ส่องผลกระทบกลุ่มทุนสีเทา หว่านเม็ดเงินเข้ามาฟอกในตลาดคริปโตฯ ปปง.ยอมรับสังคมพัฒนา เทคโนโลยีพัฒนาทำให้การฟอกเงินซับซ้อนขึ้น ขณะที่ทั่วโลกพบปัญหาเดียวกัน จนเรียกร้องสร้างกฏและมาตรการควบคุม ยกเคส “แทนไท” นำเม็ดเงินจากทุนสีเทาเข้ามาเทรดใน “บิทคับ” เป็นกรณีตัวอย่าง หลายฝ่ายย้ำรอความชัดเจนจาก ก.ล.ต. และหวังหน่วยงานรัฐมีมาตรการควบคุมและลงโทษเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน หากมีส่วนรู้เห็นต้องดำเนินคดีถึงที่สุด
ต้องยอมรับว่ามีเม็ดเงินจากทุนสีเทาทั้งแบบชาวไทย และชาวจีนจำนวนมากกำลังกระจายตัวทำเงินอยู่ในประเทศไทย โดยหลายฝ่ายเชื่อว่ายังมีเม็ดเงินเหล่านี้อีกเป็นจำนวนมากในหลายสินทรัพย์ และในหลายช่องทางทำเงินขณะนี้ ซึ่งรวมไปถึงตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะคริปโตเคอร์เรนซี่ ซึ่งกำลังเป็นที่ฮอตฮิตอยู่ในสังคมยุคปัจจุบัน แม้จะมีการเปิดเผยข้อมูลว่าตลาดแห่งนี้เป็นอีกหนึ่งช่องทางของการฟอกเม็ดเงินสีเทา แต่ด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลเข้ามากระตุ้นให้ตลาดมีอัตราการเติบโตที่สูง ก็อาจทำให้การตรวจสอบและการควบคุมลดหย่อนลงไป
สิ่งที่ปรากฏชัด ณ ขณะนี้ คือเหตุการณ์ของนายแทนไท ณรงค์กูล และพวก ที่ล่าสุดในรายละเอียดของคำพิพากษาศาลแพ่ง คดีหมายเลขดำที่ ฟ50/2564 , คดีหมายเลขแดงที่ ฟ101/2565 เมื่อ วันที่ 16 สิงหาคม 2565 มีคำสั่งให้ยึดทรัพย์ประมาณ 176 ล้านบาท โดยชี้ให้เห็นว่า คำแก้ต่างและร้องค้านของนายแทนไท พ่อ แม่ และผู้ที่เกี่ยวข้องรวม 8 คนนั้นฟังไม่ขึ้น โดยพบว่ามีเม็ดเงินจำนวนหนึ่งที่ถูกยึดทรัพย์นั้น ถูกนำไปใช้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ด้วยการนำกำไรจากการเทดค่าเงินต่างประเทศไปลงทุนซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล กับ บิทคับ ออนไลน์ จำกัดของนายท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา จนได้กำไรหลายสิบล้านบาท
และในช่วงเวลาต่อมา ผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวได้สร้างระลอกคลื่นเข้าไปสั่นสะเทือนให้กับ “กลุ่มบิทคับ” (Bitkub)ในฐานะผู้ทำหน้าที่เป็นตลาด Exchange ของเหรียญคริปโตฯที่ดันมีลูกค้าเป็นกลุ่มทุนสีเทาแอบเข้ามาใช้ตลาดเป็นเครื่องมือในการปั๊มเม็ดเงิน และเปลี่ยนสภาพจากเงินเทาๆให้กลับมาเป็นเงินสีขาว
โดยเริ่มมีข่าวออกมาว่า จากการสืบสวนของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ในกรณีของกลุ่มการพนันออนไลน์พบว่า อาจจะมีผู้บริหารของ บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด หรือ "บิทคับ" ได้ไปมีส่วนพัวพันกับกลุ่มการพนันออนไลน์ จึงได้มีการส่งเรื่องดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และขณะนี้ ก.ล.ต.กำลังอยู่ระหว่างตรวจสอบ โดยได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดำเนินการเรื่องดังกล่าวต่อ และมีการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา สำหรับสิ่งน่าสนใจจากประเด็นดังกล่าวคือการกล่าวอ้างว่าน่าจะมีการกล่าวโทษกับทางบิทคับ และผู้บริหารของบริษัท รวมไปถึงการถอดถอนใบอนุญาต
