xs
xsm
sm
md
lg

TPCH ปี 66 ลุยธุรกิจพลังงานทดแทนทั้งใน-ต่างประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง โชว์ผลงานปี 65 มีกำไรสุทธิ 179.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.4% เทียบกับของปีก่อน อานิสงส์รับรู้รายได้โครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล 10 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตรวม 106.8 เมกะวัตต์ บอร์ดไฟเขียวจ่ายปันผลเป็นเงินสด 0.183 บาท/หุ้น ผู้บริหารเผยลุยธุรกิจพลังงานทดแทนในต่างประเทศ ทั้ง “กัมพูชา-สปป.ลาว-เวียดนาม” ตั้งเป้าหมายมีกำลังการผลิตรวม 300 เมกะวัตต์ ปี 2568

นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 2565 (สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565) มีกำไรสุทธิ 179.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.4% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสุทธิ 135.40 ล้านบาท และมีรายได้รวม 2,647.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีรายได้รวม 2,470.39 ล้านบาท

ปัจจัยที่สนับสนุนให้มีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ของโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลครบ 10 แห่ง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวล CRB, MWE, MGP, TSG, PGP, SGP, PTG, TPCH 5, TPCH 1 และ TPCH 2 ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 106.8 เมกะวัตต์

“ภาพรวมผลประกอบการของปี 2565 บริษัทฯ สามารถทำผลงานได้เป็นที่น่าพอใจ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้ง 10 แห่ง สามารถเดินเครื่องได้ตามปกติ ในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าขยะ สยาม พาวเวอร์ (SP) ขนาดกำลังการผลิต 9.5 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ในช่วงของปรับจูนเครื่องจักร และคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2566” นางกนกทิพย์ กล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการอนุมัติให้จ่ายปันผลงวดประจำปี 2565 ให้ผู้ถือหุ้นเป็นเงินสด 0.183 บาท/หุ้น ซึ่งวันกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record date)ในวันที่ 28 เมษายน 2566 และกำหนดวันที่จ่ายปันผลเป็นวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ทั้งนี้ การจ่ายเงินปันผลดังกล่าวขึ้นอยู่กับการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทในวันที่ 19 เมษายน 2566

ด้านนายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) กล่าวว่า สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2566 บริษัทฯ มุ่งเน้นการขยายธุรกิจพลังงานทดแทนไปในต่างประเทศ ประกอบด้วย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เวียดนาม และกัมพูชา โดยอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนสำหรับโครงการแรกในรูปแบบ IPP ประมาณไตรมาส 1/66

สำหรับแผนการลงทุนในประเทศอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะ 5-7 โครงการ ภายใต้บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด (SP) ซึ่ง TPCH ถือหุ้นในสัดส่วน 50% เพื่อเข้าร่วมโครงการรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในปีนี้ประมาณ 1-2 โครงการ โดยเป็นโครงการรูปแบบ VSPP ทั้งหมด

ในส่วนของโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล แม่ลาน กำลังการผลิตรับซื้อไม่เกิน 2.85 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล บันนังสตา กำลังการผลิตรับซื้อไม่เกิน 2.85 เมกะวัตต์ ขณะนี้การก่อสร้างมีความคืบหน้ากว่า 92% แล้ว และเริ่มทดสอบระบบเพื่อเตรียมความพร้อมในการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ คาดจะสามารถ COD ได้ภายในครึ่งปีแรกของปี 2566

“ในปีนี้ TPCH พร้อมเดินหน้าศึกษาและพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนในหลากหลายรูปแบบ ทั้งพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความชำนาญในพื้นที่ในต่างประเทศ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ ส่วนในประเทศยังคงพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะ รวมทั้งพลังงานประเภทชีวมวลที่บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว และล่าสุด บริษัทฯ ได้ลงนามเซ็นสัญญาการซื้อขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน Renewable Energy Certificate : REC 2022 ที่บริษัทได้รับบางส่วนกับบริษัท คันไซ อิเล็กทริค เพาเวอร์ จากประเทศญี่ปุ่น จะช่วยส่งเสริมให้มีรายได้เข้ามาเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะทำสัญญาการซื้อขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนฯ ให้ลูกค้าที่สนใจอีกหลายราย จึงมั่นใจว่าปัจจัยเหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้ผลงานในปีนี้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้และสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้ผู้ถือหุ้นได้” นายเชิดศักดิ์กล่าว 

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายการมีกำลังการผลิตรวม 300 เมกะวัตต์ แบ่งออกเป็นโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล 100 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะ 50 เมกะวัตต์ และโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และลมในต่างประเทศ 150 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568

ซึ่งปัจจุบัน TPCH มีการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ของโครงการโรงไฟฟ้า 11 แห่ง ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล CRB, MWE, MGP, TSG, PGP, SGP, PTG, TPCH 5, TPCH 1 และ TPCH 2 รวมทั้งโครงการโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะ สยาม พาวเวอร์ (SP) ขนาดกำลังการผลิต 9.5 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 116.3 เมกะวัตต์


กำลังโหลดความคิดเห็น