจีน ที่ประกาศตั้งโรงงานผลิตแผนวงจรพิมพ์ (PCB) ในไทยมูลค่าการลงทุนราว 2,500 ล้านบาท ซึ่งจะก่อสร้างในช่วงครึ่งปีหลัง 2566 และเริ่มขึ้น Mass Production (การผลิตจำนวนมาก)ในปี 2566

ดังนั้น จากข้อมูลดังกล่าว จะส่งผลเชิงบวกต่อหุ้นกลุ่มนิคมอุตสหกรรม อันหมายถึงจะมีแรงเก็งกำไรหรือซื้อสะสมเข้ามาสำหรับหุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ทั้ง บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) หรือ ROJNA ,บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP, บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA ,บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA ,บริษัท เจซีเค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JCK และ บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ PIN

สำหรับราคาหุ้นกลุ่มนี้ช่วงที่ผ่านมาจะส่วนใหญ่เทรดในแดนบวก และล่าสุดเมื่อ 28 มีนาคมพบว่าบวกเพิ่มต่อเนื่องทั้งแผงกล่าวคือ WHA ปิดที่ 4.26 บาท เพิ่มขึ้น 0.02 บาท หรือ 0.47%, ROJNA ปิดที่ 6.55บาท เพิ่มขึ้น 0.20 บาทหรือ 3.15% , AMATAปิดที่ 22.70 บาท เพิ่มขึ้น0.30 บาท หรือ 1.34% WHAUP ปิดที่ 3.98 บาท เพิ่มขึ้น 0.04 บาทหรือ 1.02% และ PIN ปิดที่ 3.74บาท เพิ่มขึ้น 0.02 บาทหรือ 0.54%

ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส ระบุว่าแม้หลายฝ่ายจะประเมินว่าภาคการส่งออกจะชะลอตัวลง แต่เศรษฐกิจไทยปี 2566 สามารถขับเคลื่อนและขยายตัวราว 4% ได้ จากหลายปัจจัยจากทั้งภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศ รวมถึงภาคการลงทุน โดยรัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนในด้านต่างๆ และได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเปิดรับส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดย BOI ประเมินว่ามูลค่าการส่งเสริมการลงทุนในปีนี้จะมีมากถึง 1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีมูลค่าราว 6.6 แสนล้านบาท เป็นบวกต่อหุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมและโครงสร้างฟื้นฐาน

ส่วนความกังวลเรื่อง Fed จะดำเนินนโยบายเชิงรุกต่อไป ยังส่งผลต่อตลาดหุ้นสหรัฐผันผวนในช่วงสั้น แม้ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานที่ประกาศออกมาล่าสุดจะสูงกว่าคาด อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยบวกจากสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัว ทั้งจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นหนุนให้การจับจ่ายใช้สอยกลับมาคึกคัก จำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเร็วความคาดหลังจีนเปิดประเทศ รวมถึงแผนการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐในเม็ดเงินที่สูงขึ้น

บล.เคจีไอ(ประเทศไทย)จำกัด(มหาชน) หรือ บล.เคจีไอฯ ประเมินหุ้นกลุ่ม นิคมอุตสาหกรรมหรือ Industrial Estate Sector ให้คำแนะนำ "Neutral" เพราะจากข้อมูลของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ยอดยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในปี 2565 เพิ่มขึ้น 39% เป็น 6.64 แสนล้านบาท ฟื้นตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดในปี 2563 ในขณะที่ยอดอนุมัติBOI ในปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 21% เป็น 6.18 แสนล้านบาท ขณะเดียวกัน อุปสงค์การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ก็แสดงแนวโน้มในรูปแบบเดียวกัน โดยยอด FDI ที่ยื่นขอ BOI เพิ่มขึ้นเป็น 4.34แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% จากปีก่อน ในขณะที่ยอด FDI ที่ได้รับอนุมัติ BOI อยู่ที่ 3.20 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% เทียบปีก่อน ทั้งนี้ เมื่อแบ่งตามประเทศ พบว่าประเทศที่มียอด FDI สูงสุดห้าอันดับแรกยังคงเหมือนเดิม ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐ ไต้หวัน และสิงคโปร์

ขณะตัวชี้วัดเศรษฐกิจโดยรวมน่าจะฟื้นตัวขึ้น และช่วยหนุนภาวะการลงทุน เพราะตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจได้แก่อัตราการใช้กำลังการผลิตที่ขยับขึ้นมาเป็น 62.3 จากระดับต่ำสุดที่ 51.5 ในเดือนพฤษภาคม 2563 และเกือบถึงระดับค่าเฉลี่ยย้อนหลังที่ 65.2 แล้ว ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจ ขยับขึ้นมาเป็น 50.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ทะลุระดับ 50 ขึ้นมาได้เป็นครั้งแรกในรอบสิบเดือน ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยับขึ้นมาเป็น 138.4 ในเดือนมกราคม 2566 ซึ่งดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากระดับต่ำสุดที่ 108.5 ในเดือนพฤษภาคม 2563 และดัชนีการผลิตอุตสาหกรรม อยู่ที่ 94.3 ในเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งเป็นระดับก่อน โควิด ระบาด

ทั้งนี้ จากสัญญาณการฟื้นตัวของปุสงค์การลงทุน และภาวการณ์ลงทุนที่เอื้ออำนวย บล.เคจีไอฯ จึงคาดว่ายอดขายที่ดินของ Amata Corporation (AMATA.BK/AMATA TB) และ WHA Corporation (WHA.BK/WHA TB) ในปีนี้จะแข็งแกร่งหลังจากที่โมเมนตัมยอดขายดีขึ้นในครึ่งหลังปี 2565 ถึงแม้ บล.เคจีไอฯ จะใช้สมมติฐานยอดขายที่ดินปีนี้ของ AMATA ไว้สูงถึง 900 ไร่ (จากประมาณไว้ 700 ไร่ในปี 2565)และของ WHA ไว้ที่ 1,700 ไร่(จากประมาณไว้ 1,900 ไร่ ในปี 2565) แต่ทั้งสองบริษัทตั้งเป้ายอดขายที่ดินเอาไว้สูงกว่าสมมติฐานของ บล.เคจีไอฯ อีก โดย AMATA ตั้งไว้ที่ 2,250 ไร่ และ WHA ตั้งไว้ที่ 1,750 ไร่ ซึ่ง บล.เคจีไอฯ คาดว่าทั้ง AMATA และ WHA จะได้อานิสงส์จากปัจจัยของอุตสาหกรรมที่เอื้ออำนวย แต่อย่างไรก็ตาม เป้ายอดขายที่ดินที่สูงของบริษัทอาจจะท้าทายเนื่องจาก ยอดขายที่ดินของทั้งสองบริษัทมักจะไปกระจุกตัวอยู่ในช่วงหลังของปี

ดังนั้น บล.เคจีไอฯ ยังคงให้น้ำหนักหุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมที่ Neutral และแนะนำให้นักลงทุนจับตาโมเมนตัมยอดขายที่ดินใน ครึ่งแรกปี 2566 แนะนำ “ถือ” AMATA โดยประเมินราคาเป้าหมายสิ้นปี 2566 ที่ 20.50 บาท และแนะนำ “ซื้อ” WHA โดยประเมินราคาเป้าหมายสิ้นปี 2566 ที่ 4.40 บาท

บล. ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ บล.ดาโอฯ  มองว่าการที่ ฮุนได เตรียมกลับมาลงทุนในไทยอีกครั้ง โดย ส่งบริษัทลูก ฮุนได โกลวิส ร่วมทุน ซัมมิท โอโต บอดี้ และ อีสเทิร์น แอร์ โลจิสติกส์ เข้ามาตั้งบริษัท ฮุนได โกลวิส โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) ให้บริการในธุรกิจ Green Logistic (การขนส่งด้วยยานยนต์ไฟฟ้า) และมีการจับมือกับพันธมิตรใหญ่อย่างกลุ่ม ซีพี ซึ่งแผนการลงทุนในไทยของฮุนไดคือ ธุรกิจยานยนต์ ทั้งผลิต ประกอบและ จำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อเปิดไลน์การผลิตในไทย คาดว่าจะเริ่มผลิต ได้ไตรมาส 4 ปี2566 (ปัจจุบัน ฮุนไดมีโรงงานผลิตรถยนต์ที่อินโดนีเซีย) โดยมีช่วงเวลาที่เริ่ม SET UP ใน วันที่ 1 เมษายน 2566 มีการเพิ่มทุน ขึ้นเป็น 600 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียน เดิมที่ 70 ล้านบาท อีกทั้ง Sihui Fuji Electronic เตรียมลงทุนโรงงาน PCB ในไทยตั้งงบ 2.5 พันล้านบาท ที่นิคมอมตะ ระยอง