นั่นทำให้ บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ออกมาชี้แจงว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ ประกอบธุรกิจและให้บริการแก่ลูกค้าด้วยความสุจริต โปร่งใส และเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพที่ดี โดยบริษัทฯ คำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล รวมถึงบริษัทฯ ได้ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดกฎหมายอย่างสม่ำเสมอและมาโดยตลอด
ที่ผ่านมาบริษัทฯ ยึดถือการกำกับดูแลกิจการที่ดีและประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายเป็นสำคัญ และผู้บริหารของบริษัทฯ ยึดมั่นในหลักคุณธรรม ความสุจริตและความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเป็นสำคัญเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ บริษัทฯ และผู้บริหารของบริษัทฯ จึงมีความยินดีที่จะให้ความร่วมมือแก่หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นที่ปรากฏตามข่าว
ขณะเดียวกัน นายสกลกรย์ สระกวี ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ได้ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Sakolorn Sakavee ว่า “สำหรับผม เรื่องข่าว ผมตกใจมาก ผมคิดว่าพวกผมกำลังโดนแกล้ง แบบแรงมากๆ ลงข่าวทำให้คนเข้าใจผิด มาลงว่าจะโดน ถอดไลเซนส์ บ้ามากๆ !! บริษัทอื่นที่เอาเงินลูกค้าไปโดยไม่ขออนุญาต ยังไม่มีคำเหล่านี้หลุดออกมาเลย ข่าวจากแหล่งข่าวอะไรก็ไม่รู้ ครั้งนี้กระทบกับความเชื่อมั่นหนักมาก ระบบ KYC , CDD , STR ผมบอกเลยบริษัทเราเข้มที่สุดในทุกบริษัท ไม่ง่ายเลยที่จะผ่าน KYC ที่ Bitkub และผมมั่นใจว่าผู้บริหารทุกคนที่บิทคับ รวมถึงตัวของ ผมเอง ที่เป็นอดีตประธานกรรมการบริษัท ยินดีให้ตรวจสอบทุกอย่าง เส้นทางการเงิน และทุกสิ่งทุกอย่าง มั่นใจว่าโปร่งใส ไม่มีเกี่ยวข้องกับพวกที่เป็นข่าวอย่างแน่นอน”
ส่วนเหตุผลถูกนำมากล่าวอ้างคือ การเติบโตด้านผลประกอบการของ “บิทคับ”ในช่วงปี 2563-2565 โดยผลประกอบการสวนทางกับภาวะเศรฐกิจที่เป็นช่วงของสถานการณ์ Covid-19 กำไรเพิ่มจาก 100 ล้านบาท เป็น 2,600 ล้านบาท ถูกโยงไปว่าส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการรับฝากการทำธุรกรรมฟอกเงินจากบ่อนพนันออนไลน์ แต่เรื่องดังกล่าวจำเป็นต้องมีการตรวจสอบและพิสูจน์ที่แน่ชัดมากกว่านี้
อย่างไรก็ตาม แม้อดีตผู้ก่อตั้ง “บิทคับ” จะออกมายืนยันมาตรฐานความปลอดภัยของระบบในปัจจุบันว่าสูงมากกว่ารายอื่นๆ แต่ต้องไม่ลืมสิ่งเหล่านี้ถูกเตือนและสั่งให้แก้ไขโดย ก.ล.ต.มาหลายครั้งโดยเฉพาะในช่วงปี 2563-2565 ซึ่ง ก.ล.ต.เคยตรวจสอบพบว่า “บิทคับ” ขาดการกำกับดูแลกิจการที่ดี เช่น ระบบงานงานภายในภายใน การพิสูจน์ตัวตนของลูกค้า (KYC) การพิจารณาสถานภาพทางการเงินของลูกค้า (CDD) และบกพร่องการรายงานธุรกรรมต้องสงสัยจำนวนหลายรายการ (STR) ทำให้มีคำสั่งให้แก้ไขอยู่หลายครั้ง
