xs
xsm
sm
md
lg

ราคาทองคำทะยานต่อเนื่อง รับแรงซื้อจีน-เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มชะลอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กูรูมองราคาทองคำพุ่งอีกรอบ เพราะแรงซื้อจากจีนฟื้นตัวรับการเปิดประเทศ หนุนเงินหยวนที่แข็งค่ากดดันดอลลาร์ บวกกับการคาดการณ์ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะชะลอขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ อีกทั้งตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐเริ่มชะลอตัวเป็นแรงหนุนต่อทองคำในสินทรัพย์ปลอดภัย และธนาคารกลางทั่วโลกซื้อสะสม ทำให้ทิศทางการเคลื่อนไหวของทองคำช่วงต้นปีจะยังคงเป็นขาขึ้นเกือบตลอดทั้งไตรมาสแรก แนะนำให้ทยอยเข้าซื้อสะสม

ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นประมาณ 15% ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนปี 65 ล่าสุดเมื่อ 24 ม.ค.2566 ขึ้่นไปแตะ 1,924 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เนื่องจากการซื้อจำนวนมากโดยธนาคารกลางทั่วโลก การเฉลิมฉลองวันตรุษจีนในเดือนมกราคม และการอ่อนค่าลงเล็กน้อยของดอลลาร์สหรัฐ นักวิเคราะห์กล่าวกันว่าราคาทองคำจะขึ้นอยู่กับว่าค่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นในปีต่อๆ ไปอย่างไร เช่นเดียวกับวิธีการสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กำลังดำเนินอยู่และความขัดแย้งมากมายในตะวันออกกลางที่แผ่ขยายออกไป อีกทั้งกับปัจจัยอื่นๆ รอบด้าน ทำให้นักวิเคราะห์และเทรดเดอร์ไม่คาดว่าราคาจะลดลงครั้งใหญ่ในปี 2566 ขณะคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นและการลดลงของอัตราดอกเบี้ยในช่วงเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกอาจทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงและเพิ่มราคาทองคำ ซึ่งปลายปี 2565 ที่ผ่านมา นักลงทุนในกองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนทองคำ (ETFs) ถือครองโลหะมีค่ามากถึง 3,462 ตัน และมักจะวิตกเมื่อราคาแสดงสัญญาณแนวโน้มขาลง เมื่อราคาทองคำค่อนข้างตกต่ำต่างทิ้งทองคำออกถึง 227 ตัน

เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มชะลอ แรงหนุนทองพุ่ง 

บริษัท เอ็มทีเอส แคปปิตอล จำกัด ประเมินราคาทองคําปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 6 เหรียญ ท่ามกลางความผันผวนเล็กน้อย โดยในบางช่วงราคาทองคําปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 1,917 เหรียญ ก่อนจะดีดกลับขึ้นมาปิดที่ 1,937 เหรียญ ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงทําภาคการส่งออกอ่อนแอและติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 19 เดือน ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าอย่างมาก

ขณะที่ปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวดีขึ้น โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวรวมถึงการส่งออกประเมินว่าจะขยายตัวในกรอบ 1.0% ถึง 2.0% และคาดว่า GDP ปีนี้ของไทยจะเติบโตที่ 3-3.5% และตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้แก่ Flash Services PMI และ Flash Manufacturing PMI ออกมาดีขึ้นกว่าที่คาด ซึ่งบ่งบอกว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาจเป็นลักษณะภาวะถดถอยอย่างช้าๆ ไม่รุนแรง และอาจจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี เนื่องจากการจ้างงานยังคงแข็งแกร่ง และคาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทในทิศทางที่มีความผันผวน ดังนั้นจึงต้องระมัดระวัง โดยจะเห็นค่าเงินบาทเริ่มกลับมาทรงตัว 32.80 บาทต่อดอลลาร์ แม้ว่าภาพรวมปีนี้ค่าเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ทําให้แบงก์ชาติเริ่มเข้ามาดูแลและควบคุมภาคเอกชนมากขี้น สําหรับกองทุนทองคํา SPDR เมื่อ 24 มกราคมนี้ซื้อเข้า 0.29 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 917.34 ตัน ด้านดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าหลุดระดับ 102 จุด ลงมา โดยเมื่อวานนี้ดัชนีดอลลาร์เปิดที่ 101.98 จุด และปิดที่ระดับ 101.92 จุด ดังนั้น จึงคงแนะนําให้ลงทุนในทิศทางขาขึ้น ขณะที่ทองคําไทยคาดว่าจะปรับตัวขึ้นได้ช้ากว่าทองคําตลาดโลก เนื่องจากค่าเงินบาทยังคงแข็งค่า แต่คาดว่าจะเห็นราคาทองคําไทยทะลุ 30,000 บาทต่อบาททองคําได้

อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงรอความชัดเจนของทิศทางการเงินจากการประชุมกําหนดนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 31 ม.ค.- 1 ก.พ. โดยตลาดส่วนใหญ่คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% สําหรับระยะนี้มีตัวเลขเศรษฐกิจที่สําคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ Flash Services PMI คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากเดิมเล็กน้อย ซึ่ง บจ.เอ็มทีเอส แคปปิตอล วิเคราะห์ราคาทองคําทางเทคนิค เห็นว่าราคาทองคําพยายามทรงตัวอยู่เหนือระดับ 1,920 ดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นจุดสําคัญในการเคลื่อนตัวของราคาทองคําต่อไป โดยคาดว่าราคาทองคํายังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้ต่อเนื่อง 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย  มองว่าตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นกลับสู่ระดับ 102 จุด อีกครั้ง หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงสู่ระดับ 130 เยนต่อดอลลาร์ ส่วนค่าเงินยูโร (EUR) แม้ว่าจะปรับตัวแข็งค่าขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือนที่ 1.091 ดอลลาร์ต่อยูโร ตามแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ ECB แต่ทว่าผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็เริ่มทยอยขายทำกำไรสถานะ Long EUR ทำให้เงินยูโรย่อตัวลงมาสู่ระดับ 1.087 ดอลลาร์ต่อยูโร

อย่างไรก็ดี แม้ว่า เงินดอลลาร์ รวมถึงบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวสูงขึ้น ทว่า ความเชื่อมั่นของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่าเฟดจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) รีบาวด์ขึ้นจากโซนแนวรับ สู่ระดับ 1,930 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง ซึ่งมองว่าการปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้านดังกล่าวของราคาทองคำ อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทไม่ได้อ่อนค่าไปมากตามการรีบาวด์ของเงินดอลลาร์ ขณะที่แนวโน้มค่าเงินบาท มองว่าการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำช่วยลดแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ทำให้เงินบาทไม่ได้อ่อนค่าไปมากนัก

นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS เผยว่าทาง GBS ประเมินทิศทางราคาทองคำสัปดาห์นี้ จับตาการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ ตัวเลขดัชนีภาคบริการและภาคการผลิตสหรัฐ GDP ไตรมาส 4 ปี 2565 และดัชนีเงินเฟ้อส่วนบุคคล Core PCE ของสหรัฐ ซึ่งผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งผลให้ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มชะลอตัวเป็นแรงหนุนต่อราคาทองคำ

"ฝ่ายวิจัยคาดทองคำยังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น อีกทั้งตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐเริ่มชะลอตัวเป็นแรงหนุนต่อทองคำในสินทรัพย์ปลอดภัย โดยระหว่างสัปดาห์หากราคาทองคำไม่หลุดแนวรับบริเวณ 1,875 ดอลลาร์ต่อต่อทรอยออนซ์ ให้ทยอยเข้าซื้อสะสม" นายณัฐวุฒิกล่าว


YLG ชี้จีนเปิดประเทศหนุนดีมานด์ทองกายภาพ

นางสาวฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG) ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตลาดล่วงหน้า (TFEX) เปิดเผยว่า ตั้งต้นปีราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นมาแล้วประมาณ 6% จากที่เปิดตลาด 1,823 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ โดยปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากแรงซื้อจากจีนที่ฟื้นตัวรับการเปิดประเทศหนุนเงินหยวนที่แข็งค่ากดดันดอลลาร์ บวกกับการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะชะลอขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ จึงมองว่าทิศทางการเคลื่อนไหวของทองคำในช่วงต้นปีจะยังคงเป็นขาขึ้นเกือบตลอดทั้งไตรมาสแรก นอกจากนี้เทศกาลตรุษจีนในช่วงที่ผ่านก็ส่งผลให้ตลาดทองคำคึกคักเช่นกัน ดังนั้นในระยะสั้นวายแอลจีจึงมองเป้าหมายราคาทองคำมีโอกาสขึ้นไปที่ 1,960 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ หรือ ประมาณ 30,500 บาทต่อบาททองคำ

สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนทองคำในช่วงนี้หากต้องการเข้าซื้อสามารถทำได้แบบเก็งกำไรระยะสั้น แถวๆ1,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ เพราะมีโอกาสที่ราคาจะขยับขึ้นได้ตามเป้าที่มองไว้ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ แต่ถ้าต้องการซื้อสะสม แนะนำให้รอราคาปรับตัวลง แถวๆ 1,650 - 1,700 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ คิดเป็นเงินไทยกรอบแนวรับ 25,500-26,400 บาทต่อบาททองคำ ซึ่งแนวรับนี้เป็นกรอบของทั้งปี เพราะมองว่าไตรมาสแรกทองคำจะทะยานขึ้นไป แต่หลังจากนั้นก็มีโอกาสเกิดแรงขายทำกำไร รวมถึงครึ่งปีแรกแม้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายน้อยลง แต่ก็อาจจะสร้างแรงกดดันเป็นระยะๆ ราคาทองคำจึงมีโอกาสปรับฐานได้ ดังนั้นมองว่าราคาทองคำจะเป็นขาขึ้นในไตรมาสแรกและจะเป็นขาขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายปี ที่อัตราดอกเบี้ยไม่ใช่ขาขึ้นอีกต่อไปเพราะเริ่มได้รับแรงกดดันจากข่าวภาวะเศรษฐกิจถดถอย หากเป็นเช่นนั้นก็จะส่งผลบวกต่อทองคำ

