เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุน รายนายวรพจน์ เตลัมพุสุทธิ์ เป็นเวลา 3 ปี 4 เดือน กรณีปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ซื่อสัตย์สุจริต โดยชักชวนผู้ลงทุนให้จองซื้อหลักทรัพย์ในบัญชีส่วนตัวของตนเอง และไม่ได้ซื้อหลักทรัพย์ให้จริง ทำให้นายวรพจน์ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ลงทุนโดยมิชอบ ขณะกระทำผิดสังกัดบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (บล. บัวหลวง)
ก.ล.ต. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ลงทุนที่ไม่ใช่ลูกค้าของ บล. บัวหลวง และได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมพบว่า ระหว่างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2564 นายวรพจน์ได้ชักชวนผู้ลงทุนให้จองซื้อหุ้นที่ออกใหม่และจะเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (หุ้น IPO) จำนวน 7 บริษัท ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนายวรพจน์
โดยนายวรพจน์อ้างว่าได้รับสิทธิจองหุ้น IPO จาก บล. บัวหลวง ซึ่งเป็นบริษัทต้นสังกัดที่นายวรพจน์ปฏิบัติหน้าที่อยู่ และให้ผู้ลงทุนโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารส่วนตัวของนายวรพจน์ แต่ปรากฏว่านายวรพจน์ไม่ได้จองหุ้น IPO ให้แก่ผู้ลงทุน เมื่อผู้ลงทุนทวงถาม นายวรพจน์ได้บ่ายเบี่ยงมาโดยตลอด ต่อมาภายหลังจากที่นายวรพจน์ถูกผู้ลงทุนร้องเรียนจึงได้นำเงินมาคืนให้แก่ผู้ลงทุนครบทั้งจำนวนแล้ว
ก.ล.ต. พิจารณาแล้วเห็นว่า พฤติกรรมของนายวรพจน์ข้างต้น ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ซื่อสัตย์สุจริต ทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ลงทุนโดยมิชอบ ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในตลาดทุนตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน* อยู่ในข่ายถูกเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนเป็นเวลา 3 ปี 4 เดือน แต่เนื่องจากการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 1 ของนายวรพจน์ได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ก.ล.ต. จึงกำหนดระยะเวลาในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนในคราวต่อไปของนายวรพจน์ เป็นเวลา 3 ปี 4 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566
ทั้งนี้ในการพิจารณากำหนดโทษ ก.ล.ต. ได้นำปัจจัยดังต่อไปนี้มาใช้ประกอบการพิจารณาของ ก.ล.ต. ด้วย ได้แก่ บทบาทความเกี่ยวข้องและพฤติกรรมของบุคคลที่ถูกพิจารณา การลงโทษที่บุคคลนั้นได้รับไปแล้ว ผลกระทบ ความเสียหายหรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น การแก้ไขหรือการดำเนินการอื่นที่เป็นประโยชน์หรือขัดขวางการปฏิบัติงานของ ก.ล.ต. และประวัติหรือพฤติกรรมในอดีตอื่นใดที่แสดงถึงความไม่เหมาะสมที่จะเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน
ก.ล.ต.ขอย้ำให้ผู้ลงทุนใช้ความระมัดระวัง อย่าหลงเชื่อการชักชวนในการซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของบุคคลอื่นที่มิใช่บัญชีตนเอง หรือการชักชวนให้โอนเงินซื้อขายหลักทรัพย์เข้าบัญชีส่วนตัวของผู้แนะนำการลงทุน เพราะอาจเป็นช่องทางให้มีการทุจริตและอาจสูญเสียเงินจำนวนมากได้