xs
xsm
sm
md
lg

ราคาหุ้นกลุ่มรับเหมาแผ่ว ลุ้นหลังเลือกตั้ง-งานโครงการเพียบคึกยกแผง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หุ้นรับเหมาก่อสร้างส่วนใหญ่เริ่มสงบ กูรูประสานเสียงลดน้ำหนักกลุ่มเป็น“เท่ากับตลาด” จากเดิม “มากกว่าตลาด” เหตุหลายโครงการชะลอเพื่อรอเลือกตั้ง ขณะมองระยะยาวได้แรงหนุนจากโครงการขนาดใหญ่ คาดรัฐบาลชุดใหม่ยังคงให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่องเช่นเดียวกับรัฐบาลชุดก่อน หนุนงานในมือกลุ่มรับเหมาก่อสร้างพุ่ง ส่งต่อให้ผลประกอบการในอนาคตแกร่ง มองหุ้น CK- TOA – STEC – NWR และ PYLON รับผลดีโดยตรง อีกทั้งกลุ่มวัสดุก่อสร้างบางตัวคึกตาม

หลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย และรัฐลดมาตรการต่างๆ ที่เคยเข้มงวด นั่นจึงทำให้หลายธุรกิจเดินหน้าต่อไป รวมถึงงานก่อสร้างตั้งแต่เล็กไปถึงงานโครงการใหญ่ๆหรือเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐเปิดให้ยื่นประมูล แน่นอนว่าจากการเกิดการเร่งพัฒนาโครงการดังกล่าว ย่อมส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มรับเหมา-วัสดุก่อสร้างให้กลับมาฟื้นจากที่เคยซบเซามานานตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 โครงการหลากกหลายมากมาย จากที่เคยเงียบเหงาหยุดชะงักและค้างคามานาน กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

ดังนั้น หุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างจึงคึกคักมาตั้งแต่ปีก่อน และเรื่อยมากระทั่งปีนี้ อย่างไรก็ตาม หลังนายกรัฐมนตรีออกมาประกาศจะยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ หลายโครงการใหญ่เริ่มชะลอเพื่อรอดูทิศทาง ขณะที่ราคาหุ้นกลุ่มรับเหมาส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในแดนบวกต่อเนื่องแม้บางวันอาจปรับลดลงบ้าง สำหรับหุ้นบางตัวก็ตาม

โดยราคาปิดหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างเมื่อ 21 มีนาคมที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ปิดบวกเกือบยกแผง ขณะเช้าวันที่ 22 มีนาคมหุ้นกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ภาคเช้าราคาไม่เคลื่อนไหว ส่วนหุ้นที่โบรกเกอร์หลายสำนักชื่นชอบยังคงบวกต่อเนื่อง อย่าง CK หรือ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) อยู่ที่ 19.80 บาท เพิ่มขึ้น 0.30บาท หรือ 1.54% , NWR หรือ บริษัทเนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) อยู่ที่ 0.73 บาท เพิ่มขึ้น 0.01 บาท หรือ 1.39% และ SEAFCO หรือ บริษัท ซีฟโก้ จำกัด (มหาชน) อยู่ที่ O3.46 บาท เพิ่มขึ้น 0.02 บาท หรือ 0.58% ส่วนที่เหลือราคาไม่เคลื่อนไหวจากวันก่อน และบางตัวราคาปรับลดลง 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินมูลค่าการก่อสร้างภาครัฐปี 2566 อยู่ที่ 8.4-8.5 แสนล้านบาท ขยายตัวในกรอบ 2.5-3.5% โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญของปี 2566 ยังมาจากโครงการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐขนาดใหญ่ (Mega projects) ที่กลับมาเดินหน้าก่อสร้างโครงการได้ต่อเนื่องภายหลังการหยุดชะงักและล่าช้าในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา รวมไปถึงยังมีโครงการประมูลใหม่ ที่จะเริ่มก่อสร้างช่วงปี 2566 โดยเฉพาะโครงการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้

ทั้งนี้ ความท้าทายของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องช่วงข้างหน้ายังคงอยู่ที่การบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนวัสดุก่อสร้าง ต้นทุนแรงงาน ต้นทุนทางการเงิน รวมถึงการวางแผนรับมือกับความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมที่อาจทำให้การก่อสร้างเกิดความเสียหายและล่าช้าในบางพื้นที่

การลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญที่จะช่วยยกระดับการพัฒนาและขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางบก ราง น้ำ และอากาศ ซึ่งจากพระราชบัญญัติรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ทางกระทรวงคมนาคมเป็นหนึ่งในกระทรวงที่ได้รับจัดสรรงบประมาณมากที่สุด โดยมีวงเงินงบประมาณรวม 2.28 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2565 ราว 9.8% ส่วนใหญ่จะเป็นงบรายจ่ายลงทุนของกระทรวงคมนาคมราว 2.02 แสนล้านบาท โดยมีแผนที่จะพัฒนาโครงการลงทุนก่อสร้างพื้นฐานทั้งโครงการต่อเนื่องและโครงการใหม่ ขณะเดียวกัน โครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายโครงการมีความคืบหน้าตามลำดับ

โดยโครงการก่อสร้างต่อเนื่อง คาดว่าจะมีสัดส่วนเม็ดเงินลงทุนราว 65% ขณะอีก 35% จะเป็นโครงการใหม่ๆ ที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 ส่วนใหญ่จะยังเป็นการปรับพื้นที่ก่อสร้าง การเวนคืนที่ดิน และงานก่อสร้างเบื้องต้น ซึ่งโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐที่สำคัญในปี 2566 จะเป็นโครงการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะโครงการสนามบินอู่ตะเภา โครงการท่าเรือ มาบตาพุดระยะที่ 3 และโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 อีกทั้งโครงการที่คาดว่าจะเดินหน้าก่อสร้างได้ต่อเนื่อง ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ที่ได้เริ่มก่อสร้างในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ขณะที่ในระยะข้างหน้ายังต้องติดตามแผนโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐอื่นๆ ที่อาจจะมีการลงทุน เช่น โครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง โครงการทางพิเศษ สายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้-ป่าตอง (M7) เป็นต้น

นอกจากนี้ ช่วงระหว่างก่อสร้างโครงการต่างๆ ของภาครัฐ การลงทุนก่อสร้างจะช่วยขับเคลื่อนและสร้างโอกาสให้แก่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างทั้งรายใหญ่ที่มีส่วนร่วมในโครงการลงทุนขนาดใหญ่และรายย่อยที่จะได้ประโยชน์จากการเป็นผู้รับเหมาช่วง (Sub-contractor) ตลอดจนธุรกิจผลิตและค้าขายวัสดุก่อสร้างที่จะได้รับอานิสงส์จากความต้องการใช้วัสดุก่อสร้าง ในโครงการต่าง ๆ รวมถึงภายหลังโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ น่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการขนส่งสินค้า ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งโลจิสติกส์และสร้างความสะดวกสบายให้แก่ประชาชน

รอหลังเลือกตั้ง งานโครงการอื้อหนุนระยะยาวสดใส 

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย)  ประเมินหุ้นกลุ่ม CONTRACTOR หรือ ผู้รับเหมาก่อสร้าง คำแนะนำ "Neutral" เพราะโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนต่อขยาย เลื่อนประมูล รอรัฐบาลใหม่อนุมัติคาดเห็นความคืบหน้าช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 ทั้งนี้ ครม.อนุมัติ 1 โครงการคืองานทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยายช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา มูลค่าก่อสร้าง 2.4 หมื่นล้านบาท เตรียมเปิดประมูลได้ใน เดือน ก.ย 2566

ดังนั้น ประเมินกำไรปกติปี 2566 ของกลุ่มฯ ที่ 2.4 พันล้านบาท เติบโต 48% จากปีก่อน เพราะงานในมือสูงรองรับรายได้ต่อเนื่อง และอยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาโครงการใหม่ มองที่ CK งานในมือจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.45 แสนล้านบาท หลังจากเซ็นสัญญา โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง มูลค่าโครงการราว 9 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ STEC งานในมือเข้าสู่หลักแสนล้านบาทอีกครั้ง หลังจากเซ็นสัญญา โครงการสนามบินอู่ตะเภา มูลค่า 2.7 หมื่นล้านบาท ดังนั้น CK และ STEC คาดกำไร 2 ไตรมาสแรกปี 2566จะเติบโตดี ได้แรงหนุนจากเงินปันผลรับของบริษัทลูก
 