วุฒิฯ ชำแหละปัญหา ปปง.กำราบทุนสีเทา
ล่าสุดการปฏิบัติหน้าที่ของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ถูกอภิปรายอย่างกว้างขวาง ในการประชุมวุฒิสภาเมื่อวันอังคารที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา ในวาระการพิจารณารายงานผลการปฏิบัติงานของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยในที่ประชุมมีผู้แทนจากสำนักงาน ปปง. เข้าร่วมประชุมชี้แจง คือ นายเทพสุ บวรโชติดารา รองเลขาธิการ ปปง.ว่าที่เลขาธิการฯ คนใหม่ เป็นผู้นำเสนอรายงาน
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ ได้แถลงผลการพิจารณาศึกษาต่อที่ประชุม สรุปได้ว่า คณะกรรมาธิการมี ความเห็น ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะต่อรายงานผลการปฏิบัติงานของ ปปง.ที่น่าสนใจดังนี้
เทคโนโลยีช่วยการฟอกเงินซับซ้อน
1. ข้อมูลภาพรวมของหน่วยงาน เนื่องจากปัจจุบันมีการพัฒนาการติดต่อสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้น ส่งผลให้ปัญหาการกระทำผิดฐานฟอกเงินและความผิดร้ายแรง ในรูปแบบต่างๆ มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยอาศัยเทคโนโลยีในการกระทำความผิด ทำให้ยากแก่การสืบสวนปราบปราม ซึ่งเงินทุนสีเทาที่ใช้ในการกระทำความผิดมาจากหลากหลายองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติในหลายประเทศ รวมทั้งการกระทำความผิดภายในประเทศไทยด้วย และจากการศึกษาของ TDRI เรื่อง แนวโน้มการฟอกเงินในประเทศไทยพบว่า แนวโน้มปัญหาการฟอกเงินเกิดจากความท้าทาย 3 ประการ ได้แก่
1) การเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยี
2) วิวัฒนาการการฟอกเงิน ที่ซับซ้อนขึ้น ทำให้ยากต่อการปราบปรามและการตัดวงจรของเงินผิดกฎหมาย เช่น การใช้ช่องทาง อินเทอร์เน็ตและเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ การใช้สินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset) คริปโตเคอเรนซี และโทเคนดิจิทัล การจัดตั้งบริษัทและธุรกิจบังหน้า การฟอกเงินผ่านบริษัทนำเที่ยว มูลนิธิหรือองค์กร ไม่แสวงหากำไร ผู้ประกอบวิชาชีพทนายความและนักบัญชีเป็นช่องทางหรือให้ความช่วยเหลือในการฟอกเงินเป็นต้น
3) ข้อจำกัดบางประการที่ประเทศไทยยังขาดการประเมินความเสี่ยงด้านการฟอกเงิน ของอาชญากรรมแต่ละประเภทที่มีความเสี่ยงสูง รวมทั้งขาดการวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์และยังไม่มีการกำหนดนโยบายและมาตรการใน "เชิงป้องกัน" เกี่ยวกับการป้องกันการ ฟอกเงิน
ความร่วมมือกับ ปปง.คือสิ่งสำคัญ
