xs
xsm
sm
md
lg

ตงฉินเกินไปอยู่ยาก รุมสกัด"รื่นวดี" เลขาฯ ก.ล.ต.อีกวาระ จับตาคดีดังยืดเยื้อ-นับหนึ่งใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลายฝ่ายเชื่อโอกาส “รื่นวดี” นั่งเก้าอี้เลขาธิการ ก.ล.ต. อีกวาระ ดูมีความเป็นไปได้น้อย หลัง “ปะ - ฉะ - ดะ” หลายเรื่องกับผู้มอบหมายนโยบาย ทำที่ประชุมเสียงแตกยืดเวลาพิจารณาต่อวาระและการสรรหาคนใหม่จนไม่มีข้อสรุป ด้านฝ่ายสนับสนุนหวังความตรงไปตรงมา ช่วยสร้างบรรทัดฐานในตลาดทุน ขณะที่ฝ่ายเห็นต่างเชื่อทำให้เกิดปัญหาการเมืองภายใน ภาพรวมหวั่นหลายคดีดังยืดเยื้อเริ่มนับหนึ่งใหม่ ไม่มีคนรับไม้ต่อ หวังประชุมบอร์ด ก.พ.นี้ชี้ชัด

กลายเป็นประเด็นที่ต้องจับตามมองอย่างใกล้ชิดไปเสียแล้ว สำหรับสำหรับเก้าอี้เลขาธิการเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หลังจากเมื่อเร็ว ๆ นี้ สื่อหลายสำนักเริ่มประโคมข่าว “นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล” เลขาธิการ สำนักงานก.ล.ต.คนปัจจุบัน ที่จะหมดหน้าที่ลงในวันที่ 30 เมษายน 2566 อาจไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ (บอร์ด) ก.ล.ต.ในการต่ออายุการทำงานอีกวาระ โดยอาจมีการสรรหาเลขาธิการ ก.ล.ต.คนใหม่เข้ามาดำรงตำแหน่งแทน

สาเหตุที่เรื่องนี้ควรต้องจับตา นั่นเพราะหาก “รื่นวดี” ได้รับตำแหน่งต่ออีกวาระการดำเนินงานของหญิงแกร่งรายนี้อาจไปสะดุดขาของใครบางคนในแวดวงตลาดทุน เพราะปัจจุบันสิ่งที่ ก.ล.ต. กำลังดำเนินการเพื่อออกคำสั่งหรือบทลงโทษนั้น มีหลายเรื่องที่มีความสำคัญต่อตลาดทุนไทย 

ดังนั้นหากกรณีเหล่านั้นแทนที่จะผิดกลับเป็นถูก หรือแทนที่จะถูกกลับเป็นย่อมมีผลเป็นโดมิโน เอฟเฟกต์ต่อหลาย ๆส่วนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะในกรณีของสินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีหลายปัญหาคาราคาซังและนักลงทุนต้องการความชัดเจน รวมไปถึงหุ้นปั่นบางตัวที่ควรจะเร่งดำเนินการจัดการได้ไวกว่านี้ แต่นั่นแหละความที่เป็นคนตรง คนชัดเจน ก็อาจทำให้ “รื่นวดี” ไม่เป็นที่ชื่นชอบของเหล่าบุคคลในแวดวงนี้ด้วยเช่นกัน

 เป็นที่ทราบกันดีว่า เลขาธิการ ก.ล.ต. คนปัจจุบัน "รื่นวดี สุวรรณมงคล" แม้ช่วงแรกเริ่มทำงานจะเคยอยู่กับสำนักงาน ก.ล.ต.มาก่อนแล้ว แต่หลายๆงานที่โดดเด่นล้วนมาจากสายงานกระทรวงยุติธรรม ไล่ตั้งแต่การรับตำแหน่งอธิบดีกรมคุมประพฤติ,ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ,ช่วยปฏิบัติราชการทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดแชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม,รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และผู้อำนวยการสำนักกฏหมาย กระทรวงยุติธรรม, อธิบดี กรมบังคับคดี เป็นต้น และนั่นทำให้เริ่มมีข่าวลือหนาหูออกมาช่วงนี้ว่า  “รื่นวดี” อาจตัดสินใจไม่ขอรับการต่อวาระเลขาธิการ ก.ล.ต. และอาจย้ายกลับห้วยเดิมคือกระทรวงยุติธรรมแทน หลังจากย้ายข้ามห้วยมานั่นเป็นผู้ควบคุมธรรมาภิบาลตลาดทุนตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา 

