xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต.เตรียมปรับเกณฑ์ข้อมูลการทำธุรกรรมซื้อขายหลักทรัพย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการและร่างแบบรายงานข้อมูลการทำธุรกรรมซื้อขายหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินระหว่างกองทุนรวมและกองทุนอื่นภายใต้การจัดการเดียวกัน (cross trade) เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถติดตามธุรกรรมในรูปแบบที่ชัดเจน เข้าใจง่าย และเพื่อลดภาระแก่ผู้ประกอบธุรกิจ ตามแนวทาง Regulatory Guillotine*


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีแนวคิดในการปรับปรุงหลักเกณฑ์การรายงานข้อมูลการทำธุรกรรมซื้อขายหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินระหว่างกองทุนรวมและกองทุนอื่นภายใต้การจัดการเดียวกัน (cross trade) เนื่องจากแม้ว่าการทำ cross trade จะช่วยให้บริษัทจัดการกองทุนสามารถบริหารหลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำได้ดียิ่งขึ้น ลดต้นทุนการทำธุรกรรม แต่อาจมีความเสี่ยงกรณีมีการถ่ายโอนหลักทรัพย์จากกองทุนที่มีปัญหาสภาพคล่องไปสู่กองทุนอื่นภายใต้การจัดการ หรือถ่ายโอนกำไรระหว่างกองทุนได้ ดังนั้น การรายงานข้อมูลการทำธุรกรรมดังกล่าวจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเป็นกลไกให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถติดตามการทำธุรกรรมให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของกองทุนได้

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ปัจจุบันกำหนดให้บริษัทจัดการ รายงานธุรกรรมทั้งที่เป็นรายการ cross trade และธุรกรรมซื้อขายหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินเดียวกันในฝั่งตรงข้ามกันของกองทุนภายใต้การจัดการผ่านผู้ค้าหลักทรัพย์หรือรายการ crossing ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายการซื้อขายปกติ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์จะทำธุรกรรมระหว่างกองทุน ก.ล.ต. จึงเห็นควรยกเลิกการรายงานรายการ crossing คงเหลือเฉพาะรายการ cross trade รวมทั้งปรับปรุงแบบและรายละเอียดการคำนวณขนาดรายการ เพื่อลดภาระการรายงานของบริษัทจัดการ สอดคล้องกับแนวปฏิบัติสากล สร้างความสะดวก และสะท้อนขนาดของรายการในขณะทำธุรกรรมมากขึ้น

ก.ล.ต. จึงนำเสนอหลักการและยกร่างแบบรายงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 1 ฉบับ และได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. ผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ลิงก์ https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=876 หรือทาง e-mail: hathaiphat@sec.or.th หรือ pheangna@sec.or.th จนถึงวันที่ 17 มีนาคม 2566

*Regulatory Guillotine คือ การทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชนโดยใช้วิธีที่รวดเร็ว โปร่งใส ใช้ต้นทุนต่ำ และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง


กำลังโหลดความคิดเห็น