บมจ.เรดดี้แพลนเน็ต (READY) กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ที่หุ้นละ 7.30 บาท เตรียมเปิดให้นักลงทุนจองซื้อวันที่ 14-16 ก.พ.นี้ และคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) หมวดธุรกิจ (Sector) เทคโนโลยี (Technology) ภายในเดือนนี้ ชูจุดเด่นหุ้นเทคฯ สัญชาติไทย พัฒนา "Readyplanet All-in-One" แพลตฟอร์มด้านการขายและการตลาดดิจิทัลตอบโจทย์โลกธุรกิจในอนาคต
READY เสนอขายหุ้น IPO จำนวน 35,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (Par) 0.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็น 35% ประกอบด้วยหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดย READY จำนวน 15,000,000 หุ้น คิดเป็น 15% และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย Darlex Limited (DARLEX) จำนวน 20,000,000 หุ้น คิดเป็น 20% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเสนอขายภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO โดยแต่งตั้ง บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย พร้อมแต่งตั้ง บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) และ บล.ทรีนีตี้ เป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย
น.ส.พัชพร สรรคบุรานุรักษ์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ราคาเสนอขายหุ้น IPO ถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสม คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E) ที่ประมาณ 31.74 เท่า คำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลการดำเนินงานในช่วง 4 ไตรมาสล่าสุด (ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.64-30 ก.ย.65) โดยพิจารณานำ P/E ของคู่เทียบในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการประเมินราคาหุ้นที่เสนอขาย โดยมี P/E เฉลี่ยกลุ่ม TECH mai เฉลี่ยที่ 48.81 เท่า
READY เตรียมจัดโรดโชว์เพื่อนำเสนอข้อมูลสรุปต่อนักลงทุน ชูปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของธุรกิจ การระดมทุนครั้งนี้จะสนับสนุนให้บริษัทเดินหน้าพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านการขายและการตลาด ตอบโจทย์ธุรกิจไทยด้วยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้ได้รายได้ประจำใหม่ (NEW MRR) และรายได้เฉลี่ยต่อลูกค้าใหม่สูงขึ้น (NEW ARPA) ตอบโจทย์การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการเติบโตของธุรกิจไทยอย่างมืออาชีพ และสอดรับไปกับอุตสาหกรรมบริการดิจิทัล และซอฟต์แวร์ที่เติบโต เป็นเทรนด์ของโลกการขายและการทำการตลาดยุคใหม่ด้วยแพลตฟอร์มของคนไทย ที่พัฒนาเพื่อธุรกิจไทยอย่างแท้จริง
นายทรงยศ คันธมานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร READY กล่าวว่า บริษัทจะนำเงินที่ระดมทุนครั้งนี้ราว 100 ล้านบาท (หลังหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง) ไปใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ (Readyplanet All-in-One Platform) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและคุณสมบัติในการทำงาน (Functions & Features) ให้สามารถรองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่ราว 50 ล้านบาท รวมทั้งใช้ขยายทีมขายและทีมการตลาดในการหาลูกค้าใหม่ (New Customer Acquisition) เพื่อขยายฐานลูกค้า และนำเสนอบริการเพิ่มจากฐานลูกค้าปัจจุบัน (Up-selling & Cross-selling) ราว 20 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังเตรียมเงินไว้ใช้สำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจของบริษัทประมาณ 30 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับรองรับโอกาสทางธุรกิจในอนาคต และสนับสนุนการเติบโตแบบก้าวกระโดด
บริษัทวางเป้าหมายระยะยาว พัฒนาแพลตฟอร์ม Readyplanet All-in-One เพื่อมุ่งสู่การเป็นตัวเลือกอันดับ 1 ในใจของลูกค้า เป็นผู้นำการตลาดดิจิทัลแบบเน้นประสิทธิภาพ รวมทั้งขยายตลาดระบบบริหารความสัมพันธ์ลูกค้าสำหรับงานขาย เป็นผู้นำ Loyalty Platform และเป็นผู้นำด้านระบบการจองโรงแรมในประเทศไทย
ด้าน นายอมร พิริยะแพทย์สม Executive Vice President บริษัท เซจแคปปิตอล จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า READY มีจุดเด่นคืออยู่ในธุรกิจที่เป็นเทรนด์ของโลกยุคใหม่ มีความแข็งแกร่งด้วยทีมผู้บริหารที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ อีคอมเมิร์ซ และการตลาดดิจิทัล ผ่านการให้บริการมากว่า 22 ปี ได้รับการยอมรับจากพันธมิตรซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ระดับโลก
ขณะที่ทีมงานมีการพัฒนา Readyplanet All-in-One Platform เพื่อตอบโจทย์ด้านการขายและการตลาดดิจิทัลแบบรวมเป็นหนึ่งเดียว ทำให้บริษัทไม่มีความเสี่ยงในเรื่องการพึ่งพิงแพลตฟอร์มหรือซอฟต์แวร์ของผู้พัฒนาจากต่างประเทศ ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย คือ องค์กรขนาดกลางและขนาดใหญ่ ครอบคลุมหลากหลายกลุ่มธุรกิจทั้ง Non-Ecommerce, E-Commerce และโรงแรมรีสอร์ต
นอกจากนี้ เทรนด์การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุนการขายและการตลาดเป็นหัวใจในการเติบโต ทำให้ Readyplanet All-in-One Platform สามารตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า แม้ในปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์โควิดผ่อนคลายลง แต่ยังไม่จางหาย บริษัทฯ สามารถมีกำไรกลับมาเทิร์นอะราวนด์ และในยุคหลังโควิดมองว่า READY จะสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ขณะที่ภาพรวมการดำเนินงานของ READY มีสัดส่วนรายได้ 95% ของทั้งหมดเป็น Recurring Income ที่จะได้รับค่าบริการเป็นรายเดือนหรือรายปี และยังได้รับชำระค่าใช้บริการล่วงหน้า ทำให้บริษัทมีความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน เป็นธุรกิจที่มีสภาพคล่องสูง เนื่องจากต้นทุนส่วนใหญ่คือบุคลากร และมีค่าใช้จ่ายคงที่ ทำให้แผนการขยายตลาดของบริษัทฯ ครั้งนี้ยิ่งส่งผลดีต่อความสามารถในการทำกำไร เพราะยิ่งแพลตฟอร์มได้รับการตอบรับมากเท่าไหร่ ต้นทุนต่อหน่วยจะลดลง
ผลประกอบการ 3 ปีก่อนหน้า (ปี 62-64) บริษัทมีรายได้รวม 259.84 ล้านบาท 147.47 ล้านบาท 151.32 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 33.82 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 98.70 ล้านบาท และพลิกกลับมามีกำไรสุทธิ 13.82 ล้านบาท รายได้รวมงวด 9 เดือนแรกในปี 65 อยู่ที่ 119.06 ล้านบาท เป็นรายได้จากการให้บริการ 118.21 ล้านบาท เติบโต 12.03% กำไรสุทธิ 13.59 ล้านบาท เติบโต 189.15% จากงวดเดียวกันของปีก่อน