บล.เมย์แบงก์(ประเทศไทย)หรือ บล.เมย์แบงก์ฯ ประเมินหุ้นกลุ่ม Construction & Material ให้คำแนะนำ "NEUTRAL" เพราะมองแนวโน้มปี2566 ฟื้นตัว ท่ามกลางปัจจัยท้าทายให้น้ำหนักการลงทุนเท่า ตลาด เลือก CK, TOA เป็น Top Pick บล.เมย์แบงก์ฯคาดผลประกอบการรวมหุ้นในกลุ่มวัสดุก่อสร้างจะเติบโตเล็กน้อย ตามภาวะเศรษฐกิจและ การก่อสร้างของไทย ที่จะเติบโต 3.2%/1.9% ส่วนกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง คาดจะมีโครงการขนาดใหญ่เปิดประมูลต่อเนื่องหลังจากได้รัฐบาลชุดใหม่ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อและเศรษฐกิจถดถอย ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศกระทบต่อต้นทุนพลังงาน ต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับขึ้น บล.เมย์แบงก์ฯ ให้น้ำหนักกลุ่มวัสดุก่อสร้าง และรับเหมาก่อสร้าง เท่าตลาด บล.เมย์แบงก์ฯ เลือก CK เป้าหมาย 28 บาท และ TOA เป้าหมาย 37 บาท เป็น Top Pick

ทั้งนี้ มองว่ากลุ่มรับเหมาก่อสร้าง จะได้แรงหนุนจากโครงการขนาดใหญ่ บล.เมย์แบงก์ฯ คาดหมายรัฐบาลชุดใหม่ จะยังคงให้น้ำหนักการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่องเช่นเดียวกับรัฐบาลชุดก่อนๆ โครงการขนาดใหญ่ที่คาดหมายจะเปิดประมูลในปี 2566 เช่น รถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย รถไฟทางคู่เฟสสอง มอเตอร์เวย์ รวมทั้งหมดประมาณ 4.9 แสนล้านบาท จะช่วยเพิ่มงานในมือกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง และผลประกอบการในอนาคต รวมถึงช่วยเสริมแรงเก็งกำไรหุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้างในช่วงที่มีการเปิดประมูล เรามอง CK จะเติบโตเด่นในกลุ่ม เนื่องจาก Backlog เข้าสู่ New S-Curve และ แรงหนุนจากบริษัทลูก

โดยกลุ่มวัสดุก่อสร้างจะเติบโตตามเศรษฐกิจและการลงทุนรวม เนื่องจาก เศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดจะเติบโต 3.2% เท่าปี 2565 ขณะที่การลงทุนรวมในประเทศปี 2566 จะเติบโตชะลอตัวลงเหลือ 1.9% จากปี 2565 ที่โต 2.5% ทำให้ความต้องการวัสดุก่อสร้าง เช่น ปูนซีเมนต์ กระเบื้อง จะโตไม่สูงนัก 1-3% ด้านต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบ มีแนวโน้มจะผ่อนคลายลงเมื่อเทียบกับปี 2565 จะช่วยหนุนความสามารถทำกำไรดีขึ้น บล.เมย์แบงก์ฯมอง TOA และ EPG จะเติบโตเด่นในกลุ่ม โดย TOA มีการขยายสู่วัสดุก่อสร้างครบวงจรมากขึ้น และ EPG แรงหนุนจากการขยายกำลังการผลิต ลงทุนในบริษัทใหม่และเพิ่มกำลังการผลิต

อย่างไรก็ดีในปี 2566 ยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนและท้าทาย หลายปัจจัยต่อเนื่อง คือ ปัจจัยเสี่ยงทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อและเศรษฐกิจถดถอย รวมถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศกระทบต่อต้นทุนพลังงาน ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ปัญหาแรงงาน และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ค่าไฟฟ้าในประเทศที่ปรับขึ้น เสถียรภาพทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้ง