เหตุการณ์ครั้งนั้นเริ่มจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)(25 ธ.ค.2561) มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง เสนอแต่งตั้ง "รื่นวดี”ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต.คนที่ 9 แทน “นาย รพี สุจริตกุล” เลขาธิการ ก.ล.ต.คนที่ 8 ที่กำลังหมดวาระ และหลายอย่างก็เป็นดังใจคิดเมื่อ “รื่นวดี” ย้ายกลับเข้ามาคุบการเงินของ ก.ล.ต.เอง

กลับมาที่สถานการณ์ในปัจจุบัน การพิจารณาวาระเลขาธิการ ก.ล.ต. ความจริงควรมีข้อสรุปตั้งแต่ปลายปีที่แล้วว่า จะต่ออายุเลขาธิการคนปัจจุบันอีกวาระหนึ่ง หรือ เปิดสรรหาใหม่ แต่ดูเหมือนในที่ประชุม บอร์ด ก.ล.ต.ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ โดยมีรายงานว่าในการประชุมบอร์ด ก.ล.ต.เดือนธันวาคม 2565 ที่ประชุมมีมติ 6 ต่อ 4 ไม่ต่ออายุเลขาธิการคนปัจจุบันอีกวาระหนึ่ง จากนั้นเรื่องดังกล่าวก็ยังไม่ข้อสรุปในการประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 อีกครั้ง เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญของผู้คุมกฎ (Regulator) ที่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนออกมาให้นักลงทุน และบุคคลในแวดวงนี้รับทราบ

“การพิจารณาต่ออายุการทำงานของเลขาธิการ ก.ล.ต.เป็นอำนาจของบอร์ด ซึ่งตนยังไม่ทราบเรื่องว่า มีมติเป็นอย่างไร แต่ไม่ว่าจะออกมาแบบไหน ตนก็จะยังเดินหน้าทำงานไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2566 ที่จะครบ 4 ปีของการทำงานในฐานะเลขาธิการ ก.ล.ต.”.. “รื่นวดี” แสดงความเห็นถึงเรื่องดังกล่าวต่อสื่อมวลชน

สิ่งที่น่าสงสัย นั่นคือ ความไม่ชัดเจนของบอร์ด ก.ล.ต. เพราะหากปล่อยให้เรื่องนี้ยืดเยื้อออกไป ยิ่งมีแต่ผลเสียกับองค์กร นั่นเพราะอาจทำให้ทิศทางการดำเนินงานของ ก.ล.ต.ไม่มีความชัดเจนเมื่อผู้ขับเคลื่อนนโยบายยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะเป็นคนเดิมหรือเป็นคนใหม่ ปัจจัยนี้ย่อมมีผลต่องานต่างๆที่ ก.ล.ต.กำลังเดินหน้ามีความล่าช้าออกไปด้วย เพราะคงไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดกล้ายื่นแผนงานหรือเนื้องานที่คาบเกี่ยวกับอำนาจของผู้มีสินตัดสินใจกำลังมีโอกาสถูกเปลี่ยนถ่าย เพราะมันไม่เป็นที่แน่ชัดว่าบทสรุปของงานที่ฟันธงออกมาจะถูกใจเลขาฯ ก.ล.ต.คนใหม่หรือไม่ เมื่อไม่ใช่คนเดิม ลักษณะดังกล่าวน่าจะเรียกได้ว่า “เกิดสูญญากาศ”

“ที่จริงบอร์ด ก.ล.ต.ควรมีข้อสรุปมาตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมปีที่แล้วว่า จะเอาอย่างไร เพราะหากไม่ต่ออายุแล้วต้องมีกระบวนการสรรหาเลขาธิการคนใหม่ และควรเปิดรับสมัครตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 เพราะมีขั้นตอนการดำเนินการอีกมากก่อนที่จะนำเสนอรายชื่อให้ ครม.อนุมัติ”แหล่งข่าวรายหนึ่งแสดงความเห็น

พร้อมกล่าวเสริมว่า ..... “ที่ผ่านมาเราได้เห็นสัญญาณแห่งความขัดแย้งระหว่างเลขาฯ ก.ล.ต.กับบอร์ดออกมาเป็นช่วงๆ บางครั้งถึงขั้นมีการขู่ฟ้องร้องบอร์ด บางคนก็โยงไปว่าเพราะท่านเลขาฯ คุ้นชินกับงานระบบราชการ ทำให้การทำงานเป็นไปในลักษณะผู้บังคับการ ซึ่งสวนทางกับการดำเนินงานที่ผ่านมาของสำนักงาน ก.ล.ต.ที่ไม่มีวัฒนธรรมแบบนั้นจึงทำให้การทำงานของท่านเลขาฯ ก.ล.ต.มีปัญหาบ้าง ตอนนี้หลาย ๆ งานที่ดำเนินการอยู่ถือว่าสะดุดเพราะกำลังรอความชัดเจนในเรื่องเลขาฯ ก.ล.ต.ให้แล้วเสร็จเสียก่อน ซึ่งก็หวังว่าการประชุมบอร์ดครั้งใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ควรจะมีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวออกมา ”

ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับท่านเลขาธิการ ก.ล.ต.ว่าผลงานในช่วงการดำรงตำแหน่งก็มีให้เห็นชัดเจน โดยเฉพาะด้านการบังคับใช้กฎหมาย แม้จะถูกตั้งคำถามในบางกรณีจากความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับการเมืองบ้าง แต่การทำงานของ ก.ล.ต.จะมีเป็นคณะทำงาน ดังนั้นจึงไม่สามารถชี้ผิดเป็นถูกได้ หากจะทำก็ได้เพียงการดึงเรื่องเท่านั้น

นั่นทำให้แม้บอร์ด ก.ล.ต.จะไม่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว แต่ภายในหลายเสียงก็อยากให้เลขาฯ ก.ล.ต.คนปัจจุบันทำงานต่อไปอีกวาระหนึ่ง แม้ว่าจะมีอายุการทำงานในวาระที่ 2 ได้เพียง 1-2 ปีก่อนจะเกษียณอายุก็ตาม เนื่องเห็นว่า มีการทำงานที่เข้มข้น ตรงไปตรงมา และสร้างบรรทัดฐานในตลาดทุนได้อย่างดี อีกทั้ง ณ เวลานี้ ก.ล.ต.ควรมีผู้กุมหางเสือที่มีความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ในเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวให้เดินต่ออย่างไม่มีสะดุด รวมไปถึงการขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนองค์กร ก.ล.ต.ให้มีอำนาจในการสอบสวนคดีเช่นเดียวกับอัยการ

ดังนั้น สถานการณ์ดังกล่าวจึงนำไปสู่มุมมองที่แตกต่างกันของคนใน ก.ล.ต. เพราะหลายฝ่ายมองว่าหากเลขาฯ ก.ล.ต.เป็นรายเดิมจะยิ่งทำให้คดีความที่สำคัญมีความรวดเร็ว หรือมีความชัดเจนมากขึ้น อาทิกรณีของสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีปัญหาใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงคดีที่เกี่ยวพันกับคริปโตเคอเรนซี่ใหญ่ เช่น บิทคับ และ ซิปแม็กซ์ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนจำนวนมาก หรือ คดีใหญ่ที่เกี่ยวพันกับกรณีหุ้น บริษัท มอร์รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE และโบรกเกอร์ รวมถึงมีความเด็ดขาดในการสั่งปิดกิจการบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่งแม้จะเกี่ยวพันกับบอร์ด ก.ล.ต.บางคนก็ตาม ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุนให้ทำหน้าที่ต่อ

อย่างไรก็ดี พบว่ายังมีกรรมการหลายคนที่ไม่เห็นด้วยให้ต่ออายุและควรเปิดให้สรรหาใหม่ แต่หากเลขาธิการ ก.ล.ต.คนปัจจุบันจะสมัครเพื่อทำงานต่อไป ก็สามารถทำได้ตามกฎหมาย เพราะเห็นว่า เลขาธิการ ก.ล.ต.เป็นคนแข็ง ยอมหักไม่ยอมงอ จนเกิดปัญหาการเมืองภายในองค์กร เกิดความขัดแย้ง มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เนื่องจากเกี่ยวพันกับจุดยืนการมีส่วนได้ส่วนเสีย และการทำหน้าที่ของบอร์ด ก.ล.ต.

เปิดปม “รื่นวดี” ไล่เชือดจนสะดุด

ทั้งนี้ ได้มีการตั้งข้อสังเกตจากคนในวงการตลาดทุนว่า หากเรื่องดังกล่าวเป็นความจริง สาเหตุอาจจะเกิดจากในช่วงตลอดปีที่ผ่านมาได้เกิดปัญหาในตลาดทุนหลากหลายกรณี โดยเฉพาะประเด็นใหญ่ 3 เหตุการณ์ที่อาจส่งผลให้การพิจารณาต่อวาระเก้าอี้เลขาธิการ ก.ล.ต.ยังไม่ได้ข้อสรุปในปัจจุบัน เนื่องจากการดำเนินงานของ ก.ล.ต.อาจทำให้ผู้มีส่วนได้เสียได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นบอร์ด ก.ล.ต.ในปัจจุบัน ได้แก่

1. นายพิชิต อัคราทิตย์ , 2. นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ , 3. นางโสรดา เลิศอาภาจิตร์,4. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ , 5. นายสุภัค ศิวะรักษ์ ,6. นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย ,7. นายวิพุธ อ่องสกุล ,8. นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค 9. นายพรชัย ชุนหจินดา และ10. นางสาวจารุวรรณ เฮงตระกูล

รุก “บิทคับ” แต่กลับเจอตอ

โดยเหตุการณ์แรกถูกยกให้กับกรณี “กลุ่มบิทคับ” ที่มีปัญหาตั้งแต่ระบบปฏิบัติการ การให้บริการลูกค้า การสร้างปริมาณเทียมปั่นราคาเหรียญ ที่ ก.ล.ต.ได้เข้าตรวจสอบและมีคำสั่งเปรียบเทียบปรับนับ 100 ล้านบาท รวมถึงประเด็นที่ยังค้างคาอยู่คือการตรวจสอบและสั่งให้แก้คุณสมบัติเหรียญ KUB จนขาดคุณสมบัติที่จะนำเข้ามาซื้อขายในกระดานสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งหลายฝ่ายต่างสงสัยว่าทำไมการตรวจสอบและการพิจารณาของ ก.ล.ต.ในเรื่องดังกล่าวมีความล่าช้า ไม่เพียงเท่านี้ Regulator ยังยืดเวลาแก้ไขและชี้แจงให้แก่ “กลุ่มบิทคับ” มาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันเรื่องดังกล่าวก็ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดให้กับนักลงทุน