ขณะเดียวกันผลการปฏิบัติงานการที่สำนักงาน ปปง.มีมาตรการทางกฎหมายและมาตรการ กำกับติดตามให้สถาบันการเงินรายงานการทำธุรกรรมมายังสำนักงาน ปปง. จึงควรให้รายละเอียดว่ามีการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์มากน้อยเพียงใด สามารถประเมินผลสำเร็จในการป้องกันและปราบปราม การฟอกเงินได้หรือไม่
รวมทั้งการสนับสนุนข้อมูลให้กับหน่วยงานภายนอกเพื่อดำเนินการตามกฎหมายอื่น มีมากน้อยเพียงใด และควรดำเนินการสืบสวนสอบสวนหากลุ่มผู้กระทำความผิดต่างๆ ว่ามีกลุ่มใดกระทำความผิดฟอกเงินที่เกี่ยวกับความผิดมูลฐานในเรื่องใดบ้าง ขณะที่ธุรกรรมที่ได้รับรายงานที่สำนักงาน ปปง. ต้องมีการดำเนินการตรวจสอบและวิเคราะห์แล้วพบว่าเป็นธุรกรรมที่มีเหตุสงสัยมีปริมาณลดลง และไม่ได้ ให้รายละเอียดว่ามีหลักเกณฑ์อย่างไรในการตรวจสอบ เพราะเหตุใดจึงมีการตรวจสอบจำนวนเท่านั้น และมีการดำเนินการอย่างไรกับธุรกรรมที่เหลือที่ไม่มีการตรวจสอบ
ตลอดจนธุรกรรมประเภทโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มจะต้องเพิ่มสูงขึ้น สำนักงาน ปปง. จะมีแผนรับมืออย่างไร และจะมีบทบาท ในการเฝ้าระวังการใช้บัญชีบุคคลอื่นหรือการรับจ้างเปิดบัญชีเพื่อใช้ในการกระทำความผิดได้อย่างไร และควรจะเพิ่มบทบาทในการดำเนินการคดีอาญาฐานฟอกเงินให้มากขึ้นนอกเหนือจากการดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สิน
วอนเร่งนำเทคโนโลยีมาช่วยตรวจสอบ
ส่วนปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงาน ในรายงานดังกล่าวปรากฏเพียงแต่ข้อเสนอแนะการขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการก่อการร้าย แต่ไม่ปรากฏเรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญ คือ ปัญหาเรื่องจำนวนเจ้าหน้าที่ ปัญหาด้านงบประมาณ วัสดุ และอุปกรณ์ รวมถึงปัญหาด้านการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประโยชน์ของการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในธุรกิจการเงิน ได้แก่ การทำงานแบบอัตโนมัติ การป้องกันการฉ้อโกง และให้คำแนะนำในเรื่องการเงินกับลูกค้าได้แบบรายบุคคล
ดังนั้น สำนักงาน ปปง. จึงควรสนับสนุนภาคธุรกิจรวมถึงสถาบันการเงิน ใช้ระบบ AI ดังกล่าวด้วย และควรเร่งรัดและเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงาน และพัฒนาบุคลากร ให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อให้ทันต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของภาคีเครือข่ายด้านป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้าน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและขยายเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วน
พบพฤติกรรมฟอกเงินผ่านสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลก
ก่อนหน้านี้ รายงานจาก Elliptic (สำนักวิเคราะห์ออนไลน์) ระบุว่า มีข้อมูลธุรกรรมผิดกฎหมาย นับตั้งแต่ปี 2563 พบว่าอาชญากรไซเบอร์ได้ใช้การแลกเปลี่ยนแบบกระจายอำนาจ(DEXs) ผ่านระบบข้ามสายบล็อกเชน และบริการแลกเปลี่ยนที่ไม่ใช่ KYC (เรียกว่าการแลกเปลี่ยนเหรียญ) เพื่อเคลื่อนย้ายเงินเกือบ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยรายงานระบุว่า มีการใช้มากขึ้นในการประมวลผลเงินที่เชื่อมโยงกับกิจกรรมต่างๆ เช่น การโจรกรรม บริการเว็บมืดฝังไวรัส การผสมด้วยแผนการล่อลวงที่หลากหลาย ในลักษณะชักชวนการลงทุนด้วยผลตอบแทนสูงซึ่งแท้จริงแล้วคือแชร์ลูกโซ่ ตลอดจนการฝังแรนซัมแวร์และอื่น ๆ เพื่อเรียกค่าไถ่ข้อมูลหรือจารกรรมข้อมูล
ทั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นช่วยสะท้อนว่า แม้บรรดากูรูต่างๆจะออกมาการันตีว่า “คริปโตเคอร์เรนซี” คืออนาคตใหม่ของโลกการลงทุน แต่ว่าปัจจุบันหลายประเทศเริ่มเห็นช่วงโหว่ที่น่ากลัวของเครื่องมือการลงทุนดังกล่าวออกมาอย่างต่อเนื่องนอกเหนือจากจีนที่ดำเนินการควบคุมเรื่องดังกล่าวอย่างหนักหน่วงด้วยเช่นกัน เช่น Financial Stability Oversight Council หรือ FSOC ซึ่งเป็นหน่วยงานในการกำกับดูแลเสถียรภาพการเงิน ของรัฐบาลกลางสหรัฐ ออกโรงแจ้งเตือนช่องโหว่ความเสี่ยงในตลาดคริปโตเคอร์เรนซี หลังมีการนำไปใช้อย่างแพร่หลายในลักษณะกระจายอำนาจ หรือ decentralized แต่มีความผันผวนสูง ปลอดภัยต่ำ ความไม่สมดุลของสภาพคล่อง ซึ่งอาจต้องมีการกำกับดูแลและบังคับใช้กฎระเบียบเพิ่ม
เมื่อเร็วๆนี้มีนักลงทุนรายหนึ่งแสดงความเห็นถึงเรื่องดังกล่าวว่า รูปแบบการเทรดเหรียญคริปโตฯ ที่อาจเป็นช่องให้มิจฉาชีพใช้ในการฟอกเงิน คือการเทรดแบบ Peer-to-peer เพราะวิธีนี้ สามารถแลกเปลี่ยนเหรียญจากคนหนึ่ง ไปสู่อีกคนหนึ่งโดยตรง ทำให้ไม่ต้องยืนยันตัวตน แตกต่างจากการแลกเปลี่ยนผ่านกระดานเทรดตามปกติ ที่ต้องยืนยันตัวตน ก่อนนำเข้าสู่กระดานเทรด
ดังนั้นหากจะอุดช่องโหว่ไม่ให้มิจฉาชีพใช้ช่องทางนี้ในการฟอกเงิน สามารถให้ ก.ล.ต. ออกมาตรการควบคุม โดยหากมีการนำเหรียญคริปโตฯ เข้าสู่กระดานเทรด อาจจะให้แช่แข็งไว้ก่อน จนกว่าผู้ที่นำเข้าระบบจะสามารถแจกแจงที่มาได้ว่า ได้รับเหรียญมาจากไหน และหากแจกแจงไม่ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็อาจจะริบเหรียญฯ และตรวจสอบเส้นทางบัญชีผู้ที่นำเหรียญเข้ามา
ขณะที่ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) รายงานว่าที่ผ่านมาตำรวจไซเบอร์ก็มีการหารือกับ ก.ล.ต. มาโดยตลอด โดยมีการเสนอให้ ก.ล.ต. เชิญบริษัทใหญ่ที่เปิดให้เทรดสกุลเงินดิจิทัลมาเจรจา ว่าสามารถช่วยแก้ปัญหาบัญชีลักษณะนี้อย่างไรได้บ้าง หากไม่ได้ควรต้องยุติบริการบางอย่างในไทย ซึ่งหากอุดช่องโหว่จุดนี้ได้ คาดว่าจะช่วยตัดช่องทางการฟอกเงินของอาชญากร ได้ 50% ซึ่งประเด็นนี้อยู่ในระหว่างการเจรจาหารือกัน
เยอรมนีเสนอคุมคริปโตฯทั่วโลก
ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลชั้นนำของเยอรมนี เรียกร้องให้มีการควบคุมอุตสาหกรรมสกุลเงินดิจิทัลทั่วโลก เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค, ป้องกันการฟอกเงิน และรักษาเสถียรภาพทางการเงิน โดยนายมาร์ค แบรนสัน ประธานหน่วยงานกำกับดูแลตลาดการเงินของเยอรมนี “บาฟิน” (BaFin) กล่าวว่า แนวทางปฏิบัติแบบไม่แทรกแซง “ที่ปล่อยให้อุตสาหกรรมดังกล่าวโตเป็นสนามเด็กเล่นของผู้ใหญ่” คือ กลยุทธ์ที่ไม่ถูกต้อง
แบรนสันกล่าวเสริมว่า แม้ “ยุครุ่งโรจน์ของคริปโตฯ” อาจจะมาตามหลัง “ยุคมืดมนของคริปโตฯ” แต่อุตสาหกรรมซึ่งเกิดขึ้น กลับมีแนวโน้มที่จะมีความเชื่อมโยงกับการเงินแบบดั้งเดิมมากขึ้น ส่งผลให้ความจำเป็นในการกำกับดูแลเพิ่มขึ้นเช่นกัน
“มันถึงเวลาของการควบคุมสกุลเงินดิจิทัลอย่างจริงจังแล้ว” เขากล่าว “ประเด็นที่สำคัญที่สุด คือ มันไม่ต้องการแค่การแก้ไขในยุโรป แต่มันจำเป็นต้องมีการแก้ปัญหาทั่วโลก”
อาร์เจนตินาเสนอเปิดเผยคริปโตฯลดหย่อนภาษี
เมื่อเร็วๆนี้ รัฐบาลอาร์เจนตินา ยื่นข้อเสนอประชาชนเปิดเผยข้อมูลถือครองคริปโตฯ แลกส่วนลดภาษีกระทรวงเศรษฐกิจของอาร์เจนตินา โดยเตรียมออกข้อเสนอจูงใจประชาชนในการเปิดเผยข้อมูลเพื่อหวังแก้ปัญหาการฟอกเงิน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาของประเทศ
จากการเปิดเผยของ cointelegraph กล่าวถึงการเสนอร่างกฎหมายของกระทรวงเศรษฐกิจอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นผู้จัดการนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ได้ร่างกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้ชาวอาร์เจนตินาเปิดเผยข้อมูลการถือครองสกุลเงินดิจิทัล โดยแลกกับส่วนลดการจัดเก็บภาษี
ตามรายงานของ Errepar ซึ่งเป็นสื่อท้องถิ่นของประเทศ เมื่อวันที่ 6 มกราคม ระบุว่า Sergio Massa รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจเสนอร่างกฎหมาย "Externalization of Argentine Savings" โดยระบุว่าวัตถุประสงค์ของข้อกฏหมายดังกล่าวนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อหวังแก้ปัญหาการฟอกเงิน ซึ่งผู้ที่มีความประสงค์เข้าร่วมในนโยบายดังกล่าวนั้นกำหนดให้ผู้ถือ crypto จัดทำคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเงื่อนไขตามสัตยาบันที่จะระบุที่อยู่ของพวกเขาต่อรัฐบาล
ขณะที่ผู้ที่ประกาศการถือครองโดยสมัครใจภายใน 90 วันนับจากวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้จะจ่ายภาษีเพียง 2.5% จากอัตราการคำนวนของผลที่ได้จากต้นทุนในการถือครอง crypto ของพวกเขา ขณะที่อัตราภาษีนี้จะเพิ่มขึ้นทุกๆ 90 วันจนกว่าจะถึง 15% ซึ่งเป็นอัตราภาษีผลได้จากทุนมาตรฐานของประเทศ
อย่างไรก็ตามร่างกฎหมายยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้ชาวอาร์เจนตินาประกาศการถือครองสินทรัพย์ทางการเงินอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้กำไรจากการขายหุ้น เช่น เงินตรา หุ้น พันธบัตร อสังหาริมทรัพย์ และแม้แต่เฟอร์นิเจอร์