บล.เอเซีย พลัส  มอง หุ้นรับเหมาก่อสร้างได้รับผลบวกจากการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นปีนี้และเชื่อว่าทุกพรรคการเมืองจะชูนโยบายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในการหาเสียง อันจะช่วยเติม Backlogให้กับกลุ่มรับเหมา และปี 2566 คาดหวังจะเห็นการเปิดประมูลโครงการใหญ่เพิ่มอีกหลายโครงการ ทำให้คาดหมายผลประกอบการโดยรวมของกลุ่มรับเหมาปี 2566 จะเติบโตโดดเด่นตามยอดการรับรู้รายได้ที่เพิ่มขึ้น หลังหมดปัญหาแรงงานขาดแคลนจากการที่ภาครัฐเปิดให้นำเข้าแรงงานต่างด้าวตั้งแต่เดือน ส.ค.ปีที่ผ่านมา ซึ่งฝ่ายวิจัยเลือกบริษัทรับเหมาใหญ่พื้นฐานแกร่งอย่าง CK ราคาเป้าหมาย 27.00 บาท, STEC ราคาเป้าหมาย 15.50 บาท รวมถึงบริษัทเสาเข็มอย่าง SEAFCO ราคาเป้าหมาย 4.92 บาท และ PYLON ราคาเป้าหมาย 5.60 บาท ส่วนบริษัท รับเหมาขนาดกลางอย่าง NWR แนะนำเก็งกำไร

บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ บล.ดาโอฯ ประเมินทิศทางหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างที่โครงการใหม่เริ่มลดลงในช่วงปลายปีที่ผ่านมาและไตรมาสแรกปี 2566 มีโอกาสล่าช้าเพราะใกล้เลือกตั้ง โดยปัจจุบันโครงการที่มีความคืบหน้ามากสุดมีเพียง โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง (ไม่รวม Missing Link) มูลค่ารวม 2.2 หมื่นล้านบาท แต่ยังอยู่ระหว่างจัดทำ TOR และสรุปราคาและโครงการรถไฟทางคู่เฟส 2 จำนวน 3 เส้นทางใหม่ มูลค่ารวม 1.3 แสนล้านบาท (ซึ่งล่าสุดไม่ผ่านมติ ครม. ) ดังนั้น  จึงปรับน้ำหนักลงทุนเหลือ “เท่ากับตลาด” จากเดิม “มากกว่าตลาด” ผลจากแนวโน้มการเปิดประมูลโครงการใหญ่ในช่วงเวลาที่เหลือของปีเริ่มลดลงและมีโอกาสล่าช้าจากการใกล้เลือกตั้ง ขณะที่สายสีส้มยังต้องรอ process คดีความ นอกจากนี้ จากการศึกษาของ บล.ดาโอฯ พบว่าราคาหุ้นกลุ่มรับเหมามีทิศทางจะ in line หรือ underperform SET ในช่วงก่อนเลือกตั้ง 

ทั้งนี้ สำหรับ Top pick กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ชอบ CK แนะซื้อให้ราคาเป้าหมาย 25.40 บาท) มากสุด จากผลการดำเนินงานและ backlog ที่กลับมา turnaround และมี catalyst เฉพาะตัวจากความคืบหน้าสัญญา EPC โครงการหลวงพระบางในครึ่งหลังปี 65 ซึ่ง มีมูลค่างานก่อสร้างสูงถึง 8-9 หมื่นล้านบาท โดยจะช่วยลดความเสี่ยงและเป็นข้อได้เปรียบหากการประมูลโครงการรัฐล่าช้า ส่วนกลุ่มรับเหมาขนาดเล็ก ชอบ PYLON แนะซื้อให้ราคาป้าหมาย 5.40 บาท จากผลการดำเนินงานและ backlog ที่ฟื้นตัวเร็ว และมีข้อได้เปรียบในเรื่องแรงงานมากกว่าคู่แข่ง สำหรับหุ้นรับเหมาขนาดเล็กตัวอื่นจะกลับมาน่าสนใจมากขึ้น หากสถานการณ์ GPM, ปัญหาแรงงานขาดแคลน, และการเจรจางานใหม่มีสัญญาณดีขึ้นชัดเจน และราคาหุ้นมีโอกาสน้อยที่จะ outperform ช่วงก่อนเลือกตั้ง




กำลังโหลดความคิดเห็น