"เชฎฐ์ เอเชีย" ปิดเทรดวันแรกเหนือจอง หุ้นปิดที่ 3.00 บาท เพิ่มขึ้น 0.10 บาท หรือ 3.45% มูลค่าซื้อขาย 1,818.62 ล้านบาท ผู้บริหารเตรียมเงินไปใช้ขยายงาน
บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ CHASE เข้าซื้อขายเป็นวันแรก เมื่อเปิดตลาดราคาหุ้นอยู่ที่ 3.52 บาท เพิ่มขึ้น 0.62 บาท จากราคาจองซื้อไอพีโอที่กำหนดไว้หุ้นละ 2.90 บาท หรือเพิ่มขึ้น 21.38% ระหว่างวันราคาขึ้นสูงสุดที่ 3.58 บาท ต่ำสุดที่ 3 บาท เมื่อปิดตลาดราคาหุ้นอยู่ที่ 3.00 บาท เพิ่มขึ้น 0.10 บาท หรือ 3.45% มูลค่าซื้อขาย 1,818.62 ล้านบาท
สำหรับ CHASE เป็นผู้ให้บริการบริหารหนี้สินและจัดเก็บหนี้ครบวงจร โดยมีบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญในครั้งนี้ โดยมีผู้ถือหุ้นหลังเข้าตลาด 3 อันดับแรก ได้แก่ ครอบครัวชัยสุวรรณ ถือหุ้น 51.43% กลุ่ม อาร์เอส กรุ๊ป ถือหุ้น 21.35% และ BNP MELLON NOMINEES LIMITED ถือหุ้น 3.53%
โดย CHASE มีทุนชำระแล้ว 992,720,900 บาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท โดยเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชน จำนวนรวม 562 ล้านหุ้น ประกอบด้วย หุ้นสามัญเพิ่มทุน 417 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมของบริษัท อาร์เอส มอลล์ จำกัด (บริษัทย่อยของ RS) 145 ล้านหุ้น ให้แก่บุคคล และ/หรือผู้ลงทุนสถาบันตามดุลพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ 538.30 ล้านหุ้น บุคคลที่มีความสัมพันธ์ของบริษัท พนักงานของบริษัทและบริษัทย่อย และผู้มีอุปการคุณของบริษัท 23.70 ล้านหุ้น ในวันที่ 13-15 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ในราคาหุ้นละ 2.90 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 1,209.30 ล้านบาท
นายประชา ชัยสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CHASE เผยว่าเตรียมนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ในการลงทุนขยายพอร์ตเงินให้สินเชื่อแก่สินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) โดยตั้งเป้าซื้อปีละไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท และมุ่งเน้นไปที่สินเชื่อแก่สินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ไม่มีหลักประกัน (Unsecured Loan) และเตรียมขยายบริการการติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้สินให้ครอบคลุมยิ่งขึ้นสู่กลุ่ม Non-bank พร้อมย้ายสำนักงานใหญ่รองรับการขยายตัวของธุรกิจ
โดยปี 2566 บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้การเติบโตกว่าปี 2565 อยู่ที่ 15% ทั้งนี้ บริษัทยืนยันธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (AMC) ไม่เจอการดิสรัปชัน ซึ่งเทคโนโลยีใหม่ๆ จะยิ่งช่วยให้เชฎฐ์ เอเชีย มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประกอบกับในสถานการณ์ปัจจุบันที่มี NPLs ล้นตลาด จึงเป็นจังหวะที่ดีของธุรกิจในการระดมเงินทุนเพื่อนำไปพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานเชิงรุกของบริษัท