xs
xsm
sm
md
lg

CeFi หรือ DeFi - 2 แนวคิดที่อาจต้องจบกันที่คนละครึ่งทาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นับตั้งแต่การเกิดขึ้นของเทคโนโลยี Blockchain ในปี 2009 ทำให้แนวคิดการเงินแบบกระจายอำนาจ (DeFi) ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอย่างมาก ถึงขั้นมีการตั้งคำถามขึ้นมาว่า ระหว่างโลกการเงินแบบรวมศูนย์ (Centralized Finance) หรือ CeFi เช่น ธนาคารและตลาดหุ้น ซึ่งถูกควบคุมโดยหน่วยงานหรือองค์กรส่วนกลางที่เราคุ้นเคย หรือโลกการเงินเสรีแบบกระจายอำนาจ (Decentralized Finance) DeFi ที่ถูกขับเคลื่อนอย่างอิสระโดยผู้คน ภายใต้เงื่อนไขที่ตกลงกันผ่าน Smart Contract บนระบบ Blockchain ทางเลือกไหนเหมาะสมกว่ากัน และเป็นไปได้ไหมที่เราจะมีโลกการเงินแบบ CeFi และ DeFi อยู่ด้วยกัน และหากรวมกันแล้วเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร?

หากมองกันที่ DeFi ในเชิงโครงสร้างเป็นระบบการเงินที่มีข้อได้เปรียบในเรื่องของความสามารถในการเข้าถึง ซึ่งแตกต่างจาก CeFi ที่โดยทั่วไปแล้วการจะเข้าถึงสินค้าหรือบริการให้ครอบคลุมที่สุด อาจต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และมีความเชี่ยวชาญเรื่องการเงินในระดับสูง เนื่องจากทุกคนสามารถเข้าถึง DeFi ได้ ขอเพียงแค่มีอุปกรณ์ Smartphone และเชื่อมต่อ Internet ซึ่งทำให้ประชากรบางกลุ่มที่ก่อนหน้านี้อาจถูกกีดกันหรือเข้าไม่ถึงระบบการเงินแบบดั้งเดิมสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดการเงินได้

นอกจากนี้ DeFi ยังมีศักยภาพในการให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น จากการตัดตัวกลางการให้บริการต่างๆออก ทำให้แพลตฟอร์ม DeFi มีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบดั้งเดิม เช่น แพลตฟอร์มการให้กู้ยืม DeFi อาจให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าบัญชีออมทรัพย์แบบดั้งเดิมหลายเท่า

อย่างไรก็ตาม DeFi ยังคงเผชิญกับปัญหาความท้าทายหลายด้าน โดยหนึ่งในความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดคือ การยังไม่มีการออกแบบกฎระเบียบในการกำกับดูแลที่เหมาะสม ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความกังวลด้านความปลอดภัยและเสถียรภาพ ส่วนความท้าทายอีกเรื่อง คือ ความซับซ้อนของสินค้าและบริการบนระบบ DeFi ซึ่งเข้าใจและใช้งานได้ยากสำหรับผู้ใช้งานที่ไม่คุ้นชินกับเทคโนโลยีใหม่ๆ และด้วยความที่เป็นระบบที่ไม่มีอำนาจรวมศูนย์กลางทำให้อาจไม่มีคนให้ติดต่อหรือประสานงานเพื่อให้คำแนะนำเวลาที่ผู้ใช้งานมีปัญหา

นอกจากนี้ระบบ DeFi แม้ว่าจะเป็นระบบกระจายศูนย์กลางที่ดูปลอดภัยกว่า CeFi แต่หากขาดการออกแบบที่ไม่รัดกุมและมีการตรวจสอบที่ไม่เพียงพอ ก็ยังคงมีความเสี่ยงต่อการถูกเจาะล้วงเอาข้อมูลหรือโจรกรรมด้านไซเบอร์เช่นกัน ทำให้ DeFi ทยังเป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างใหม่และการกำกับดูแลหรือตรวจสอบเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับระบบที่มีการกระจายอำนาจอย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้มีความเสี่ยงที่บางแพลตฟอร์มอาจล้มเหลว และนำไปสู่ภาวะการขาดทุนอย่างหนักของนักลงทุนในเวลาต่อมา

ในทางกลับกันระบบ CeFi มักถูกมองว่ามีความปลอดภัยมากกว่า DeFi จากการพึ่งพาระบบสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นและการกำกับดูแลด้านกฎระเบียบอย่างเข้มงวด และปัจจุบันก็มีผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลายขึ้นกว่าแต่ก่อน เช่น หุ้นอนุพันธ์ พันธบัตรแปลงสภาพหุ้น เป็นต้น ทำให้ไม่แปลกที่ถึงแม้ว่านวัตกรรมใหม่ๆ จะเกิดขึ้นได้ช้า แต่ระบบ CeFi ยังได้รับความเชื่อมันอยู่ แม้ว่า CeFi จะมีข้อได้เปรียบจากกรอบการกำกับดูแลที่มั่นคงและโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์กว่า แต่ระบบ CeFi เองไม่ใช่ว่าจะไม่มีความเสี่ยงในตัวเอง ด้วยความพยายามในการหาผลตอบแทนรูปแบบใหม่ๆในปัจจุบัน ทำให้ระบบการเงินแบบดั้งเดิมนับวันมียิ่งมีความซับซ้อนและทำความเข้าใจได้ยากขึ้น นักลงทุนอาจต้องเสียค่าธรรมเนียมหลายชั้น และมีค่าใช้จ่ายแฝงในผลตอบแทนของตัวเองโดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้ด้วยลักษณะที่เป็นบริการแบบรวมศูนย์ของ CeFi ทำให้ทิศทางและการตัดสินใจเกิดขึ้นโดยบุคคลกลุ่มเล็กๆ เพียงไม่กี่กลุ่ม ซึ่งอาจนำไปสู่การขาดความโปร่งใสและมีโอกาสเกิดการทุจริตขึ้นได้เช่นกัน

ดังนั้นหากเราลองวิเคราะห์ดูแล้วอาจไม่มีระบบไหนที่สมบูรณ์แบบ แต่ทั้ง CeFi และ DeFi นั้นอาจสามารถเสริมกันได้ โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของกันและกัน หากอยู่ในจุดกึ่งกลางที่เหมาะสม ซึ่ง DeFi นั้นสามารถให้ระบบการเงินที่เข้าถึงได้และครอบคลุมมากขึ้น บนโครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคงและปลอดภัยของ CeFi ในขณะที่ CeFi เองก็สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมใหม่และวิธีการกระจายอำนาจของ DeFi ได้ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้มีหลายวิธีที่ CeFi และ DeFi สามารถบรรจบกัน ไม่ว่าจะเป็นการรวมเทคโนโลยี Blockchain เข้ากับระบบการเงินแบบเดิม การสร้างสถาบันการเงินแบบ Hybrid ที่มีโครงสร้างแบบรวมศูนย์บางส่วนและการกระจายอำนาจบางส่วน รวมไปถึงการพัฒนา Application ของ DeFi บนพื้นฐานโครงสร้างเทคโนโลยีได้รับการสนับสนุนจาก CeFi เป็นต้น

โดยสรุป หากเรามีระบบการเงินที่ผสมผสานทั้ง CeFi และ DeFi เข้าด้วยกัน อาจส่งผลเชิงบวกอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจ ทั้งจากด้านนวัตกรรมใหม่ๆและการแข่งขันในอุตสาหกรรมการเงิน เนื่องจากลักษณะการกระจายอำนาจของ DeFi ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างและแข่งขันได้มากขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ที่เป็นนวัตกรรมจะถูกสร้างขึ้นและสามารถออกสู่ตลาดคู่กับผลิตภัณฑ์การเงินแบบดั้งเดิมได้ เช่น นักลงทุนที่มองหาความมั่นคงอาจชอบ CeFi ที่จะมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่า ในขณะที่ผู้ที่ยอมรับความเสี่ยงได้มากกว่าและมองหาผลตอบแทนที่สูงกว่าอาจชื่นชอบ DeFi เป็นต้น

การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นนี้สามารถลดต้นทุนและปรับปรุงคุณภาพของบริการทางการเงินซึ่งให้ประโยชน์แก่ทั้งผู้บริโภคและธุรกิจ ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินที่หลากหลาย ทั้งสินเชื่อ การออม และการลงทุนรูปแบบใหม่ๆ ส่วนภาคธุรกิจเองก็มีแผนทางเลือกสำหรับการเติบโตที่หลากหลายมากขึ้น เช่น การใช้ DeFi หรือออก Investment Token เพื่อระดมทุนในต้นทุนที่ยืดหยุ่น การใช้ Utility Token เพื่อสร้างนวัตกรรมและช่องทางรายได้ใหม่ๆ ขึ้น และทั้งหมดจะเกิดขึ้นผ่านแพลตฟอร์มแบบกระจายศูนย์ที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain ซึ่งไม่มีศูนย์กลางให้เป็นเป้าหมายของการถูกโจมตีจนล่มทั้งระบบ เพิ่มความโปร่งใสทางการเงินที่สามารถป้องกันการปลอมแปลงเพื่อติดตามและบันทึกธุรกรรมทางการเงิน โดยจะลดความเสี่ยงของการฉ้อโกงและเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้

อย่างไรก็ตามการรวม CeFi และ DeFi ยังคงมีความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะด้านกฎระเบียบที่หน่วยงานกำกับดูแลจะต้องสร้างให้เกิดจุดสมดุลระหว่าง ความจำเป็นในการปกป้องผู้บริโภคและความมั่นคงของระบบ กับ ความต้องการในการส่งเสริมนวัตกรรมและการเติบโตเพื่อให้ทันต่อการแข่งขันในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นเพียงการเขียนในแนวทางการให้มุมมองและความรู้ความเข้าใจเท่านั้น ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อเชิญชวนให้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลแต่ประการใด

บทความโดย: ภาวิช ภาณุวงศ์วัฒนา ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายงานออกและเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัล บริษัท เอ็กซ์สปริง ดิจิทัล จำกัด




กำลังโหลดความคิดเห็น