ไม่เพียงเท่านี้ หลายฝ่ายเชื่อว่านี่อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของปัญหาภายใน ก.ล.ต. เนื่องจากมีอดีตผู้บริหารของ ก.ล.ต. ปัจจุบันเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารงานของบิทคับ จึงทำให้เจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. บางส่วนซึ่งอดีตลูกน้องในสังกัดเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับอดีตเจ้านาย หรือยอมปล่อยผ่านในวีรกรรมต่างๆ ที่ “บิทคับ” ก่อขึ้นมาด้วยความเกรงใจ

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า คณะกรรมการบอร์ด ก.ล.ต.บางคนก็มีความสนิทชิดเชื้อกับกลุ่มผู้บริหารของเจ้าตลาดสินทรัพย์ดิจจิทัลรายใหญ่ของประเทศ จนทำให้เกิดการเอื้อเฟื้อ หรือเกื้อกูลงานของ “บิทคับ” ให้ออกมาในทางที่ดีมากกว่าลบ และหากปล่อยไว้ในเลขาฯก.ล.ต.เดินหน้าเรื่องดังกล่าวต่อไปอาจทำให้ผลประโยชน์ที่ได้รับอาจไม่เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น

“ซิปเม็กซ์”เงินหายและยังไม่จบ

ประเด็นถัดมาคือ กรณีของบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ที่ประกาศระงับประกาศระงับธุรกรรมการถอนคริปโตเคอร์เรนซีและเงินบาทชั่วคราว หลังจากนำสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไปลงทุนต่อ จนก่อให้เกิดความเสียหายประมาณ 2 พันล้านบาท จนขาดสภาพคล่องและนำเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อศาลสิงคโปร์ในที่สุด

โดยในกรณีของ ซิปเม็กซ์ นั้น ก.ล.ต. ได้เข้าตรวจสอบและใช้มาตรการทางแพ่งปรับเป็นเงินหลายสิบล้านบาท พร้อมทั้งประสานงานกับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อดำเนินคดีอาญา นอกเหนือจากความผิดตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ แต่จนแล้วจนรอด เรื่องซิปเม็กซ์ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดออกมาว่าจะดำเนินการอย่างไร?

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า กลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลัง “ซิปเม็กซ์” เป็นถึงอดีตข้าราชการระดับอธิบดีของกระทรวงการคลัง ดังนั้นการที่ “รื่นวดี” เข้ามาดำเนินการในส่วนนี้ก็อาจทำให้ไม่ถูกใจอดีตข้าราชการระดับสูงคนดังกล่าว จนส่งผลให้เรื่องดังกล่าวมีการตีรวน ด้วยการยืดเวลาออกไป

หุ้น MORE พาเหนื่อยใจ

นอกจากนี้ ยังรวมถึงประเด็นการซื้อขายหุ้นบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE ที่ผิดปกติส่อเค้าไปในทางทุจริต หรือปฏิบัติการณ์ "ปล้นโบรกเกอร์" ที่สร้างความฮือฮา และก่อให้เกิดความเสียหายหลายพันล้านบาท ซึ่งก.ล.ต.ได้ประสานงานตำรวจดำเนินคดีอาญาผู้ร่วมกระทำผิด จนทำให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้สั่งอายัดทรัพย์ผู้เกี่ยวข้องประมาณ 24 ราย บัญชีทรัพย์สินจำนวน 34 รายการ มูลค่ากว่า ประมาณ 5.3 พันล้านบาท

โดย ก.ล.ต. ได้เข้าตรวจสอบบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ที่เข้าข่ายกระทำผิดหลายราย พบว่า บล.เอเชีย เวลท์ มีระบบการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไม่รัดกุมเพียงพอ นำเงินไปให้บริษัทแม่กู้ยืม ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ลูกค้า ทำผิดพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 จึงได้ส่งเรื่องให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ดำเนินคดีอาญา รวมถึงส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ

ทั้งนี้ ประเด็นปัญหาดังกล่าว ก.ล.ต. ได้พยายามเข้าไปตรวจสอบและจัดการแก้ไขปัญหา เพราะแต่ละกรณีได้สร้างความเสียหายแก่นักลงทุนจำนวนมาก มูลค่าหลายพันล้านบาท และอาจลุกลามเป็นปัญหาใหญ่กระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดทุนและตลาดคริปโตเคอร์เรนซีได้ แต่การเข้าไปจัดการปัญหาก็ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจ จนอาจกลายเป็นชนวนเหตุให้เกิดความขัดแยังระหว่างบอร์ด ก.ล.ต. และตัวเลขา ก.ล.ต. ทำให้คดีนี้เป็นอีกหนึ่งคดีที่ต้องต้องล่าช้าออกไป

นั่นเพราะมีรายงานว่า ประธาน ก.ล.ต. "พิชิต อัคราทิตย์" อดีตเป็นถึง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เอเชียเวลท์ จำกัด ดังนั้น การที่ ก.ล.ต.ได้ตรวจสอบพบรายการการเงินของบริษัทหลักทรัพย์ในห้วงปี 2556-2557 นั้นมีร่องรอยหลักฐานแล้วพบว่ามีรายการเกี่ยวโยงกันบางประการจากปล่อยกู้ราว 450 ล้านบาท ให้กับ บริษัท เอเชียเวลท์ โฮลดิ้งส์ ที่เป็นบริษัทแม่ของ เอเชียเวลท์นั้น และคาดว่ารายการดังกล่าวจะเป็นหลักฐานสำคัญที่ ก.ล.ต.สามารถออกมาดำเนินการเอาผิดได้ ซึ่ง บล.เอเชียเวลท์ มีโอกาสถึงถูกปรับ ถูกสั่งปิด และถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ อาจเป็นที่ไม่พึงพอใจของผู้ที่มอบนโยบาย

และจากประเด็นข้อขัดแย้งที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าโอกาสที่ “รื่นวดี”จะกลับมาทำหน้าที่เลขาธิการก.ล.ต.อีกวาระมีความเป็นไปได้น้อยมาก แม้ ล่าสุดมีรายงานว่าคณะกรรมการบอร์ดก.ล.ต.ไม่ได้ปิดทางให้ “รื่นวดี” ลงสมัครเข้ารับหน้าที่ในตำแหน่งนี้ได้อีกครั้ง แต่หลายฝ่ายก็เชื่อว่ามีท้ายที่สุดหลังเมษายน 2566 น่าจะมีเลขาธิการ ก.ล.ต.คนใหม่เข้ามาดำเนินงานมากกว่า นั่นเพราะเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างผู้กำหนดนโยบายกับผู้บริหารองค์กร และเพื่อให้งานเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม หากทุกอย่างเป็นจริงตามนั้น ถือว่าเป็นที่น่าเสียดายสำหรับแวดวงตลาดทุน ที่คนดี หรือคนตรง ไม่สามารถเข้ามาแก้ไขข้อผิดพลาดและนำพาองค์กรให้เติบโตอย่างโปร่งใสได้ อีกทั้งด้วยปัจจุบันเทคโนโลยีใหม่ๆกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่ง หากเกิดการเปลี่ยนมือหรือเปลี่ยนอำนาจในการบริหาร จากเดิมที่ ก.ล.ต.กำลังจะแก้ไขและพยายามควบคุมหลายๆอย่างให้เข้ารูปเข้ารอย หรืออยู่ในกรอบที่กำหนด ก็อาจเป็นที่น่าเสียดายที่หลายๆอย่างอาจจำเป็นต้องกลับไปเริ่มนับศูนย์ใหม่ เพราะเลขาธิการ ก.ล.ต.ที่มาใหม่อาจต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะสานงานต่อ หรือกำหนดทิศทางใหม่ให้ไปในทิศทางที่ดีกว่าปัจจุบัน

อ่านข่าวประกอบที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม 

สะพัด!บอร์ดก.ล.ต.ไม่ต่ออายุ "รื่นวดี" กังขาปมขัดแย้งสะสางคดีใหญ่หรือไม่?


กำลังโหลดความคิดเห็น