ส่วนราคาทองคำในประเทศนั้นมองว่าปีนี้จะไม่ปรับขึ้นอย่างหวือหวาเพราะค่าเงินบาทเริ่มกลับมาแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดีนักลงทุนสามารถปิดความเสี่ยงเรื่องค่าเงินได้ด้วยการลงทุนทองคำผ่าน ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ทั้งการลงทุนโกลด์ออนไลน์ฟิวเจอร์ส (Gold Online Futures) ที่เป็นการซื้อขายทองคำล่วงหน้าในรูปแบบดอลลาร์สหรัฐ ทำให้นักลงทุนไม่ต้องมีความกังวลด้านความเสี่ยงจากการผันผวนของค่าเงินบาท


ธนาคารกลางซื้อสำรองทองคำ

ตัวเลขจากสภาทองคำโลกช่วงครึ่งแรกของปี 65 ตลาดทองคำทั่วโลกได้รับแรงหนุนจากปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาค และความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งนี้ ยังต้องปะทะกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่า และแม้ว่าจะเห็นราคาลดลงจากระดับที่สูงแล้วก็ตาม แต่ทองคำก็ยังนับเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพที่สุดของปีที่ผ่านมา ซึ่งธนาคารกลางต่าง ๆ นับเป็นผู้ซื้อสุทธิในไตรมาส 2 ปี 65 โดยเพิ่มทุนสำรองทางการทั่วโลกที่ 180 ตัน การซื้อสุทธิสูงถึง 270 ตันในครึ่งปีแรก ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจของธนาคารกลางเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ 25% ของผู้ทำแบบสอบถามชี้ถึงแผนที่จะเพิ่มการสำรองทองคำในอีก 12 เดือนข้างหน้า

ทั้งนี้ ตัวเลขจาก “สภาทองคำโลก (World Gold Council)” เมื่อปลายปี 65 เผยผู้บริโภคชาวไทยมีความเข้าใจในการลงทุน โดยมีการนำรายได้ 35 % มาลงทุุนในทอง และผู้ลงทุนมีผลิตภัณฑ์การลงทุุนเฉลี่่ย 3.5 รายการ ทั้งนี้ นักลงทุนมองว่าตนเองเป็นนักลงทุนที่มีความมั่นใจ และเต็มใจที่จะลองลงทุนในหลายรูปแบบเพื่อแลกกับการเติบโตทางการเงินแบบทวีคูณ ซึ่งพบว่า 87% ของนักลงทุนไทยเห็นด้วยว่า การมีพอร์ตลงทุนที่หลากหลายเพื่อช่วยปกป้องความมั่งคั่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เนื่องจากนักลงทุนชาวไทยมีความกังวลถึงภาวะตลาดการเงินล่ม พวกเขาจึงต้องการทำความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ที่เลือกลงทุนและมีมุมมองในการลงทุนระยะยาว

จากผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่าทองคำเป็นการลงทุนที่นิยมมากที่สุดเป็นอันดับสองในพอร์ตการลงทุนของประเทศไทย และกว่าครึ่งหนึ่งของนักลงทุนรายย่อยในประเทศได้ถือครองทองคำในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง โดยการลดความเสี่ยงเป็นปัจจัยหลัก หรือ 57% ที่กระตุ้นให้นักลงทุนตัดสินใจลงทุนในทองคำ แนวโน้มเช่นนี้ตอกย้ำให้เห็นว่า นักลงทุนรายย่อยตระหนักถึงบทบาทของทองคำในฐานะผลิตภัณฑ์ลงทุนที่มีความปลอดภัย ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับบทบาทของทองคำในพอร์ตการลงทุน ที่ถือเป็นเครื่องมือช่วยปกป้องความมั่งคั่ง

ขณะที่นักลงทุนกว่า 40% ได้ซื้อทองคำเพื่อการลงทุน ซึ่งทองคำแท่งถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 30% ของนักลงทุน ตามด้วยเหรียญทองคำที่ 12% กองทุนทอง (ETF) ที่ 10% ทองคำเก็บในคลังนิรภัยที่ 9% และเครื่องประดับทองคำที่ 9%


กำลังโหลดความคิดเห็น