วอนกำหนดบทลงโทษที่เป็นมาตรฐานควบคุม
แหล่งข่าวรายหนึ่งแสดงความเห็นถึงเรื่องดังกล่าว สิ่งที่เกิดขึ้นกับ บิทคับ ถือเป็นบทเรียนที่น่าสนใจสำหรับการฟอกเงินของกลุ่มทุนสีเทาทั้งจากกลุ่มทุนจีน หรือกลุ่มทุนพนันออนไลน์ และกลุ่มมิจฉาชีพอื่นๆ ว่าที่ผ่านมาเราพยายามป้องกันนักลงทุนจากการถูกหลอกลวงให้เข้ามาลงทุน แต่เราลืมให้ความสำคัญต่อการนำเงินสีเทามาเปลี่ยนสภาพในตลาดคริปโตฯ สิ่งนี้ถือเป็นบทเรียนที่ดี ที่หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะ ก.ล.ต. และ ปปง. ว่าต่อไปควรมีมาตรการหรือบทลงโทษต่อ Exchange ที่รับรู้ในเรื่องดังกล่าวแล้วยังเพิกเฉยเพิกเพื่อหวังค่าคอมมิชชั่น ว่าจะการตักเตือน การปรับ หรือท้ายที่สุดมีการเพิกถอนใบอนุญาตหรือไม่
โดยเฉพาะในส่วนของผู้บริหาร Exchange ถ้าหากมีการตรวจสอบและพบว่ามีส่วนร่วมกระทำความผิด ก็ควรได้รับบทลงโทษขั้นสูงสุดในแง่กฏหมายต่างๆ ส่วนกรณีของ บิทคับ แหล่งข่าวกล่าว หาก ก.ล.ต.มีการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวจริง ก็ควรรอการตรวจสอบจาก ก.ล.ต.ให้เรียบร้อยเสียก่อน โดยหากไม่พบความผิดก็ควรมีการเชิญทุก Exchange มาพูดคุยเพื่อหาแนวทางป้องกัน แต่หากพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องก็ควรมีมาตรการจัดการที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
“สิ่งที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นครั้งแรกของตลาดคริปโตฯไทยที่มีข้อมูลหรือหลักฐานรองรับ เราควรมองหาหนทางป้องกันและปราบปราม ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐเป็นเรื่องสำคัญ หากมีความผิดก็ควรมีบทลงโทษที่เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน ควรจะมีตั้งแต่ระดับเบาไปจนถึงขั้นรุนแรงสุด”
ดังนั้น ภาพรวมแม้การดำเนินงานของ ก.ล.ต.ต่อการควบคุมดูแลตลาดคริปโตเคอร์เรนซีอาจดูช้าหรืออืดอาด แต่หลายฝ่ายต่างมุ่งหวังว่า ก.ล.ต.จะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่างๆของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้ครอบคลุมถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน และความเสี่ยงต่างๆที่จะมีผลต่อนักลงทุนได้อย่างครบถ้วน เพราะไม่เช่นนั้นอาจเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นอีกจนอาจทำให้ตลาดคริปโตเคอร์เรนซีที่ใครต่อใครเชียร์ว่าดี ว่าคือโอกาส อาจเป็นเพียงแค่บ่อนพนันที่กรรมการไม่เคยตามทันผู้เล่นได้สักที
และยิ่งในช่วงเวลานี้ มือดีที่เชี่ยวชาญในการควบคุมคริปโตฯอย่าง “รื่นวดี สุวรรณมงคล” เลขาธิการ ก.ล.ต.กำลังจะหมดวาระลง ก็ได้แต่ภาวนาขอให้ได้ว่าที่เลขาธิการ ก.ล.ต.ที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาสานต่อ และแก้ไขปัญหาต่างๆได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมคาดหวังว่าอย่าเป็น “สีเทา” เหมือนเม็ดเงินเทาๆที่กำลังไหลเข้ามาสู่ตลาดทุนไทย