ดังนั้น จากการลงทุนดังกล่าว บล.ดาโอฯ มองว่าเป็นบวกต่อยอดขายพรีเซลที่ดินที่จะเพิ่มขึ้น บวกต่อ AMATA และ WHA ปัจจุบัน AMATA มีลูกค้าในกลุ่มยานยนต์ 25-30% ของฐานลูกค้ารวมในนิคมชลบุรี-ระยอง และ WHA มีฐานลูกค้ากลุ่ม EV จีนรายใหญ่หลายราย ทำให้ทั้ง 2 บริษัทมีโอกาสที่จะได้ประโยชน์จาก การลงทุนครั้งนี้ ในด้านประมาณการกำไร

ทั้งนี้ บล.ดาโอฯ ประมาณการกำไรปี 2565-2566 ของ AMATA ที่ 2 พันล้านบาท และ 1.5 พันล้านบาท +49%, -27% ราคาเป้าหมายปี 2566 ที่ 25 บาท ส่วน WHA ประเมินกำไรสุทธิที่ 3.55 พันล้านบาท และ 3.86 พันล้านบาท +37%, +8.7% มีราคาเป้าหมายที่ 4.50 บาท Top Pick คือ WHA

โดย WHA นั้นสิ้นปี 2565 บริษัทมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ และหนังสือแสดงเจตจำนงในการซื้อที่ดิน มากกว่า 900 ไร่ และยังมีลูกค้าที่อยู่ระหว่างการเจรจาที่สูงในหลายๆ อุตสาหกรรม ทั้งผู้ผลิตรถ EV, EV Supply Chain และอื่น ๆ ซึ่งจะ ช่วยหนุนให้ยอดพรีเซลปี 2566 เป็นไปตามเป้าที่ 1.75 พันไร่ อีกทั้งปี 2566 จะมีการขายทรัพย์เข้ากอง WHART จำนวน 1.4 แสนตารางเมตร ลดลงจากปี 2565 ที่ขายให้กอง WHART และ WHAIR จำนวน 1.6 แสนตารางเมตร และ 4.8 หมื่นตารางเมตร ตามลำดับ จึงประเมินผลการดำเนินงานปี 2566 จะยังเติบโตดี หนุนโดยราคาขายที่ดินที่เพิ่มขึ้นจากปี 2565 รวมไปถึง ส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจไฟฟ้าดีขึ้น และปริมาณการขายน้ำที่สูงขึ้น จากช่วงปลายปี 2565 ที่ลูกค้ากลุ่มไฟฟ้าชะลอการผลิตในช่วงต้นทุนแก๊สขึ้นสูง

"บล.กรุงศรี มองการลงทุนหุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม โดยเลือก ROJNA เป็นหุ้นเด่น เพราะในปี 2566 คาดกำไรจะเติบโตก้าวกระโดด 83% จากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งบริษัทปรับเพิ่มยอดขายที่ดินปี 2566-2567 เป็นปีละ 700 ไร่ จากเดิม 525 ไร่ /600 ไร่ เนื่องจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งจากกลุ่ม EV, แบตเตอรี่ EV และอิเล็กทรอนิกส์ และปรับลดส่วนแบ่งผลขาดทุนจาก บ.รัชคารโฮลดิ้ง (ปีละ 100 ล้านบาท ) เนื่องจาก ROJNA จะขายหุ้น 50% ให้กับ Gulf Holding (Thailand) Co.,Ltd. ในเดือน มี ค.นี้ แนะนำ "ซื้อ" ปรับเพิ่มราคาเป้าหมาย 7.40 บาท จากเดิม 7.00 บาท

ส่วน AMATA ปี2566 ยอดขายที่ดินเติบโตก้าวกระโดด 1,400 ไร่ จากการย้ายฐานการผลิตจากจีน และอุปทานของ AMATA เพิ่มขึ้นทั้งในไทย (นิคมใหม่ของ JV ไทย-จีน พื้นที่ขาย 1,500 ไร่ และ 500-600 ไร่เฟสใหม่ที่ชลบุรี) และเวียดนาม (Halong P2 และ Long Thanh P1) แนะนำ "ซื้อ" เป้าหมาย 27 บาท










กำลังโหลดความคิดเห็น